คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : งานสัปดาห์หนังสือ และแวดวงการอ่านที่‘หนักท้าย’

คุณธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) สรุปภาพรวมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 ที่จัดขึ้นช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า จำนวนนักอ่านในงานมากกว่างานหนังสือรอบเดียวกันของปีที่แล้ว แต่น้อยกว่างานหนังสือเดือนตุลาคม 

ประเภทของหนังสือที่ขายได้ขายดีที่สุด ยังคงเป็นหนังสือในกลุ่มการ์ตูนและไลท์โนเวล นิยายรักแนวชายกับชาย (วายหรือ BL) และหญิงหญิง (ยูริหรือ GL) นิยายสืบสวนฆาตกรรม ส่วนหนังสือแนวงานวิชาการประวัติศาสตร์และการเมือง ที่เคยเป็นเทรนด์หนังสือขายดีในช่วงสามสี่ปี ในปีนี้กระแสของหนังสือกลุ่มดังกล่าวเริ่มตกลง เพราะคนเน้นไปมุ่งหาหนังสือแนวธุรกิจ พัฒนาตัวเองหรือจิตวิทยาการใช้ชีวิตมากขึ้น ส่วนหนังสืออีกแนวที่ขายได้ไม่ดีอย่างที่คิด คือหนังสือสายโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ร่วมสมัย (ที่เรียกว่าสายมู) ซึ่งหลุดกลุ่มหนังสือขายดีไม่ติดอันดับ

เขายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวงการหนังสือในภาพรวมที่น่าสนใจอีกด้วยว่า เมื่อพิจารณาจากงบการเงินปีที่ผ่านมาของบริษัทมหาชนร้านหนังสือหนังสือแฟรนไชส์หลักรายใหญ่ 3 ราย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกอบรายงานประจำปี พบว่ารายได้ของธุรกิจดังกล่าวฟื้นคืนขึ้นมาและสูงกว่าปี 2019 ในช่วงก่อนโควิดแล้ว โดยมีรายได้ถึงหลัก 2,000 ล้านบาทขึ้นไปทั้งสามเจ้า สรุปง่ายๆ ว่าในตอนนี้ ร้านหนังสือและสายส่งกลับมามีกำไรอีกครั้ง และยังมีการเติบโตฟื้นคืนที่สูงมากในทุกบริษัท 

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (eBook) รายใหญ่ที่สุดของไทยก็เติบโตเกือบทันเครือข่ายสายส่งและร้านหนังสือรายใหญ่ข้างต้นแล้ว โดยมีรายได้เกิน 1,900 ล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนการขายและบริการต่ำกว่า ทำให้มีกำไรสูงกว่าเกินสิบเท่า คือ 389 ล้านบาทของแพลตฟอร์มอีบุ๊ก ต่อ 35 ล้านบาทของเครือข่ายร้านหนังสือและสายส่งรายใหญ่

Advertisement

ข้อมูลของคุณธีรภัทรอาจจะพอสรุปได้ว่า วงการหนังสือในทุกรูปแบบยังไม่ตาย แถมยังฟื้นตัวเติบโตขึ้น และแม้ว่าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะเติบโตมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มาเบียดแย่งตลาดผู้อ่านจากหนังสือเล่มไปอย่างมีนัยสำคัญ เรียกว่าคล้ายกับเป็นเรื่องต่างคนต่างโต 

สถานการณ์การกลับฟื้นคืนตัวของธุรกิจหนังสือเล่มนี้ทราบว่าเป็นเหมือนกันในประเทศอื่นๆ ด้วย จากการสำรวจของหลายสำนักพบว่าหนังสือเล่มนั้นกลับมาได้รับความนิยมอย่างสูงจากหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่กลุ่ม Generation Z ที่เกิดระหว่างปี 1996-2012 (..2539-2555) ในขณะที่คนรุ่นก่อนหน้ากลับเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนไปอ่าน eBook กันมากขึ้น ถ้าให้เดาสาเหตุนั้นก็คงตรงไปตรงมาตามธรรมชาติแห่งสังขาร เพราะคนรุ่นก่อนหน้าทั้ง X และ Y ต่างก็เริ่มเข้าสู่วัยที่สายตาที่มีปัญหากับการอ่านตัวอักษรขนาดเล็กตายตัวของหนังสือเล่ม การอ่าน eBook ที่ปรับขนาดตัวอักษรได้จึงเป็นการอ่านที่เป็นมิตรต่อพวกเรามากกว่า

