ภาพเก่า…เล่าตำนาน : ความรัก อาถรรพ์ หรรษา และโศกสลด ของเรือไททานิก (จบ) : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เรือโดยสารของบริษัทเดินเรืออังกฤษที่ทันสมัยที่สุดในโลก ไปชนภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรแอตแลนติก จมมิดหายไปทั้งลำเมื่อ 02.20 น. ของวันที่ 15 เมษายน 2455 คนตายไปราว 1,500 คน ฝรั่งไม่เชื่อว่าเป็นเคราะห์กรรมแต่ปางก่อน

สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา รีบตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุความสูญเสียที่โลกตะลึง

วุฒิสมาชิกวิลเลียม เอ. สมิธ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการด้านการพาณิชย์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานการสอบสวน โดยเริ่มเมื่อ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2455 ณ มหานครนิวยอร์ก แต่ต่อมาย้ายไปดำเนินการที่กรุงวอชิงตัน และกลับไปนิวยอร์กอีกครั้งใน 25 พฤษภาคม เพื่อสรุปผลและรายงาน

สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ 7 คนใช้เวลา 18 วันเพื่อสอบสวนทวนความเหตุการณ์จากผู้รอดชีวิตและบรรดาลูกเรือ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องที่เข้าไปช่วยผู้รอดชีวิตหลังไททานิกอับปาง ประเด็นร้อนฉ่าที่สังคมต้องการทราบความจริง คือ เรื่องการแจ้งเตือน เรื่องเรือชูชีพที่จัดไว้เพียงพอหรือไม่ การควบคุมเรือ-ความเร็ว การติดต่อสื่อสาร มาตรการการอพยพ/สละเรือ ฯลฯ

Advertisement

สื่อในอเมริกาวิพากษ์วิจารณ์การสูญเสียครั้งนี้แบบเดือดดาล

วุฒิสภาสหรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายเรียกพยาน 80 ปากมาให้การด้วยวาจา ซึ่งบางส่วนขอส่งข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้คือ ข้อเสนอแนะมาตรการความปลอดภัยการเดินเรือไปสู่ฝ่ายบริหารเพื่อเร่งรีบกำหนด กฎระเบียบเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือทะเล ในเวลานั้นประธานาธิบดีสหรัฐชื่อ ทัฟท์ (William Howard Taft) ซึ่งมีเพื่อนสนิทเสียชีวิตในไททานิกด้วยเช่นกัน

ผู้เขียนขอแปลและเรียบเรียงจากรายงานบางส่วนดังนี้

Advertisement

วันแรกของการไต่สวน ณ โรงแรมวัลดอฟ-แอสทอเรีย ในนิวยอร์ก บรู๊ซ อิสเมย์ (หุ้นส่วนบริษัทเรือผู้ที่เอาผ้าคลุมศีรษะพรางตัวเป็นผู้หญิงแทรกตัวหนีลงเรือชูชีพหนีมาก่อน) ถูกสมาชิกวุฒิสภาประเดิมยิงคำถามเป็นคนแรก สหรัฐใช้หมายศาลเรียกตัวบรู๊ซไว้

ผู้โดยสารบนเรือชูชีพ (จากเรือไททานิก) ที่ลอยลำในทะเลคืนนั้น ได้รับการช่วยเหลือจากเรือเดินสมุทรคาร์พาเธีย (Carpathia) ที่ได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือ เรือคาร์พาเธียนำผู้รอดชีวิตทั้งหมดเดินทางไปถึงท่านิวยอร์ก

อนุกรรมาธิการตั้งคำถามกับหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยบนเรือ สอบถามยามที่ยืนบนเสากระโดงเรือ พนักงานสื่อสาร กัปตันเรือคาร์พาเธีย และกัปตันเรืออีกหลายลำที่อยู่บริเวณเรือไททานิกล่มในคืนวันนั้น

อนุกรรมาธิการยังขอไปดูระบบการทำงานของประตูกั้นน้ำในเรือโอลิมปิกที่เป็นเรือคู่แฝด ที่ใช้ระบบแบบเดียวกัน

รายงานผลการสอบสวนของวุฒิสภาสหรัฐยาว 19 หน้า มีภาพประกอบ 44 หน้า มีเอกสารคำให้การและเอกสารประกอบอื่นๆ อีก 1,145 หน้า โดยมีประเด็นหลัก คือ

1.ขาดการเตรียมการ จึงทำให้ผู้โดยสารและลูกเรืออยู่ในสภาพที่ไม่พร้อม การอพยพทำด้วยความโกลาหล ไม่มีระบบการแจ้งเตือน ไม่มีการประชุมชี้แจงลูกเรือ ไม่มีความพยายามที่จะจัดระบบเรื่องความปลอดภัย

