สงครามรัสเซีย-ยูเครน : บทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่ 1

สงครามรัสเซีย-ยูเครน : บทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่ 1

สงครามรัสเซีย-ยูเครนระเบิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อกองทัพรัสเซียเปิดฉากบุกทะลวงเข้าไปในประเทศยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 หลังจากที่รัสเซียได้ผนวกรวมแหลมไครเมียของยูเครนไปเมื่อ พ.ศ.2557 และรัสเซียยังให้การสนับสนุนในการแบ่งแยกดินแดนของแคว้นดอนบาสจนเกิดสงครามกลางเมืองในยูเครนตั้งแต่ พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน

ในชั้นแรกแทบทุกประเทศเชื่อว่าว่ารัสเซียจะสามารถยึดกรุงเคียฟ เมืองหลวงของของยูเครนได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว แม้กระทั่งหน่วยข่าวกรองสหรัฐอเมริกา ก็ยังประเมินเช่นนั้น แต่ปรากฏว่ายูเครนได้สู้รบต่อต้านอย่างไม่คิดชีวิตด้วยยุทธศาสตร์อันชาญฉลาดและสามารถตีโต้กองทัพรัสเซียก็ต้องถอยร่นไปอย่างมีประสิทธิภาพจนบางช่วงบางจังหวะมีนักวิเคราะห์ฝั่งตะวันตกหลายคนมองว่า ยูเครนอาจคว้าชัยชนะล้มยักษ์รัสเซียได้สำเร็จก็ได้

แต่ปัจจุบันนี้เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567 สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็มาถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายตั้งแนวรบยันกันเป็นแนวยาวตลอดพรมแดนด้านตะวันออกของประเทศยูเครนมาตั้งแต่ พ.ศ.2565 แล้ว ทางด้านรัสเซียซึ่งขณะนี้ยึดครองพื้นที่ภายในยูเครนได้ประมาณ 1 ใน 5 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศยูเครน ก็ไม่สามารถเข้ายึดครองดินแดนไปมากกว่านี้ได้ ขณะเดียวกันยูเครนเองก็ไม่สามารถบุกเข้ายึดพื้นที่คืนเพิ่มขึ้นได้อีก แถมยังต้องถอยออกจากพื้นที่ที่ยึดคืนได้เป็นบางส่วนอีกเนื่องจากขาดแคลนกระสุนปืนใหญ่ ในขณะที่คลังอาวุธของทั้ง 2 ฝ่ายก็ร่อยหรอลง โดยเฉพาะยูเครนนั้น หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า กองทัพยูเครนใช้กระสุนปืนใหญ่ในการรบน้อยลงถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์เริ่มร่อยหรอลงอย่างเห็นได้ชัด

Advertisement

ท่ามกลางสงครามฮามาส-อิสราเอลที่ฉนวนกาซา ทำให้สหรัฐอเมริกาผู้สนับสนุนทั้งอาวุธและเงินเจ้าใหญ่ที่สุดของยูเครนต้องแบ่งการสนับสนุนและงบประมาณไปช่วยสงครามด้านนั้น มีรายงานว่าช่วงสองเดือนที่ผ่านมา รัสเซียเปลี่ยนมาเน้นปฏิบัติการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของยูเครน โดยไม่ได้เน้นการขยายพื้นที่ยึดครองอีกต่อไป ขณะที่ยูเครนเองก็เน้นตอบโต้เป้าหมายในพื้นที่รัสเซียเป็นจุดๆ ไป ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ่อนเปลี้ยจากการกรำศึกสงครามที่ยาวนาน ทำให้สมรภูมิของสงครามรัสเซีย-ยูเครนมีสภาพเหมือนกับการขุดสนามเพลาะรบยันกันไปมาในสงครามโลกครั้งที่ 1

ดังนั้น หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะสิ้นสุดลงได้ก็ต้องดูบทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เลยว่าจุดจบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น จะมาจากสาเหตุ 2 ประการ จากฝ่ายรัสเซียหรือฝ่ายยูเครน ว่าฝ่ายใดจะเกิดขึ้นก่อน คือ