ข้อสังเกตส่วนตัวเรื่องหนึ่งที่ได้พูดคุยกับมิตรสหายในแวดวงการอ่านการเขียนและพิมพ์หนังสือขายหนังสือไปบ้างแล้ว คือภาพที่เห็นในงานสัปดาห์หนังสือสองสามครั้งล่าสุด อาจเป็นภาพสะท้อนวงการหนังสือและสังคมการอ่านของเราว่ากำลังอยู่ในสภาวะหนักท้าย

Advertisement

สภาวะหนักท้ายคืออะไร ขอให้ลองนึกภาพฮอลล์ใหญ่ของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ว่า หากว่าประตูใหญ่ใกล้ MRT ตรงข้ามภาพไม้แกะสลักพระราชพิธีอินทราภิเษก นับเป็นด้านหน้าเราจะพบว่าการกระจายตัวของผู้คนที่เข้าร่วมในงานหนังสือนั้นจะมีการกระจายตัวที่ค่อนข้างบางเบาในตอนหน้าและตอนกลางบางส่วน แต่จะไปหนักกันที่ส่วนท้ายของงาน ซึ่งเป็นโซนของสำนักพิมพ์และบูธที่ขายหนังสือกลุ่มการ์ตูน นิยายวัยรุ่น และไลท์โนเวล ซึ่งเป็นหนังสือกลุ่มที่ขายดีที่สุดงานหนังสือสัปดาห์หนังสือสองสามครั้งที่ผ่านมา

ตรงกับที่ได้ยินผู้คนในแวดวงหนังสือและการขายหนังสือที่กล่าวถึงบรรยากาศของงานหนังสือจากคนสองกลุ่มที่แตกต่างกันแบบไปคนละทาง จนสงสัยว่านี่พูดถึงงานเดียวกันจริงหรือ โดยฝ่ายหนึ่งบอกว่า งานหนังสือที่ผ่านมานั้นเงียบเหงา หรือแม้แต่มีคนมาเดินกันเยอะแต่คนซื้อหนังสือกันจริงๆ ไม่ได้มาก หรือแม้แต่มีคนบอกว่า ดูแล้วคนเดินผ่านบูธก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่ทำไมยอดรวมของงานที่สมาคมสรุปออกมากลายเป็นว่าคนมาร่วมงานกันมากขึ้นไปในแต่ละปี ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็รายงานว่า ผู้คนเดินเลือกหาหนังสือกันแน่นกันจนแทบไม่มีที่เดิน ขายดิบขายดีทอนเงินไม่ทันนับเงินไม่ถูก บางสำนักพิมพ์ขายได้จนแทบไม่เหลือหนังสือให้ขนกลับก็มี

ในงานสัปดาห์หนังสือคราวนี้พอจะมีเวลาได้เดินชมบรรยากาศในงานหลายรอบหน่อย ซึ่งทั้งครั้งที่ไปทั้งสองครั้งก็เป็นวันอาทิตย์ช่วงบ่ายซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนน่าจะเยอะที่สุดด้วย ตอนนั้นเองที่ได้รู้สึกว่างานสัปดาห์หนังสือ หรืออาจกล่าวได้ว่าแวดวงการอ่านการเขียนของนั้นเรากำลังหนักท้ายจากภาพผู้คนที่กระจายตัวเป็นหย่อมๆ ไปเบียดเสียดหนาแน่นกันที่ส่วนท้ายของงาน

คนที่มางานหนังสือที่เป็นประชากรนักอ่านส่วนที่เยอะที่สุด เข้างานได้ก็มุ่งตรงไปโซนที่ขายนิยายวัยรุ่น นิยายวายและยูริ การ์ตูน ไลท์โนเวลกันหมด ในขณะที่ส่วนอื่นๆ นั้นอาจจะได้เห็นผู้คนที่เบาบางกว่า บางจุดเรียกได้เลยว่าคนโล่งเดินสบาย อย่างที่ถ้าถ่ายรูปออกมา อาจจะนึกว่าถ่ายมาจากคนละงานหรือคนละช่วงเวลาได้เลย

