แท็งก์ความคิด : จิตวิญญาณแจ๊ซ

ไปฟังคอนเสิร์ตทีพีโอกับแจ๊ซ ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อสัปดาห์ก่อน

เหมือนไปซึมซับจิตวิญญาณของแจ๊ซ

คอนเสิร์ตนี้เป็นโปรแกรมในงาน TIJC 2017 เทศกาลแจ๊ซที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9

ผู้จัดได้นำวงแจ๊ซระดับโลกมาประชันกับวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย Thailand Philharmonic Orchestra หรือทีพีโอ

Advertisement

ศิลปินระดับโลกที่มาโชว์ คือ โดนัลด์ แฮร์ริสัน (Donald Harrison) นักแซกโซโฟนแจ๊ซ ชาวนิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา

เขาเป็นนักดนตรีแจ๊ซ เกิดปี ค.ศ.1960 ตอนนี้อายุก็ 57 ปี

วันนั้น โดนัลด์ แฮร์ริสัน ไม่ได้มาคนเดียว แต่มาพร้อมกับนักดนตรีแจ๊ซฝีมือเยี่ยมอีกหลายคน

Advertisement

บทเพลงที่โดนัลด์ แฮร์ริสัน และวงของเขาแสดงร่วมกับทีพีโอมีหลายเพลง

แต่ละเพลงสร้างความประทับใจและให้ความรู้

แถมยังบรรเลงเพลงให้ผู้ฟังซึมซับจิตวิญญาณแจ๊ซ

แจ๊ซที่เกิดขึ้น และโด่งดังในนิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา

โดนัลด์ แฮร์ริสัน ซึ่งเกิดที่นิวออร์ลีนส์ เห็นว่าสถานที่เกิดจิตวิญญาณของแจ๊ซคือ คองโก สแควร์ (Congo Square)

คองโก สแควร์ เป็นพื้นที่โล่งแต่มีความหมายทางประวัติศาสตร์

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปในอดีต เมื่อสมัยที่ทาสยังเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนสหรัฐอเมริกา

ในวันเวลาที่ได้รับอนุญาต ทาสจะมารวมตัวกันที่ คองโก สแควร์

พวกเขาจะร้องรำทำเพลง มีกลองเป็นเครื่องให้จังหวะ มีการเต้นรำแบบพื้นเมือง และร้องเพลง

จังหวะของกลองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของจิตวิญญาณแจ๊ซ

จากนั้นได้พัฒนาการกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมคองโก สแควร์

ต่อมาดนตรีแจ๊ซก็เริ่มต้นและมีพัฒนาต่อไปอีกเรื่อยๆ

โดนัลด์ แฮร์ริสัน เป็นหัวหน้ากลุ่มที่เผยแพร่วัฒนธรรมคองโก สแควร์ โดยเขาได้ประพันธ์เพลงขึ้นเพลงหนึ่งชื่อ Congo Square

บทเพลงนั้นคือบทเพลงเปิดตัว โดนัลด์ แฮร์ริสัน และวงของเขาในการแสดงครั้งนี้

บทเพลงเริ่มต้นด้วยเสียงกลองทอม โดนัลด์ แฮร์ริสันตีด้วยลีลาของแอฟริกัน

จังหวะกลองที่ตีนั้น ฟังแล้วเร้าใจ

ยิ่งได้ฟังภายในสถานที่ที่ระบบเสียงดีเยี่ยมอย่างหอประชุมมหิดลสิทธาคารด้วยแล้ว … เสียงที่ได้ยิน ฟังแล้วติดหู

หลังจากโดนัลด์ แฮร์ริสัน ตีกลองจบ วงทีพีโอก็เริ่มบรรเลง

บทเพลงที่บรรเลง ฟังๆ ไปแล้วเหมือนเอาจังหวะของกลองไปขับเคลื่อน

จังหวะคล้ายเสียงกลอง ส่วนเสียงเครื่องเป่า และเครื่องสาย เหมือนกาลเวลาที่ผ่านไป

คล้ายกับว่าระยะเวลาที่ผ่านมา จิตวิญญาณของแจ๊ซแพร่กระจายไปทั่ว

ต่อมาวงทีพีโอได้ส่งบทเพลงต่อให้ โดนัลด์ แฮร์ริสัน และวงแจ๊ซ รับช่วง

เสียงแซกโซโฟนที่เป่าออกมาฟังระรื่นมาก

ในช่วงนี้ ผู้ฟังได้ยินแจ๊ซครบกระบวน ทั้งเปียโน ทั้งดับเบิลเบส สลับกันทำหน้าที่โซโล

ขณะที่จังหวะจากเสียงกลองยังก้องอยู่ในโสตประสาท

บทเพลงบรรเลงไปจนจบ โดนัลด์ แฮร์ริสัน นำบทเพลงชื่อ Be Bop ที่ตัวเองประพันธ์มาโชว์ต่อ

เสียงเครื่องดนตรีที่ส่งเสียงออกมาแปลกๆ

การเปิดทำนองฟังดูง่ายๆ จากนั้นส่งต่อให้ผู้เล่นแต่ละคนโซโล

เวียนไปจนครบแล้วกลับมาบรรเลงทำนองแรกอีกครั้ง

ฟัง Be Bop ทำให้คิดถึงชาลี ปาร์เกอร์ นักดนตรีแจ๊ซที่พัฒนาดนตรีแจ๊ซให้ก้าวไกล

ดูเหมือนโดนัลด์ แฮร์ริสัน และวงของเขาเดาอารมณ์คนฟังออก จึงได้เตรียมบทเพลงที่คัดมาจากอัลบั้มของ “ชาลี ปาร์เกอร์”และบรรเลงต่อจากเพลง Be Bop

ทั้งเพลง Autumn in New York ที่ประพันธ์โดย เวอร์นอน ดยุก (Vernon Duke) นักประพันธ์เพลง ชาวอเมริกัน (ค.ศ.1903-1969)

และบทเพลง Everything happen to me เพลงป๊อปที่เรียบเรียงใหม่โดย Jimmy Carroll แล้วชาลี ปาร์เกอร์ มาบรรเลง

น่าสังเกตว่าบทเพลงที่เลือก เป็นบทเพลงแจ๊ซที่ให้ความรู้สึกอีกแบบ

ไม่ใช่แจ๊ซที่ฟังยากเหมือนนิวออร์ลีนส์ ไม่ใช่แจ๊ซวงใหญ่อย่างบิ๊กแบนด์ บรรเลงสวิง

แต่เป็นแจ๊ซที่ฟังแล้วสบาย โรแมนติก มีเสน่ห์ชวนให้หลงใหล

ฟังโดนัลด์ แฮร์ริสัน เป่าแซกโซโฟน 2 เพลงหลังนี้แล้วเคลิ้ม

ฟังคอนเสิร์ตทีพีโอเล่นกับโดนัลด์ แฮร์ริสันครั้งนี้แล้วมีความสุข

สุขที่ได้ซึมซับประสบการณ์การฟังดนตรีแจ๊ซ

สุขที่ได้สัมผัสกับแจ๊ซในยุคสมัยต่างๆ

แจ๊ซที่มีจุดเริ่มต้นที่ Congo Square แล้วแพร่หลายออกสู่โลก

แจ๊ซที่มีพัฒนาการสืบต่อกันมาจากอดีตถึงปัจจุบัน

แจ๊ซที่แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอ แต่ยังคงจิตวิญญาณเดิม

จิตวิญญาณจาก Congo Square…จิตวิญญาณแห่งแจ๊ซ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image