พระพุทธศาสนากับเสื้อเหลืองเสื้อแดง : โดย ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ

ในครั้งพุทธกาล ได้เกิดเหตุพิพาทระหว่างชาวศากยะซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพุทธบิดา กับชาวโกลิยะซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพุทธมารดาด้วยเรื่องการแย่งชิงน้ำในแม่น้ำโรหิณีซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างชาวนครทั้งสอง เนื่องจากน้ำในแม่น้ำได้แห้งขอดลงจนเหลือไม่เพียงพอแก่การปลูกข้าวของชาวนาทั้งสองแคว้น ต่างฝ่ายจึงเรียกร้องเพื่อแย่งเอาน้ำเป็นของตนแต่ฝ่ายเดียว

โกลิยะ : พวกข้าพเจ้าจักไม่ให้
ศากยะ : แม้พวกข้าพเจ้าก็จักไม่ให้
เมื่อไม่อาจเจรจาตกลงกันได้ ชาวเมืองทั้งสองได้ทุ่มเถียงกัน ในที่สุดได้ก่นด่าและประณามความชั่วของอีกฝ่าย
โกลิยะ : ไอ้พวกสุนัขจิ้งจอก สมสู่กันเอง
(ฝ่ายที่ถูกด่าเช่นนี้ เพราะต้นสกุลหลายชั่วคนมาแล้วได้อภิเษกสมรสกันเองระหว่างพี่ชายกับน้องสาว)
ศากยะ : ไอ้พวกขี้เรื้อน
(ฝ่ายที่ถูกด่าเช่นนี้ เพราะต้นสกุลเป็นโรคเรื้อน ถูกเนรเทศออกไปอยู่ป่า)

ด้วยกระแสความโกรธแค้นที่เกิดขึ้นจากการกล่าวโทษใส่ความกัน ทั้งสองฝ่ายได้เตรียมกำลังทัพเพื่อเข้าสู่สงคราม
องค์พระศาสดาทรงทราบเรื่อง ได้เสด็จมาระงับศึกไว้

พระศาสดา : ทะเลาะกันเรื่องอะไร
พระญาติ : เรื่องน้ำ พระพุทธเจ้าข้า
พระศาสดา : ระหว่างน้ำกับชีวิตคน อย่างไหนมีค่ามากกว่ากัน
พระญาติ : ชีวิตคนมีค่ามากกว่า พระพุทธเจ้าข้า
พระศาสดา : ควรแล้วหรือที่ทำอย่างนี้
พระญาติ : (ดุษณีภาพทุกคน ไม่มีใครกราบทูลเลย)
พระศาสดา : ถ้าเราตถาคตไม่มาที่นี่ในวันนี้ ทะเลเลือดจะไหลนอง
พระญาติทั้งสองฝ่ายจึงเลิกการเตรียมทำสงครามกัน

Advertisement

จากพุทธประวัติข้างต้น ปฐมเหตุที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งจนเกือบนำไปสู่การรบราฆ่าฟันเกิดจากปัญหาการแย่งชิงน้ำ ต่อมาการกล่าวคำด่าทอเพื่อทำให้เกิดความเกลียดชังว่าเป็นพวกสุนัขจิ้งจอกได้ทำให้ผู้คนเคียดแค้นและนำไปสู่การทำลายล้างกัน การกล่าวโทษใส่ความกันได้กลายเป็นเครื่องมือให้แก่ฝ่ายแย่งชิงน้ำเพื่อเปลี่ยนประเด็นพิพาทจากการแย่งชิงน้ำเป็นข้อกล่าวหาใหม่ว่าเป็นพวกสุนัขจิ้งจอก เป็นการยกระดับอารมณ์เคียดแค้นและความโกรธเคืองของผู้คนให้บานปลายและรุนแรงยิ่งขึ้น เป็นการปลุกปั่นกระแสความเกลียดชังให้เกิดแก่ผู้คนในสังคม
เมื่อฝ่ายหนึ่งเรียกร้องเพื่อแย่งชิงน้ำจากอีกฝ่าย แต่ไม่สำเร็จ จึงเกิดความคับแค้นใจและผูกอาฆาตพยาบาทและหาเหตุเข้าทำร้ายอีกฝ่าย แต่ลำพังการไม่แบ่งน้ำหรือไม่คืนอำนาจให้ยังไม่อาจปลุกกระแสความเกลียดชังให้มากพอที่จะฆ่าฟันทำลายล้างอีกฝ่ายได้ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องปลุกกระแสความโกรธแค้นให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนในสังคม ด้วยการหาเรื่องใส่ความและกล่าวโทษอีกฝ่ายว่าเป็นคนชั่วช้า เป็นพวกสุนัขจิ้งจอก เพื่อหาทางเข้าทำลายล้างอีกฝ่าย
การกล่าวโทษใส่ความเพื่อปลุกปั่นกระแสจึงเป็นหน้าฉากที่สร้างขึ้นเพื่อกลบเกลื่อนราคะตัณหาและความชั่วของฝ่ายตนที่ประสงค์จะเข้าแย่งชิงอำนาจแย่งชิงน้ำจากอีกฝ่ายนั่นเอง
บัดนี้การแย่งชิงน้ำได้พัฒนาไปสู่การปลุกกระแสให้เกิดความเกลียดชัง เพื่อใช้ความเกลียดชังนั้นเป็นฐานอารมณ์นำไปสู่การฆ่าฟันทำลายล้างอีกฝ่าย ภายหลังปลุกกระแสเกลียดชังแล้ว ข้อพิพาทเรื่องแย่งชิงน้ำได้เปลี่ยนประเด็นกลับกลายเป็นข้อพิพาทเรื่องสุนัขจิ้งจอก ผู้คนได้หลงลืมความหื่นกระหายและความอยากได้ใคร่ดีของฝ่ายตนที่จะเข้าแย่งชิงอำนาจแย่งชิงน้ำจากอีกฝ่าย
บัดนี้จึงกลับกลายเป็นว่า ผู้คนทั้งหลายต่างรับรู้และเพ่งโทษอีกฝ่ายว่าเป็นคนชั่วช้า เป็นพวกสุนัขจิ้งจอก