หากจะให้วิเคราะห์ จากที่สังเกตเองและการคาดเดา ก็คิดว่าน่าจะเป็นเพราะวัยรุ่นตอนต้น ประถม มัธยม และตอนปลายระดับมหาวิทยาลัยคือกลุ่มหลักที่นิยมอ่านหนังสือกลุ่มที่ให้ความบันเทิงคือนิยายและการ์ตูน ส่วนรุ่นหนุ่มสาวและวัยทำงานก็อาจจะเพิ่มเติมหนังสือแนวพัฒนาตัวเองและจิตวิทยาเพื่อการใช้ชีวิตเข้าไปอีกประเภทหนึ่ง

แม้ว่าในปีก่อนๆ พวกเขาซึ่งในตอนนั้นยังอาจจะเป็นวัยเรียนตอนปลาย อาจจะเคยให้ความสนใจกับหนังสือแนวประวัติศาสตร์ การเมือง วิชาการ ปรัชญาการเมืองอยู่บ้าง เพราะช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในบรรยากาศแห่งความตื่นตัวและการต่อสู้ทางการเมือง แต่ต่อมาเมื่อเขารู้สึกว่าการเมืองเริ่มดีขึ้นหรืออย่างน้อยก็ไม่ได้แย่ หรือต่อให้แย่แต่ก็คร้านแล้วที่จะสู้ต่อ ขอยอมแพ้ต่อการต่อสู้ที่มองไม่เห็นหนทางชนะ ความจำเป็นที่จะต้องสั่งสมทรัพยากรความรู้ไว้เพื่อการต่อสู้ทางการเมืองหรือความกระหายที่จะทำความเข้าใจความเป็นมาของการสั่งสมเครือข่ายแห่งอำนาจจารีตของประเทศนี้ก็ลดลง การอ่านหนังสือแนวที่ว่าก็ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว

ประกอบกับเมื่อผู้อ่านกลุ่มนี้บางส่วนเติบโตเข้าสู่โลกแห่งการทำงานหาเงิน หนังสือแนวสอนเรื่องธุรกิจ การลงทุน หรือทำงานให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผล หรือแม้แต่แนวที่เยียวยาจิตใจจากสังคมการทำงานและชีวิตที่โหดร้ายนั้น ถ้าเป็นยาก็เรียกว่ารักษาได้ถูกโรคกว่า

สังคมการอ่านหนักท้ายจึงอาจแสดงภาพสังคมการอ่านว่า แม้ปัจจุบันแม้ผู้คนยังอ่านหนังสืออยู่ทั้งรูปเล่มและแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็มีแนวโน้มว่าหนังสือที่นักอ่านกลุ่มใหญ่ที่สุดเลือกอ่านนั้นอาจจะจำกัดอยู่เพียงไม่กี่แนวที่เขาอ่านเท่านั้น ไม่เผื่อแผ่ไปยังหนังสือแนวอื่นเลย 

สอดคล้องกับงานวิจัยล่าสุดที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมกับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจการอ่านและธุรกิจหนังสือ ที่คุณธีรภัทรคนเดิมสรุปให้ว่า คนกลุ่มที่พูดว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อย ซื้อหนังสือน้อยลงนั้น เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในตลาดหนังสือที่ประเภทที่คนไทยอ่านและจ่ายเงินซื้อกันจริงๆ นั่นเอง

ส่วนตัวแล้วขอสารภาพว่าเคยเบื่อหน่ายหรือรำคาญผู้คนบางกลุ่มในแวดวงหนังสือหรือนักอ่านที่ชอบบ่นทำนองว่าเด็กสมัยนี้ (หรือคนรุ่นใหม่) ไม่อ่านหนังสือ มัวแต่ไปเล่นหน้าจอ ฯลฯจนแอบสะใจกับคำพูดที่เหมือนตีแสกหน้าคนกลุ่มนี้ว่าคนเขาก็ยังอ่านหนังสือกันอยู่ เขาแค่ไม่อ่านหนังสือแบบที่พวกคุณเขียน พิมพ์ หรือชอบอ่านแต่เมื่อได้เห็นสภาวะสังคมการอ่านหนักท้ายที่กำลังจะมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นไปในแต่ละปี สะท้อนผ่านงานสัปดาห์หนังสือแต่ละครั้งแล้ว ก็อดนึกกังวลว่า มันไม่น่าจะดีเท่าไรกับสุขภาพโดยรวมทางวัฒนธรรมและสังคมการอ่านของเราสักเท่าไร

