สุจิตต์ วงษ์เทศ : เจ๊กกับแขก ทำการค้าให้อยุธยาเติบโต

แม่น้ำเจ้าพระยา จากป้อมเพชร บริเวณสามแยกบางกะจะ (ซ้าย) ย่านคนจีน (ขวา) ย่านคนมุสลิม

ไปเที่ยวอยุธยา ถ้าไม่เข้าวัดกับวังแล้วมีที่ไหนน่าไปเที่ยว?

ขออนุญาตแนะนำไปทอดน่องท่องเที่ยวที่ป้อมเพชร บนเกาะเมืองด้านทิศใต้ จินตนาการถึงเจ๊กกับแขกทำการค้าให้อยุธยาเติบโต เป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ

มีเหตุจากไทยอ่อนด้อยประสบการณ์การค้าทางทะเลสมุทร (เพราะเป็นพวกแม่น้ำลำคลอง) พระเจ้าแผ่นดินยุคอยุธยา (หรือก่อนนั้น) จึงจ้างเจ๊กกับแขกดูแลการค้าทางไกลผ่านทะเลสมุทรกับนานาชาติ มีระบุในกฎมณเฑียรบาล ดังนี้

กรมท่าซ้าย มีเจ๊กจีนในตำแหน่ง “โชดึกราชาเศรษฐี” ดูแลการค้าสำเภาทางทะเลจีน มหาสมุทรแปซิฟิก

Advertisement

กรมท่าขวา มีแขกมลายูในตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ดูแลการค้าสลุบทางทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย

ยุคอยุธยา ถ้ามองจากป้อมเพชร บนเกาะเมืองด้านทิศใต้ บริเวณสามแยกบางกะจะ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงทางทิศใต้ เห็นสองฟากแม่น้ำชัดเจน

ฟากซ้ายเป็นย่านเจ๊ก ฟากขวาเป็นย่านแขก (เจ๊กกับแขก มีรากคำเดียวกัน)

Advertisement

กำเนิดอยุธยา ย่านบางกะจะ อยุธยามีกำเนิดสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณบางกะจะ ระหว่างวัดพนัญเชิงกับวัดพุทไธศวรรย์ แล้วเรียกชื่อว่า อโยธยา (ศรีรามเทพ) มี อำนาจควบคุมดินแดนคาบสมุทรทางทิศใต้และอ่าวไทย บนเส้นทางการค้าโลก (คือ จีนกับอินเดีย)

กำเนิดอยุธยามีขึ้นจากการรวมตัวของรัฐใหญ่ที่มีมาก่อนนานแล้ว คือรัฐละโว้ (ลพบุรี) ทางทิศตะวันออก กับรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ทางทิศตะวันตก สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมจากที่มีมาก่อน ได้แก่ วัฒนธรรมแบบก่อนรับอินเดีย และหลังรับอินเดีย (เช่น แบบทวารวดี, แบบมอญ, แบบเขมร ฯลฯ)

ขณะเดียวกันก็อุดหนุนผลักดันให้มีรัฐสุโขทัยบนเส้นทางการค้าภายใน เพื่อรวบรวมทรัพยากรส่งให้รัฐทั้งสองค้ากับจีนและอินเดีย (สุโขทัยจึงไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก)

บางกะจะ (อยุธยา) เป็นบริเวณชุมทางเส้นทางคมนาคมทางน้ำ มีแม่น้ำลำคลองหลายสายไหลบรรจบกันเป็นสามแยก ปัจจุบันมีสถานที่สำคัญเป็นแลนด์มาร์ก ดังนี้

ป้อมเพชร อยู่บนฝั่งเกาะเมืองอยุธยา หันหน้าลงทางทิศใต้ตามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ไหลออกอ่าวไทย

ทางซ้าย คือทิศตะวันออก เป็นชุมชนย่านชาวจีน คือเจ๊ก มีวัดพนัญเชิงเป็นสถานที่สำคัญ

ทางขวา คือทิศตะวันตก เป็นชุมชนย่านชาวมุสลิม คือแขก มีสุเหร่าเป็นสถานที่สำคัญ

[ลึกเข้าไปทางขวาทวนแม่น้ำเจ้าพระยา มีวัดพุทไธศวรรย์ ตำนานว่าเป็นที่ตั้งตำหนักเวียงเหล็ก ที่ประทับของพระเจ้าอู่ทอง (ก่อนสถาปนาอยุธยา พ.ศ. 1893) แสดงว่าอโยธยาศรีรามเทพนคร มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ย่านนี้]

ทิศทางหลักแหล่งของเจ๊กกับแขก สอดคล้องเข้ากันกับตำแหน่งผู้ดูแลการค้าของพระเจ้าแผ่นดินยุคอยุธยา มีในกฎมณฑียรบาล คือ กรมท่าซ้าย กับกรมท่าขวา (ที่บอกมาแต่ต้น)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image