ข้อพิพาทการแย่งชิงอำนาจแย่งชิงน้ำได้ถูกลบเลือนไปเสียแล้ว ทั้งชาวศากยะและชาวโกลิยะไม่ได้สนใจอีกต่อไปกับปัญหาแย่งชิงน้ำ แต่ผู้คนกลับใส่ใจต่อกระแสการกล่าวโทษที่ถูกปลุกปั่นว่าอีกฝ่ายเป็นพวกโกงบ้านโกงเมือง เป็นพวกสุนัขจิ้งจอก แท้จริงแล้วจะเป็นสุนัขจิ้งจอกและโกงบ้านโกงเมืองอย่างที่ปลุกปั่นหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นที่พึงใส่ใจ

เพราะเป็นเรื่องที่ถูกปลุกกระแสขึ้นมาเพื่อเป็นภาพลวงตา เพื่อมุ่งให้สังคมเห็นว่าอีกฝ่ายเป็นคนชั่วช้าเลวทราม

Advertisement

ในทางตรงข้าม ประเด็นที่ผู้คนทั้งสองฝ่ายพึงสำเหนียกและควรตระหนักเป็นสำคัญยิ่งคือ ใครเป็นเจ้าของน้ำ ใครเป็นเจ้าของอำนาจ และอีกฝ่ายมีสิทธิเข้าแย่งชิงหรือไม่

การกล่าวโทษใส่ความว่าโกงบ้านโกงเมืองและเป็นสุนัขจิ้งจอกจึงได้รับการยอมรับสนับสนุนจากฝ่ายหนึ่งโดยอาศัยการปลุกกระแสความเกลียดชัง เป็นการยอมรับที่เกิดจากอารมณ์คั่งแค้นและผูกพยาบาท การพิพากษาตัดสินว่าอีกฝ่ายคดโกงเป็นพวกสุนัขจิ้งจอกและพร้อมจะเข้ารบราฆ่าฟัน จึงเป็นการตัดสินโดยอาศัยกระแสความโกรธแค้นชิงชังและความมีอคติของฝ่ายตนเป็นที่ตั้ง

ด้วยอารมณ์โกรธแค้นของชาวโกลิยะ จึงไม่อาจทำให้เชื่อได้ว่าการตัดสินของชาวโกลิยะว่าอีกฝ่ายคดโกงและทำตัวเป็นสุนัขจิ้งจอกจะเป็นคำตัดสินที่ถูกต้องและเที่ยงธรรม

แต่กระแสความเกลียดชังที่พุ่งขึ้นสูงในขณะนั้นได้ทำให้ชาวโกลิยะทั้งหลายต่างเชื่ออย่างสนิทใจว่าอีกฝ่ายทำตัวเป็นสุนัขจิ้งจอกและเป็นพวกโกงบ้านโกงเมือง เป็นความเชื่อที่เกิดจากกระแสปลุกปั่น เป็นการพิพากษาตัดสินที่เกิดจากการใช้อคติและอารมณ์โกรธแค้นที่พร้อมจะเข้าทำลายล้างอีกฝ่าย ความเชื่อและการตัดสินคดีเหล่านั้นจึงหาความถูกต้องเที่ยงธรรมไม่ได้

