ฟร้อนต์เพจ ออนไลน์: เลิกสร้างปมเกลียดชัง..นับหนึ่งปรองดอง

ขณะนี้รัฐบาลให้น้ำหนักกับเรื่องการปฏิรูปและการปรองดอง หวังจะเห็นผลเป็นเนื้่อเป็นหนังบ้างในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาล โดยผ่านกลไกคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.) ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นหัวโต๊ะ

ป.ย.ป.แบ่งย่อยเป็น 4 คณะ คือ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการสร้างความปรองดอง

แต่ไฮไลท์จะจับไปที่คณะกรรมการสร้างความปรองดอง ด้วยสังคมอยากจะเห็นประเทศหลุดพ้นดักความขัดแย้งที่มีนานานนับ 10 ปีสักที

เป็นการแง้มประตูความปรองดองขึ้นมาอีกวาระ หลังมีความพยายามมาหลายยุคสมัย มีการศึกษา ข้อเสนอแนะจากคณะต่างๆ มากมาย แต่สุดท้ายก็ถูกเก็บใส่ลิ้นชักไป

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ที่มี “คณิต ณ นคร” เป็นประธาน

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ(คปร.) ที่มี”อานันท์ ปันยารชุน” เป็นประธาน

คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(ปคอป.)ที่มี”ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์” เป็นประธาน

Advertisement

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่มี “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” เป็นประธาน และ ผลการศึกษาการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้า

รวมถึงยุค คสช. ก็มีคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มี”เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ประธาน

แต่ฟังจากเสียงส่วนใหญ่จะให้น้ำหนักกับ “คอป.” มากกว่าชุดต่างๆ เพราะมีการศึกษาอย่างรอบด้าน

แม้ “คอป.”จะตั้งขึ้นมาในสมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หลังเหตุสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 และรัฐบาลของ”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็นำข้อเสนอบางส่วนของ “คอป.” มาดำเนินการ

ข้อเสนอแนะ ของ” คอป.” ที่น่าสนใจ อาทิ รัฐบาลต้องลดความขัดแย้งด้วยการให้ความเป็นธรรมในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเท่าเทียม ต้องให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบทุกฝ่ายที่มีส่วนให้เกิดความรุนแรง รวมถึงเจ้าหน้าที่เข้าสู่การวินิจฉัยตามกระบวนการยุติธรรม

ให้รัฐบาลควบคุมการใช้อำนาจของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง กลุ่มบุคคล และองค์กรต่างๆ ไม่ให้กระทบกับบรรยากาศของความปรองดอง

พิจารณาดำเนินคดีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองทั้งก่อนและหลังรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 คดีหมิ่นเบื้องสูง คดีกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต้องตรวจสอบการแจ้งข้อหาให้ชัดเจน รวมถึงทบทวนการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินควร และควรสนับสนุนให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย หากไม่ได้รับการปล่อยตัวควรจัดสถานที่ในการควบคุมอื่นที่เหมาะสมที่ไม่ใช่เรือนจำปกติ เช่น สถานที่ที่เคยใช้กับนักโทษคดีการเมืองในอดีต

ให้ชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างรวดเร็วและจริงจัง โดยมีมาตรการพิเศษที่ไม่ยึดติดกับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบกฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานปกติ

ควรเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมจากการชุมนุม ด้วยการเร่งรัดการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม ตรวจสอบว่าไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินควร เยียวกลุ่มที่ตกสำรวจ จ่ายค่าทดแทนแก่จำเลยที่ศาลมีคาพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง

รัฐบาลควรส่งเสริมให้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของทุกสังคมในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ อย่างเต็มที่

ข้อเสนอแนะของ “คอป.” นี้ควรจะนำไปเป็นฐานในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองในปัจจุบันได้

แต่ทั้งนี้ เบื้องแรกทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลและคสช.ต้องยุติการสร้างปัจจัยและเงื่อนไขความเกลียดชังในประเด็นต่างๆ ให้ได้ก่อน เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี มิเช่นนั้นก็ไม่อาจนับหนึ่งไปสู่ความปรองดองได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image