สุจิตต์ วงษ์เทศ : ทอดน่องท่องเที่ยวสนามรบ รอบอยุธยา

ทุ่งภูเขาทอง ภาพถ่ายจากชั้นบนฐานเจดีย์ภูเขาทองด้านทิศเหนือ (โดย นราธิป ทองถนอม)

อยุธยาโดยรอบล้วนเคยเป็นสนามรบ เพราะถูกกองทัพในพม่ายกมาล้อมกรุง 2 ครั้ง

ครั้งแรกจากรัฐหงสาวดี เมื่อ พ.ศ. 2112 ครั้งหลังจากรัฐอังวะ เมื่อ พ.ศ. 2310

ในเกาะเมืองอยุธยาทั้งหมดเป็นสนามรบ เพราะทัพอังวะระเบิดกำแพงเมืองมุมด้านทิศตะวันออก ตรงที่เรียกหัวรอ แล้วยกเข้าพระนคร

นอกเกาะเมืองอยุธยาโดยรอบเป็นสนามรบ เช่น ทุ่งประเชด, ทุ่งภูเขาทอง, ทุ่งลุมพลี, ทุ่งแก้ว, ทุ่งขวัญ, ทุ่งหันตรา ฯลฯ แล้วยังต่อเนื่องถึงท้องที่และจังหวัดใกล้เคียง เช่น อ่างทอง, สุพรรณบุรี ฯลฯ

Advertisement

 

ทัวร์สนามรบ

สนามรบรอบอยุธยา เป็นแหล่งทอดน่องท่องเที่ยวแบ่งปันความรู้ประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองเกี่ยวกับสงคราม

ทัวร์สนามรบถ้าทำได้ ชุมชนท้องถิ่นย่อมรับประโยชน์โดยตรง เช่น บ้านโพธิ์สามต้น (อยู่ต่อเนื่องกับพะเนียดช้าง) เป็นค่ายใหญ่ของรัฐอังวะ ให้สุกี้พระนายกองควบคุม ทุกวันนี้มีร่องรอยหลงเหลือทั่วไป และมีถนนหนทางสะดวกมาก

สงคราม

สงครามเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม  ที่ควรเรียนรู้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ไม่เป็นเรื่องน่าเกลียดชิงชัง ไม่เป็นประวัติศาสตร์บาดหมางสร้างบาดแผล ถ้าศึกษาตามพยานหลักฐานวิชาการ ไม่ใส่สีตีไข่ให้ร้ายเพื่อนบ้าน หรือยกตนข่มท่าน

เพราะสงครามไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ จากสุญญากาศ หรือจากขอช้างเผือกแล้วไม่ได้ตามต้องการ ซึ่งไม่มีจริง แต่เป็นนิทานสร้างความชอบธรรมทางการเมืองในรัฐจารีต

สงครามทุกยุคสมัยมีเหตุจากความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ หรือทางเศรษฐกิจการเมืองในยุคนั้นเป็นสำคัญที่สุด และอาจมีเรื่องอื่นๆ รองไปผนวกด้วยก็ได้

ปัญหาของประวัติศาสตร์ไทยอยู่ที่ให้ความสำคัญเหตุการณ์สงคราม และวีรบุรุษสงครามที่เพิ่งสร้างอย่างนิยาย โดยมองข้ามต้นเหตุทางเศรษฐกิจการเมืองที่มีพยานหลักฐาน และร่องรอยทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

ขณะเดียวกันก็กระพือประวัติศาสตร์สงครามเพิ่งสร้างเพื่อประโยชน์ทางการเมืองแบบคลั่งชาติ กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดหมางสร้างบาดแผลกับเพื่อนบ้านโดยรอบ อย่างนี้ควรแก้ไข หรือยกเลิก

สงครามในประวัติศาสตร์มีทั้งเราถูกเขารุกรานทำลาย กับเราไปรุกรานทำลายเขา ดังนั้นความทรงจำของผู้รุกรานกับผู้ถูกรุกรานย่อมต่างกัน

ยศยิ่งฟ้า

 

อยุธยาขายได้ แต่ขายอะไร? แบบไหน?

อยุธยาขายได้ในตลาดท่องเที่ยว ตราบเท่าที่โลกนี้ยังมีวัฒนธรรมท่องเที่ยว ตามสภาพผันผวนปรวนแปรทางการเมืองและเศรษฐกิจทั้งของไทยและของโลก

ยิ่งเสมือนชานเมืองกรุงเทพฯ (โดยระยะทาง) ยิ่งขายได้ขายดีตลอดกาล

ทรัพยากรท่องเที่ยวหลากหลายมีในอยุธยา แต่เฉพาะตอนนี้จำแนกกว้างๆ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  1. เมืองประวัติศาสตร์ มีทั้งประวัติศาสตร์แห่งชาติ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทับซ้อนอยู่ด้วยกันทั้งในเกาะเมือง และบริเวณรอบนอกออกไปไกลๆ เช่น สนามรบ
  2. วิถีท้องถิ่น มีมากทั่วไปทุกตำบล, อำเภอทั้งจังหวัด ได้แก่ หมู่บ้าน, วัด และแหล่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน, ทุ่งนา, แม่น้ำลำคลองหนองบึง ฯลฯ

ปัญหาอยู่ที่จะบริหารจัดการอย่างไรกับทรัพยากรท่องเที่ยวที่มีทั้งหมดในอยุธยา แล้วจะขายอะไร? แบบไหน? ฯลฯ ทัวร์สนามรบน่าจะทำได้สนุกตื่นเต้น

ที่ผ่านมานานมากเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอยุธยา มีปัญหาใหญ่ๆ 2 กรณี ได้แก่

  1. ความขัดแย้งทางการบริหารจัดการ ระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง, ส่วนภูมิภาค, ส่วนท้องถิ่น
  2. ข้อจำกัดทางวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีมานุษยวิทยา ให้ความสำคัญในวงแคบๆ เฉพาะเหตุการณ์สงครามของวีรบุรุษ กับศิลปะสถาปัตยกรรมของวัดกับวัง โดยลดทอนคุณค่าวัฒนธรรมราษฎร์ที่มีมากทั่วไปทั้งจังหวัด และเข้าถึงนักท่องเที่ยวดีกว่า แม้สนามรบก็ถูกลดทอนหายไป ไม่มีใครรู้จักอีก ด้วยเหตุจากข้อจำกัดนี้

คนทำสื่อไทยอยู่ในความครอบงำของทางการที่มีข้อจำกัด และแสวงหาความรู้ความเข้าใจก้าวหน้ากว่าทางการไม่ได้ด้วยตนเอง เพราะประสิทธิภาพอ่อนแอ เท่ากับลดโอกาสของสังคมในการเข้าถึงความรู้ก้าวหน้า

ถ้าอยุธยาแก้ปัญหาลดลงจนหมดไป รายได้จะทวีคูณขนาดไหนเกินคาดเดาได้ถ้วน?

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image