2.ขาดการทดสอบและละเลยการใช้เครื่องมือช่วยชีวิตบนเรือ

3.กัปตันสมิธของเรือไททานิก ไม่ได้รับทราบถึงอันตรายที่เป็นสาเหตุหลักอันเป็นเหตุให้เรือประสบหายนะ ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่ควรเกิด

4.เรือชูชีพที่ไม่พอเพียง เป็นความบกพร่องของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ของอังกฤษที่ยังมิได้กำหนดระเบียบขึ้นมา การตรวจสอบอย่างรีบเร่งทำให้เกิดความบกพร่อง

5.บรู๊ซ อิสเมย์ หุ้นส่วนเจ้าของเรือมิได้สั่งให้กัปตันเพิ่มความเร็วเรือตามที่เป็นข่าว แต่การปรากฏตัวของเขาบนเรืออาจทำให้กัปตันคิดไปเองว่าต้องเพิ่มความเร็ว (ประเด็นนี้บรู๊ซ อิสเมย์ โดนกล่าวหามาตลอด)

6.ผู้โดยสารชั้น 3 มิได้ถูกกีดกันที่จะลงเรือชูชีพ แต่ส่วนใหญ่ไม่ทราบวิธีปฏิบัติในการอพยพเมื่อประสบอุบัติเหตุ

7.เรือคาลิฟอร์เนียนที่แล่นอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเรือไททานิกในเวลานั้น แต่กัปตันของไททานิกไม่ติดต่อขอความช่วยเหลือ

ยังมีรายละเอียดอีกมหาศาลที่ไม่ขอนำมากล่าว

ลองมาดูผลการสอบสวนของรัฐบาลอังกฤษครับ

รัฐสภาอังกฤษมอบให้คณะกรรมการอุบัติภัย (British Wreck Commissioner) เป็นผู้สอบสวนหายนะของไททานิก

คณะกรรมาธิการพาณิชย์ โดยมีผู้พิพากษาศาลสูง ลอร์ดเมอร์สีย์ (Lord Mersey) เป็นประธาน เริ่มต้นสอบสวนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2455 ถึง 3 กรกฎาคม 2455 ณ กรุงลอนดอน

คณะกรรมการใช้เวลาสอบสวน 62 วัน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญกฎหมายทะเล พนักงานบริษัทเดินเรือ ผู้ออกแบบเรือ ผู้โดยสารและลูกเรือที่รอดชีวิต ข้าราชการ และผู้เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหลังโศกนาฏกรรมมาให้การ มีผู้มาให้การกว่า 100 คน สำหรับ 25,000 คำถาม

เป็นคำถามเกี่ยวกับตัวเรือ บันทึกการเดินเรือ ลักษณะความเสียหายของเรือ จำนวนคน ก็เพราะเรือไททานิกเป็นเรือของบริษัทเดินเรืออังกฤษ ทางการจึงต้องใส่ใจเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของอังกฤษที่เป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเล ที่ถือว่าล้มละลายไปพร้อมกับไททานิกที่อับปาง รายงานผลการสอบสวนจัดพิมพ์แล้วเสร็จใน 30 กรกฎาคม บทสรุปคือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการการรักษาความปลอดภัยที่รัฐสภาสหรัฐก็ดำเนินการคู่ขนานกันไปกับอังกฤษ

มีสาระสำคัญบางส่วนที่นำมาบอกกล่าวดังนี้

1.มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,500 คน รอดชีวิต 710 คน เรือคาร์พาเธียที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเข้ามาช่วยหลังจากเรือล่มแล้วราว 2 ชั่วโมง ซึ่งช่วยได้เฉพาะคนที่อยู่ในเรือชูชีพและบางส่วนที่ลอยคอในทะเลที่ตรวจพบ

2.ในช่วงแรกเกิดความสับสนทั้งอเมริกาและรัฐบาลอังกฤษเนื่องจากสื่อรายงานว่า เรือคาร์พาเธียช่วยชีวิตผู้โดยสารจากเรือไททานิกไว้ได้หมดและนำส่งขึ้นฝั่งที่นิวยอร์กไปแล้ว

3.ดัฟฟ์ กอร์ดอน (Sir Cosmo Duff-Gordon) นักกีฬาชื่อดังผู้มีอันจะกิน ถูกประณามและถูกประจานเรื่องที่ลงเรือชูชีพที่มีความจุ 40 คนหนีไปจากเรือไททานิก พร้อมภรรยาและเลขานุการ เป็นเรือชูชีพลำแรกที่ผละหนีไปในขณะที่ในเรือชูชีพมีผู้โดยสารเพียง 12 คน เพราะจ่ายสินบนให้ลูกเรือ

