ดุลยภาพดุลพินิจ : การแก้วิกฤตคนเกิดน้อยในญี่ปุ่น

ดุลยภาพดุลพินิจ : การแก้วิกฤตคนเกิดน้อยในญี่ปุ่น

ปัญหาประชากรเกิดน้อยในประเทศไทย มีนักประชากรศาสตร์ออกมาเตือนนานแล้ว อาทิ ศาสตราจารย์ธีระ สินเดชารักษ์ ได้ “ชำแหละผล กระทบวิกฤตเด็กไทยเกิดน้อย” ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (31 ม.ค.2565) และเตือนว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยเริ่มลดลงมากว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งเรื่องคนเกิดน้อย รศ.เตียง ผาดไธสง เคยเตือนมาราว 30 ปีแล้ว แต่ตอนนั้นคนไม่ค่อยเชื่อ และเมื่อ 10 ก.พ.2565 ศาสตราจารย์ปราโมทย์ ประสาทกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคมเตือนอีกว่า ในปี 2565 ผู้หญิงไทยคนหนึ่งมีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.1 คน (จำนวนบุตรเฉลี่ยที่มารดาแต่ละคนมีตลอดชีวิตเรียกว่าอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate หรือ TFR) ซึ่งถ้าประเทศใดจะไม่ให้ประชากรลด TFR ต้องไม่ต่ำกว่า 2.1)

ในอดีตประเทศไทยเคยมีนโยบายส่งเสริมการเพิ่มประชากรเมื่อ 80 กว่าปีแล้วในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ตั้งองค์การส่งเสริมการสมรส เมื่อ 1 ก.ย.2485 กำหนดเป้าหมายเพิ่มประชากรจาก 18 ล้านคน ให้เป็น 30-40 ล้านคน ภายใน 20-30 ปี มีการแจกคู่มือสมรส จัดงานวันแม่ครั้งแรก และเก็บภาษีชายโสด

ปัจจุบันประเทศไทยก็เคลื่อนไหวเพื่อแก้วิกฤตเด็กเกิดน้อยหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.2559) จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560-2569 สภาพัฒน์ (พ.ย.2565) ทำแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว พ.ศ.2565-2580 โดยชี้ผลลบของเด็กเกิดน้อยและวางแผนแก้ไขระยะยาว สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (10 ก.พ.2565) จัดงานเสวนา เรื่อง “โควิด-19 ทำให้อัตราเพิ่มประชากรติดลบ เร็วเกินคาด” และ รมช.สธ.ให้สัมภาษณ์ (16 ก.พ.2565) ประเด็นวิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยและวาระแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ซึ่งต่อมา (ธ.ค.2566) สธ.ได้จัดทำวาระแห่งชาติ “ประเด็นส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพเพื่อพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์” ที่พุ่งความสนใจไปที่การแก้วิกฤตคนเกิดน้อยของประเทศ โดย รมว.สธ. ได้แถลง “วาระแห่งชาติ” กำหนดเป้าหมาย TFR พ.ศ.2566-2570 ไม่น้อยกว่า 1.0 และ พ.ศ.2566-2585 ไม่น้อยกว่า 1.0-1.5

Advertisement

และเมื่อ มี.ค.2567 รมว.พม. ได้จัดประชุม “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร” ร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ธนาคารโลก เพื่อจัดทำ “สมุดปกขาว” สรุปสาระสำคัญของปัญหาและวิธีการแก้ไข เพื่อให้ประเทศไทยพ้นวิกฤต จากปัญหาประชากรลดลง ซึ่งได้เสนอ ครม.ไปแล้ว

ทุกวันนี้ ปัญหาคนเกิดน้อยกำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศพัฒนาในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น (TFR=1.26) เกาหลีใต้ (TFR=0.72) สิงคโปร์ (TFR=0.97) และจีน (TFR=1.0)

บทความนี้จะยกตัวอย่างการแก้วิกฤตคนเกิดน้อยของญี่ปุ่นในช่วง 2565-ปัจจุบัน ภายใต้นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ (มาตรการก่อนนี้มีแล้วใน “วาระแห่งชาติ ประเด็นส่งเสริมการมีบุตรฯ”) (สธ. 25 ธ.ค.2566)

Advertisement

ญี่ปุ่นได้เริ่มนโยบายส่งเสริมให้คู่สมรสมีบุตรมากขึ้นมาตั้งแต่ ปี 2533 เนื่องจาก TFR ลดลงจาก 4.5 ในปี 2490 เหลือ 2.0 ในปี 2500 และ ลดเหลือ 1.26 ในปี 2565 จำนวนประชากรของญี่ปุ่นสูงสุดที่ 128 ล้านในปี 2551 และลดเหลือ 125 ล้านในปี 2565 และคาดว่าจะลดเหลือ 88 ล้านในปี 2608 และ 63 ล้านในปี 2643 ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงต่อการขาดแคลนแรงงาน ซ้ำเติมสังคมสูงวัยเพราะขาดคนดูแลผู้สูงอายุ ครอบครัวเดี่ยวและผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมากขึ้น การลดจำนวนเด็กและหนุ่มสาว นักเรียนและนักศึกษา การบริโภคในประเทศลดลง รวมทั้งปัญหาความมั่นคงของประเทศ ฯลฯ