1) เกิดการกบฏใหญ่ในหมู่ทหารคือมีการฝ่าฝืนคำสั่งไปยอมรบรุกอีกต่อไป หรือหนีทหารกันยกใหญ่ แบบว่าทหารหมดกำลังใจจะสู้รบกันต่อไป หรือ

Advertisement

2) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดอาการของรัฐล้มเหลว (failed state) คือรัฐบาลไม่สามารถที่จะปกครองบ้านเมืองได้อีกต่อไปโดยมีการจลาจลอยู่ทั่วไป อาจเกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นก็ได้เพราะประชาชนเหนื่อยหน่ายในสงครามหมดแล้ว

ตัวอย่างของสงครามโลกครั้งที่ 1 ใน พ.ศ.2460 ทหารรัสเซียส่วนใหญ่ฝ่าฝืนคำสั่งของนายทหารและหนีทหารกลับไปยังรัสเซียโดยพลการ และทำการปฏิวัติล้มล้างการปกครองไปด้วยเลย ในขณะที่ทหารฝรั่งเศสและทหารอิตาลีไม่ยอมทำการบุกไปยังแนวสนามเพลาะของทหารเยอรมนีโดยเด็ดขาด จนต้องปลดแม่ทัพใหญ่และตั้งนายพลเปแตงขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่แทน โดยนายพลเปแตงก็ไม่ได้สั่งให้ทหารฝรั่งเศสบุกเข้าตีแนวสนามเพลาะของทหารเยอรมันอีกเลย เพียงแต่ตั้งทัพเผชิญหน้ายันไว้ในสนามเพลาะนั่นเอง

ในที่สุดทางฝ่ายทหารของเยอรมนีต้องเสนอการเจรจายอมแพ้เอง เนื่องจากบรรดาพันธมิตรของเยอรมนีพากันยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรหมด และฝ่ายทหารของเยอรมนีได้ประมาณการจากอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารแล้ว เห็นว่าจะสู้ต่อไปไม่ไหวแน่จึงขอยอมแพ้เสียเลย ในขณะที่พระเจ้าไกเซอร์ก็สละราชสมบัติและหนีไปอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ และมีการประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เยอรมนีเป็นสาธารณรัฐ การยอมแพ้ของเยอรมนีเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ไม่มีกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรข้ามพรมแดนเยอรมนีเข้าไปได้เลย แนวรบด้านตะวันตกของสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังอยู่ห่างจากกรุงเบอร์ลินเกือบ 1,400 กิโลเมตร แต่ทหารเยอรมันหมดกำลังใจที่จะรบต่อไปแล้ว

สัญญาณเตือนถึงเรื่องการกบฏของทหารรัสเซียก็ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน ปีที่แล้วนี้เองที่กองกำลังทหารในแนวหน้าของรัสเซียได้เคลื่อนทัพจากยูเครนข้ามไปยึดเมืองรอสตอฟของรัสเซียไว้ได้ และเคลื่อนทัพขึ้นไปทางเหนือยึดศูนย์ปฏิบัติการทางทหารทั้งหมดในเมืองโวโรเนซ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโกเพียง 500 กิโลเมตรเท่านั้น ก่อนที่ถอนทัพกลับไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองรอสตอฟแล้วจึงยอมยกเลิกการกบฏครั้งนี้ไป ซึ่งเหตุการณ์จริงครั้งนี้ก็พอจะบอกทิศทางของสงครามรัสเซีย-ยูเครนว่าจะจบลงได้อย่างไรไม่มากก็น้อยเลย

ครับ ! ยูเครนหรือรัสเซีย ใครจะไปก่อนกันตอนนี้ก็คงขึ้นอยู่กับทหารทั้ง 2 ฝ่ายละครับ ว่าใครจะเลิกรบและยอมแพ้ก่อนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image