4.มีเหตุไฟลุกไหม้ในห้องเก็บถ่านหินบนเรือไททานิกอยู่นาน 10 วันก่อนที่จะออกเรือไป และก็ยังลุกไหม้ไปตลอดทาง แต่ประเด็นนี้มีการบันทึกในรายงานไม่มากนัก (นักประวัติศาสตร์ในยุคต่อมานำไปเป็นประเด็นกล่าวหาว่าความร้อนจากการลุกไหม้ดังกล่าวทำให้ตัวเรือขาดความแข็งแรง และเป็นเหตุให้เรือต้องอับปาง) คณะกรรมการสอบสวนของอังกฤษยืนยันว่า เรือไททานิกล่มโดยมีสาเหตุจากการชนกับภูเขาน้ำแข็ง

5.ข้อมูลแจ้งเตือนถึงอันตรายจากภูเขาน้ำแข็งไม่ถึงมือกัปตันสมิธ จึงทำให้กัปตันไม่มีข้อมูลพอเพียงสำหรับการนำร่อง

6.ในเวลานั้น เรือแคลิฟอร์เนียนสมควรที่จะแล่นฝ่าทะเลน้ำแข็งเข้าไป ซึ่งไม่มีอันตรายใดๆ เลย ซึ่งจะช่วยชีวิตคนได้มากกว่านี้

7.เรือชูชีพไม่พอเพียงสำหรับการอพยพผู้โดยสารเป็นข้อมูลที่เป็นทางการบางส่วนนะครับ เพราะในโซเชียลเน็ตเวิร์กของฝรั่งเองมีนิยายที่มโนกันเพื่อกล่าวหาแบบเลอะเทอะ ใส่ร้ายป้ายสี อ่านเป็นเดือนก็ไม่จบ

ท่านผู้อ่านสอบถามมา เรื่องบทบาทของกัปตันสมิธ ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ ผู้เขียนลืมนำมาเล่าสู่กันฟัง

หลังจากเรือสำราญไททานิกชนแฉลบกับภูเขาทะเลน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำสูงเพียง 100 ฟุต (มวลน้ำแข็งมหึมาลักษณะแบบภูเขาอยู่ใต้น้ำซึ่งมองไม่เห็น) กัปตันสั่งให้เรือช่วยชีวิต (เรือชูชีพ) ทุกลำเตรียมพร้อมไว้ เขาได้ไปห้องวิทยุเพื่อที่จะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ไททานิกใช้ระบบ Morse Code เรือขนส่งคาร์พาเธีย (Carpathia) เป็นเรือที่อยู่ในระยะใกล้ที่สุด คือ 58 ไมล์ ผู้บังคับการเรือ ชื่อกัปตันอาเธอร์ โรสตรอน คิดในใจว่าไม่เชื่อว่าไททานิกจะขอความช่วยเหลือ แต่ก็สั่งการให้เรือของเขาเบนหัวเรือไปช่วยเรือไททานิกทันที

ขณะที่น้ำทะเลเย็นเฉียบทะลักเข้าทางรอยแตกด้านขวาของเรือและกำลังจะอับปาง กัปตันสมิธที่มีค่าตัวแพงที่สุดได้ขึ้นไปที่ดาดฟ้าเรือ ควบคุมผู้โดยสารที่ก่อการจลาจล กัปตันออกคำสั่งให้สั่งเด็ดขาด “ผู้หญิงกับเด็กให้ลงเรือชูชีพก่อน”

กัปตันสมิธ ลูกผู้ชายตัวจริงแสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่และขอชดใช้ความผิดที่ตนเองชะล่าใจเรื่องคำเตือนภูเขาน้ำแข็งที่เรือลำอื่นๆ ส่งมาเตือนแล้วยังควบคุมเรือไม่ดีพอ กัปตันสมิธไม่ยอมทิ้งเรือไททานิกไปไหน ขอสละชีพจมลงไปในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ

ผู้เขียนเรียนรู้มาว่า กัปตันเรือรบทุกลำที่เข้าสู่สนามรบ จะไม่ยอมสละเรือ การสละชีพพร้อมกับเรือที่ตนเองรับผิดชอบ ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดสำหรับชีวิตของทหารเรือ

เรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Wikipedia,
www.senate.gov/reference/reference_item/titanic.htm
และ พลเรือเอก ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image