เพราะในที่สุดแล้ว สภาวะเช่นนี้อาจนำเราไปสู่จุดที่เราอาจจะไม่เหลือหนังสือแนวอื่นๆ ให้ซื้อหรือหาอ่านกันได้อีก ประกอบกับต้นทุนการผลิตหนังสือที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สำนักพิมพ์ต่างๆ จึงต้องมั่นใจว่าการพิมพ์หนังสือออกมาสักปกหนึ่งนั้นควรจะขายดีหรือขายได้ จนต่อไปหนังสือแนวที่ไม่เป็นที่นิยมในตลาดอาจจะต้องพิมพ์และขายกันในวงแคบ อาจจะต้องสั่งจองก่อนแบบ Pre order แล้วพิมพ์จำนวนเกือบพอดีกับยอดสั่งจองก็เป็นไปได้ 

น่าสนใจด้วยว่า สถิติอย่างหนึ่งที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เก็บมาได้ ก็คือ บูธที่ขายดีในงานสัปดาห์หนังสือนอกเหนือจากสำนักพิมพ์และร้านหนังสือใหม่ คือกลุ่มที่ขายหนังสือเก่า หรือหนังสือมือหนึ่งตัดยอดลดราคา พร้อมกับเริ่มมีเสียงบ่นทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ในทำนองที่ว่าหนังสือไทยมีราคาแพงไปหรือเปล่า ในทางกลับกันคนทำหนังสือเองก็สะท้อนใจว่า แม้จะราคาสูงขนาดนี้ แต่คนเขียนคนทำหนังสือนั้นกลับไม่ได้กำไรหรือมีรายได้ดีอย่างที่คิด ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของผู้อ่านในการเลือกซื้อหาหนังสือ คือเงินในกระเป๋าอาจต้องยอมรับว่าด้วยค่าครองชีพ รายได้ และอะไรก็ตามแต่ของประเทศเรา การซื้อหนังสือสักเล่มหนึ่ง สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักอ่านตัวยงนั้นเป็นเรื่องที่ต้องเลือกต้องคิด อาจจะต้องมั่นใจว่าหนังสือที่ซื้อนั้น ถ้าไม่ให้ความบันเทิงไปเลยแบบการ์ตูนหรือนิยายอ่านสนุก ก็ต้องมีประโยชน์ในการอ่านไม่ทางใดทางหนึ่ง เช่นช่วยให้รู้จักลงทุนหรือจัดการทางการเงิน ช่วยการวางแผนจัดสรรเวลาหรือเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่อีกทางก็ช่วยปลอบประโลมใจหากชีวิตที่พยายามทำตามหนังสือที่ว่านั้นแล้วแต่ก็ยังมองไม่เห็นจุดหมายแห่งความสำเร็จที่คาดหวัง

จึงเป็นการสะท้อนกลับมาให้ผู้คนในวงการหนังสือ แวดวงการเขียนของเรา อาจจะต้องมาคิดกันว่า ทำอย่างไรที่จะกระจายคนกลุ่มที่อ่านหนังสือแนวที่ขายดีอยู่แล้วนั้น ให้ลองมาอ่านหนังสือแนวอื่นๆ ได้บ้าง ให้ผู้คนที่มาเดินในงานสัปดาห์หนังสือกระจายตัวกันไปทั่วงาน ซึ่งหมายถึงความสนใจต่อหนังสือที่หลากหลายทุกแนว ไม่กระจุกตัวหนาแน่นพิเศษที่โซนใดโซนหนึ่งเป็นพิเศษ เป็นงานและการบ้านที่เรียกร้องเอาจากใครตรงๆ ได้ยากนัก

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image