ผู้เขียน | สมหมาย ปาริจฉัตต์ |
---|
พรรคเพื่อใคร
การอภิปรายทั่วไปรัฐบาลเศรษฐาโดยไม่มีการลงมติ 2 ยก ผ่านไปด้วยความราบรื่น มีรายการปะทะคารม ประชดประชันแดกดันระหว่างมวยรุ่นใหญ่กับมวยรุ่นใหม่กันบ้าง เป็นสีสันบรรยากาศการเมืองในระบบรัฐสภา
ยกแรก เวทีของวุฒิสภานัดสั่งลา ทิ้งทวน ฝากรอยแผล เป็นครั้งสุดท้ายก่อนแยกย้ายกันเก็บของกลับบ้าน ครบวาระ 5 ปี 11 พฤษภาคมนี้
ยกสอง เป็นรายการของสภาผู้แทนราษฎร ฝ่านค้านนำโดยพรรคก้าวไกล ประชาธิปัตย์ เปิดอภิปรายเป็นครั้งแรก
ทั้งสองยก แรกโหมโรงออกแขกทำท่าว่ารัฐบาลจะเจอศึกหนักแน่ ถึงขั้นสั่นคลอน แต่เอาเข้าจริงรัฐบาลสามารถชี้แจง ตอบโต้ เอาตัวรอดไปได้สบาย ทั้ง ส.ว.และฝ่ายค้านโค่นไม่ลง
เหตุหนึ่งเพราะไม่มีการลงมติ อีกเหตุหนึ่งเนื้อหาสาระ ไม่มีเรื่องใหม่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้รัฐบาลซวนเซได้ หรือแม้เรื่องที่จะบานปลายต่อไปจนถึงกรรมการ ป.ป.ช.ต้องสอบสวนต่อก็ไม่ปรากฏ
ส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องที่เคยตอบโต้กันมาก่อนแล้วตามลำดับ ไม่ว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลหัวละหมื่น ราคายางพารา ยุติธรรม 2 มาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องนักโทษเทวดา รัฐบาลยืนกระต่ายขาเดียวทำตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่างที่ออกมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว
สรุปบรรยากาศการอภิปรายจึงเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย
สิ่งที่น่าคิดพิจารณา สถานการณ์ บรรยากาศต่างจากสมัยรัฐบาล คสช. ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ 8 ปีเต็ม ปัญหาความชอบธรรมเกี่ยวกับที่มาของรัฐบาลจากการยึดอำนาจ และมี ส.ว.เป็นเกราะกำบัง เป็นประเด็นถูกโจมตีอย่างรุนแรงต่อเนื่องของฝ่ายค้าน ซึ่งก็คือ เพื่อไทยและก้าวไกล นั่นเอง
มาคราวนี้ รัฐบาลมีความชอบธรรมในเรื่องที่มามากกว่า ฝ่ายค้านเลยไม่สามารถยกประเด็นนี้ขึ้นมาเล่นงานได้ บรรยากาศความตึงเครียด ร้อนแรงจึงเบากว่าสมัย พล.อ.ประยุทธ์
เมื่อรัฐบาลเอาตัวรอดผ่านไปได้ พอดีกับรัฐสภาปิดสมัยประชุมวันที่ 9 เมษายน ทำให้มีเวลาหายใจโล่ง บรรยากาศเอื้อ เป็นผลดีต่อรัฐบาลและเสถียรภาพระบบการเมืองโดยรวม ส่งผลให้โอกาสของพรรคร่วมรัฐบาลจะอยู่ยาวต่อไปมีมากขึ้น
ตราบใดที่ไม่มีปัญหาขัดแย้ง ปัดแข้งปัดขากันเองทั้งภายในพรรคและระหว่างพรรค เกิดเรื่องอื้อฉาว มูมมาม ผลประโยชน์ทับซ้อนจนผู้คนรับไม่ไหว
อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลบวกต่อฝ่ายรัฐบาล การที่ ส.ว.หมดวาระ อำนาจในการโหวตนายกรัฐมนตรีหมดไป จะลดความกดดัน ขัดแย้งระหว่างสภาลงได้อีกเรื่องหนึ่ง
เหลือแต่อำนาจในการให้ความเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน แต่เมื่อ ส.ว.ชุดใหม่ลดลงเหลือ 200 คน จำนวน ส.ว.ที่ต้องให้ความเห็นชอบจะเหลือเพียง 66 คน ซึ่งรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านกำลังผลักดันการยกร่างใหม่ แต่ก็คืบหน้าไปไม่ถึงไหน
ประจวบกับ พรรคก้าวไกล แกนนำฝ่ายค้านกำลังเผชิญมรสุม หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง จนถูกกรรมการการเลือกตั้งยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรค ซึ่งมีโอกาสความเป็นไปได้มาก รวมทั้งกรรมการบริหารและ ส.ส.ที่ร่วมชื่อ 44 คน จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองช่วงหนึ่งหรือตลอดไปได้
ความเสี่ยงนี้แกนนำพรรคก้าวไกล รู้ตัวดี ฟังจากคำอภิปรายของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ล่าสุดก็เห็นชัด
สถานการณ์ที่ดำเนินมาตามลำดับนี้ ล้วนเป็นคุณ ส่งผลบวกต่อพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลโดยปริยาย
ถึงแม้จะต้องเผชิญกับคำถามใหญ่จากก้าวไกล ที่ว่า พรรคเพื่อไทยหรือพรรคเพื่อใคร ไม่จบไม่สิ้นก็ตาม
ว่าไปแล้วคำถามทำนองนี้ ต้องถามพรรคการเมืองทุกพรรค จนกว่าจะมีพรรคการเมืองเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
นอกจากนั้น ประเด็นทิ้งท้ายการอภิปรายสรุปของนายพิธา ที่กล่าวหารัฐบาลเศรษฐาทำให้เกิดความมืด 8 ด้าน ได้แก่ มืดปากท้อง มืดแก้ส่วย มืดผูกขาด
มืดกระตุ้นเศรษฐกิจ มืดแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า มืดปฏิรูปกองทัพ มืดคุณภาพชีวิต และมืดกระบวนการยุติธรรม
ทั้ง 8 ประเด็นไม่ได้เป็นเพียงข้อกล่าวหาโจมตี ที่รัฐบาลต้องให้ความกระจ่าง
แต่เป็นการให้การบ้านสาธารณะ ให้สติผู้คนและสังคม ได้คิด ตรึกตรอง ติดตามหาความจริง
สภาพชีวิตของผู้คนและสังคมโดยรวมภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย เป็นไปอย่างที่นายพิธาอภิปรายหรือไม่ หรือเป็นแค่วาทกรรมทางการเมือง
คำตอบที่แต่ละคนได้รับ จะเป็นข้อมูล ข้อคิดประกอบการพิจารณา ตัดสินใจในการลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่
ขณะเดียวกันทุกฝ่ายกำลังรอดูอนาคตของพรรคก้าวไกล หากถูกยุบและเกิดพรรคใหม่ขึ้นมาแทน ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสนับสนุนใครมากกว่า
ฝ่ายค้านคนรุ่นใหม่ยิ่งจะได้คะแนนเพิ่มขึ้น หรือเพื่อไทยและพรรคอนุรักษนิยมใหม่ จะยังครองอำนาจอยู่ได้ต่อไปอีก
พรรคสีส้มจะโรยรา สูญพันธุ์ หรือยิ่งทุบยิ่งโต เติบใหญ่ เป็นฉากทัศน์การเมืองไทยในอนาคตอันใกล้ ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง
สมหมาย ปาริจฉัตต์