ความเชื่อและการตัดสินที่ได้กระทำขึ้นในขณะเกิดกระแสปลุกปั่นให้โกรธแค้นจึงเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบของผู้คนที่ไร้สติ จึงไม่อาจนำความเชื่อและการตัดสินเหล่านั้นมาใช้บังคับและวางเป็นมาตรฐานแก่สังคมได้ ทั้งการกลั่นแกล้งและหาเหตุทำลายล้างอีกฝ่ายที่ทำด้วยอารมณ์และอคติเช่นว่านั้น ย่อมทำให้อีกฝ่ายหนึ่งโกรธแค้นและหาทางตอบโต้ เมื่อเป็นเช่นนี้ความสงบสุขของสังคมและการปรองดองจึงไม่อาจเกิดขึ้น

อารมณ์คั่งแค้นระหว่างชาวศากยะและชาวโกลิยะจึงไม่อาจยุติลงได้ มีแต่จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นและพร้อมจะเข้าทำสงครามกัน

วัฒนธรรมประเพณีและกฎเกณฑ์แห่งสังคมล้วนแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้แก่ผู้คนในสังคมเพื่อให้เกิดความสามัคคีและความสงบเรียบร้อยแก่ประเทศชาติและบ้านเมือง เช่นเดียวกับกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ล้วนมีวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย แต่การบังคับใช้กฎหมายที่ทำขึ้นด้วยการปลุกกระแสความโกรธแค้นและความลำเอียงอคตินั้นไม่อาจทำให้สังคมสงบสุขได้

การบังคับใช้กฎหมายขณะที่ตัวผู้ใช้อยู่ในกระแสความโกรธแค้นชิงชังที่กำลังเบ่งบานและแพร่ขยายอยู่ในสังคมขณะนั้น จึงเป็นการใช้กฎหมายเพื่อสร้างภาพลวงตา เพื่อทำให้การกลั่นแกล้งและการทำลายล้างอีกฝ่ายดูมีความชอบธรรมขึ้น การตัดสินคดีโดยอาศัยอารมณ์และอคติที่ไหลบ่าท่วมท้นเป็นกระแสในขณะนั้น ย่อมไม่อาจทำให้การตัดสินคดีถูกต้องเที่ยงธรรมและเป็นที่ยอมรับได้

การบังคับใช้กฎหมายโดยมีอคติและความโกรธแค้นเป็นอารมณ์ที่ตั้ง จึงเป็นการใช้กฎหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการใช้กฎหมายที่ขัดต่อวัตถุประสงค์และขัดต่อเจตนารมณ์แห่งการตรากฎหมายนั้นเพื่อใช้บังคับแก่สังคมเพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่บ้านเมืองโดยรวม

บัดนี้ชาวโกลิยะได้ลืมเลือนความประพฤติชั่วของตนที่เป็นฝ่ายเข้าแย่งชิงอำนาจและแย่งชิงน้ำจากอีกฝ่าย แทนที่จะกล่าวโทษและลงโทษในความประพฤติชั่วของตน กลับผลักไสความชั่วของตนไปให้อีกฝ่าย โดยกล่าวอ้างว่าเป็นผู้โกงบ้านโกงเมืองและเป็นพวกสุนัขจิ้งจอก

ที่องค์พระศาสดาตรัสถามว่า ระหว่างน้ำกับชีวิตคน อย่างไหนมีค่ามากกว่านั้น บัดนี้กาลเวลาได้ล่วงเลยมา 2,500 ปีแล้ว สังคมในยุคปัจจุบันโหดร้ายขึ้น จิตใจของผู้คนตกต่ำลง การแย่งชิงอำนาจจึงต้องใช้วิธีเข่นฆ่าผู้คนให้ล้มตาย เป็นการฆ่าและทำลายล้างกันเพียงเพราะราคะตัณหาที่จะแย่งชิงอำนาจวาสนามาครอบครองเป็นของตน

การฆ่ากัน ทำลายล้างกัน กล่าวโทษกัน และการตัดสินคดี ล้วนแต่ทำไปด้วยแรงจูงใจเพื่อการแย่งชิงอำนาจทั้งสิ้น สังคมจึงไม่มีความสงบสุขมาช้านาน

การกล่าวโทษหรือลงโทษบุคคลใด ย่อมกระทำได้ตามอำนาจกฎหมายต่อเมื่อกระแสความเคียดแค้นชิงชังได้ยุติจบสิ้นลงด้วยกระบวนการปรองดองที่ทำขึ้นอย่างถูกต้องโปร่งใส หลังจากนั้นกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความผิดของฝ่ายผู้ถูกแย่งชิงอำนาจจึงอาจเริ่มตั้งต้นใหม่อีกครั้งด้วยวิธีพิจารณาที่ไม่ลำเอียงและไม่มีอคติใดๆ แอบแฝง

ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image