สาเหตุวิกฤตคนเกิดน้อยในญี่ปุ่นมีหลายประการรวมทั้งปัญหาค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร โดยสาเหตุพื้นฐานของคนเกิดน้อย (shoshika) มาจากการแต่งงานช้า (bankonka) กับการไม่แต่งงาน (hikonka) ซึ่งรัฐบาลสำรวจพบว่าคนหนุ่มสาวที่ไม่ต้องการแต่งงาน หรือแต่งงานแต่ไม่ต้องการมีลูก มีจำนวนเพิ่มขึ้น อัตราการแต่งงานต่อประชากร 1 พันคน ลดจาก 10 ในปี 2513 เหลือ 6.4 ในปี 2543 และ 4.1 ในปี 2565 โดยสัดส่วนของผู้หญิงโสด อายุ 25-29 กระโดดจากร้อยละ 21 ในปี 2518 เป็นร้อยละ 66 ในปี 2563 และสัดส่วนผู้หญิงโสดอายุ 30-34 กระโดดจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 39 ในช่วงเวลาเดียวกัน เหตุผลหนึ่งที่หญิงสาวญี่ปุ่นไม่อยากแต่งงานและมีบุตรมาจากโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้น อัตราการเรียนระดับอุดมศึกษาของผู้หญิงเพิ่มอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2523 จนถึงร้อยละ 51 ในปี 2523 อัตราการมีงานทำของผู้หญิงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 45 ในปี 2513 เป็นร้อยละ 87 ในปี 2563 และการที่ผู้หญิงญี่ปุ่นต้องทำงานบ้านและเลี้ยงลูก เพราะผู้ชายญี่ปุ่นไม่ช่วย นอกจากนั้น สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของแรงงานนอกระบบซึ่งรายได้ไม่แน่นอนก็มีส่วนทำให้อัตราแต่งงานลดลง

จากปัญหาดังกล่าวรัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้จัดทำ “ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตของเด็ก” (Direction on Strategy for Childrens Future) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดยั้งการลดจำนวนการมีบุตรและแผนเร่งด่วน คือให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ครอบครัวในการเลี้ยงดูบุตรเป็นหลักเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงในการเลี้ยงดูบุตรเป็นอุปสรรคสำคัญของคนที่จะเป็นพ่อแม่ในอนาคต และได้ให้คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเมื่อ 1 มิถุนายน 2566

มาตรการใหม่ที่จะใช้ใน 3 ปีข้างหน้า อาทิ

(1) ยกเลิกเงื่อนไขรายได้ขั้นสูงเพื่อรับเงินสงเคราะห์รายเดือนแก่ครอบครัวที่มีบุตรและขยายเวลาให้เงินสงเคราะห์จากเดิมที่จะงดจ่ายเมื่อบุตรอายุ 15 ปี เป็นจ่ายให้จนบุตรจบชั้นไฮสกูล

(2) เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรแก่ครอบครัวที่มีบุตรอย่างน้อย 3 คน 2 เท่า

(3) เพิ่มเงินช่วยเหลือกรณีคลอดบุตร เช่น เพิ่มความคุ้มครองของการประกันสุขภาพ

(4) ลดภาระค่าใช้จ่ายครอบครัวในการศึกษาระดับไฮสกูลของบุตร

(5) ขยายสิทธิการลดค่าเล่าเรียน หรือการให้ทุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาและเทคนิคสำหรับครอบครัวที่มีบุตร 3 คนขึ้นไป โดยไม่กำหนดเงื่อนไขรายได้ของครอบครัว ตั้งแต่ปี 2568

(6) เพิ่มวันลาเพื่อเลี้ยงบุตรถึง 4 สัปดาห์ให้ทั้งบิดาและมารดา เพื่อส่งเสริมแนวคิด co-parenting (พ่อแม่ช่วยกันเลี้ยงลูก) โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะเพิ่มอัตราที่พ่อช่วยเลี้ยงลูกจากร้อยละ 17 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 85 และส่งเสริมการทำงานจากบ้าน หรือลดชั่วโมงทำงาน

(7) ส่งเสริมให้บุตรได้เข้าสถานบริบาลเด็กอ่อนแม้ว่าทั้งพ่อและแม่จะไม่มีงานทำ รวมทั้ง จะปรับลดจำนวนเด็กภายใต้การดูแลของพยาบาล 1 คน

(8) อาจจะเก็บ “ค่าเกื้อหนุนเด็กและการดูแลเด็ก” (child and child care support fee) และค่าประกันสุขภาพ โดยจะเริ่มเก็บค่าเกื้อหนุนเด็กตั้งแต่ปี 2569 และเพิ่มค่าดูแลขึ้นจนถึงปี 2571 และอาจเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพ (คนละ 120 บาทต่อเดือน) และอาจเก็บผู้สูงอายุที่มีรายได้เท่าเทียมกับคนในวัยทำงานด้วย

งบประมาณสำหรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวผ่าน ครม.แล้วเมื่อธันวาคม 2566 โดยตั้งเป้าไว้ ปีละ 9 แสนล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี รวม 2.7 ล้านล้านบาท

แต่ปัญหาแรกคือจะเอาเงินจากที่ไหน เพราะปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะมหาศาล คิดเป็นร้อยละ 260 ของ GDP (154.4 ล้านล้านบาท ปี 2566) สูงสุดในกลุ่มประเทศ G7 (แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรป)

งบประมาณส่วนหนึ่งอาจมาจากการออกพันธบัตรรัฐบาล ส่วนที่สองและสามคือ ขึ้นภาษี และใช้เงินกองทุนประกันสังคมโดยอาจเพิ่มเบี้ยประกันสังคม ซึ่งวิธีแรกจะเพิ่มหนี้สาธารณะอีกเป็นภาระกับคนรุ่นต่อไป ส่วนอีก 2 วิธีหลังก็จะไปกระทบประชาชนซึ่งจะกลับทำให้คนมีลูกน้อยลง (แต่รัฐบาลบอกว่า จะพยายามหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษี) ทางที่สี่คือลดงบประมาณด้านอื่น และทางที่ห้าคือเก็บค่าสนับสนุนเด็กและการดูแลเด็ก กับอาจมีการเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพผู้สูงอายุดังกล่าวไปแล้วซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน

มีเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้เสียเช่น แม่บ้านบางคนก็ไม่แน่ใจว่าโครงการจะไปรอดในระยะยาว ธุรกิจขนาดเล็กบางแห่งกังวลว่าค่าใช้จ่ายสวัสดิการของพนักงานจะเป็นภาระมากขึ้น ขณะเดียวกันฝ่ายค้านก็โจมตีว่ารัฐบาลพูดถึงแต่ข้อดีแต่ไม่อธิบายให้ชัดว่าจะได้งบประมาณจากที่ใด และมีนักวิชาการเตือนว่าวิธีการที่รัฐบาลจะหางบประมาณมาใช้ในโครงการเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรอบคอบ ถ้างบประมาณมาจากการเก็บภาษี หรือเบี้ยประกันเพิ่มที่ทำให้รายได้ของคนหนุ่มสาวลดลงก็จะทำให้พวกเขาไม่อยากแต่งงาน หรือลังเลที่จะมีลูก

ในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น โครงการเรียนฟรีและสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุตรของครอบครัวที่มีลูก 3 คนขึ้นไป มีคำถามว่า ถ้าลูกคนใดคนหนึ่งมีงานทำ หรือแยกครอบครัวไม่ต้องพึ่งพ่อแม่ต่อไป หรือเสียชีวิต ลูกที่เหลือจะยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่อไปหรือไม่ และมีข้อสังเกตว่าเด็กทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาและทุกครอบครัวก็ต้องแบกภาระค่าเลี้ยงดูบุตร จึงเป็นการไม่ยุติธรรมที่จะให้แต่ครอบครัวที่มีลูก 3 คนได้สิทธิให้ลูกเรียนฟรี และในกรณีของการแต่งงานช้าหรือไม่แต่งงานนั้นส่วนหนึ่งเพราะรายได้น้อยหรือไม่มีงานดีๆ ทำ แต่ยุทธศาสตร์รัฐบาลไม่ได้มีการแก้ปัญหาด้านการมีงานทำ ค่าจ้าง แรงงานนอกระบบ รวมทั้ง ปัญหาการทำงานหลายชั่วโมงต่อวันซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูก และการเริ่มยุทธศาสตร์ตุลาคม ปีนี้ อาจช้าไปและสะท้อนว่ารัฐบาลไม่จริงจัง และสงสัยว่ายุทธศาสตร์จะโน้มน้าวให้คนอยากมีลูกเพิ่มขึ้นได้เพียงใด

ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในการแก้วิกฤตคนเกิดน้อยบางอย่างอาจไม่เหมาะกับประเทศไทย เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรมยังต้องรอดูผลมาตรการอยู่ แต่ไทยมีแรงงานกว่าครึ่งอยู่ภาคเกษตรและแรงงานนอกระบบ และมีแรงงานต่างด้าวหลายล้านคน รวมทั้ง SMEs หลายแห่งที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้การบริหารจัดการสิทธิประโยชน์และมาตรการจูงใจทำได้ยากกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะใช้เงินเท่าไหร่ อย่างไร และจะเอามาจากไหน เพราะ 5 แสนล้านบาทที่จะแจกก็เป็นที่ครหามากแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image