พรรคสถาบัน…ฝันไปเถอะ

พรรคสถาบัน...ฝันไปเถอะ การปรับคณะรัฐมนตรี รัฐบาลเศรษฐา 1/1

การปรับคณะรัฐมนตรี รัฐบาลเศรษฐา 1/1 ทีแรกทำท่าว่าจะราบรื่น เรียบร้อย ปรากฏว่า คุณปานปรีย์ พหิทธานุกร ส่งจดหมายลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทันทีในวันเดียวกัน กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมา เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น

เหตุเพราะการหลุดจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เหลือตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตำแหน่งเดียว ทำให้การทำงานเป็นไปได้ยาก การยอมรับจากนานาประเทศลดลง ส่วนเรื่องเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี ความในจดหมายไม่ได้พูดออกมาตรงๆ

เช่นเดียวกับอีกราย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขุนพลคนสำคัญของพรรคทั้งช่วงก่อนและหลังการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี จนอุ้ม คุณเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสำเร็จ ไม่มีเสียงสะท้อนความไม่พอใจ น้อยอกน้อยใจอะไรออกมาภายนอก นอกจากเงียบ

กลืนเลือดรอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น

ADVERTISMENT

เหตุที่เกิดขึ้น นอกจากเป็นคำตอบ ต่อคำถามที่พรรคฝ่ายค้าน ก้าวไกลเคยถามว่า พรรคเพื่อใครแล้ว

ตามมาด้วยคำถามสาธารณะว่า การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของคุณเศรษฐา สะท้อนให้เห็นอะไร

ADVERTISMENT

การที่บุคคลใกล้ชิด รับใช้ทุนพรรคเข้ามาแทนคนทำงานเสียสละ ทุ่มเทเพื่อพรรคอย่างสุดจิตสุดใจ กลับประสบชะตากรรมทำนองนี้ ครั้งแล้วครั้งเล่า คนแล้วคนเล่า

ความหวังที่จะเห็นพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง ไม่ใช่สถาบันครอบครัว จึงห่างไกลความเป็นจริงอีกนานแสนนาน

พรรคเป็นสถาบันการเมืองของพี่น้องประชาชน จึงเป็นเพียงแค่วาทกรรมสวยหรู ดูดี ต่อไป ก็แค่นั้น

ขณะที่ความเป็นจริงก็คือคนหรือกลุ่มที่มีอำนาจต่อรอง มีศักยภาพทางการเงิน แบ่งเบาภาระในการดูแล ส.ส.ในพรรคได้ดีกว่า มากกว่าเพราะทุนหนากว่าย่อมมีอำนาจต่อรองมากกว่า มีโอกาสและเสียงดังกว่าบรรดานักรบ หัวหมู่ทะลวงฟันทั้งหลาย

ยกเว้นแต่ว่ามีสัญญาใจกันไว้ล่วงหน้า ขอให้อดเปรี้ยวไว้กินหวาน รอกลับมาใหม่ในตำแหน่งที่ใหญ่กว่าในอนาคต

แม้สัจธรรมจะมีว่า ความแน่นอนคือความไม่แน่นอนก็ตาม

ภาพรวมที่ปรากฏต่อสาธารณะภายหลังการปรับคณะรัฐมนตรี จึงเป็นลบต่อตัวคุณเศรษฐาและรัฐบาลมากกว่าภาพบวก

การปรับคณะรัฐมนตรี เป็นมาตรการบริหารตามกระบวนการประชาธิปไตย ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ด้วยข้ออ้างต่างๆ นานา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อทำให้ประสิทธิภาพการบริหารเพิ่มขึ้น

แต่แทบทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่เคยมีการให้คำอธิบายต่อสังคมได้เลยว่า การปรับเปลี่ยนเอาคนไหนออก คนไหนเข้า เพราะเหตุผลประการใด ล้วนเป็นเรื่องความลับภายในของพรรคการเมือง และนักการเมืองคนนั้นๆ

ทั้งๆ ที่สังคมควรได้รับคำตอบ คำชี้แจงที่เปิดเผยตรงไปตรงมา ในฐานะเจ้าของประเทศ ฝ่ายบริหารอาสาเข้าทำงานบริหารจัดการสมบัติสาธารณะ แต่ก็ไม่เคยเกิดประเพณีการให้ความกระจ่างแม้แต่ครั้งเดียว นอกจาก “เพื่อความเหมาะสม” เท่านั้น

การเมืองใหม่ ปฏิรูปการเมือง และพรรคการเมือง ที่เรียกร้อง โหยหากันนักกันหนา เป็นแค่ความฝันต่อไป

แรงกระเพื่อมทางการเมืองอันเป็นผลจากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ จะลงเอยอย่างไร คุณเศรษฐาและผู้มีอำนาจในพรรคจะหาใครมาทำหน้าที่แทนคุณปานปรีย์ ได้เมื่อไหร่ ก็ตาม

ภูมิทัศน์การเมืองไทย กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลง เมื่อวาระการเลือกวุฒิสมาชิกชุดใหม่กำลังจะเกิดขึ้นภายหลังเดือนพฤษภาคม เสร็จสิ้นราวเดือนกรกฎาคมนี้

เนื่องเพราะอำนาจของวุฒิสมาชิกในการเลือกนายกรัฐมนตรนี้หมดสิ้นลง เหลือเพียงการกลั่นกรองกฎหมาย การให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งองค์กรตรวจสอบ องค์กรอิสระ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กล่าวเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน มีเจตจำนงตรงกันจะให้มีการยกร่างฉบับใหม่ แต่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ และมีวุฒิสมาชิกให้ความเห็นชอบ หนึ่งในสามของทั้งหมดคือ 67 คน จาก ส.ว.ใหม่ 200 คน คงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

เมื่ออำนาจโหวตตัวนายกรัฐมนตรีของวุฒิสมาชิก หมดไป ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในฝ่ายบริหารและพรรคฝ่ายค้านจึงมีโอกาสเกิดขึ้นก่อนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่สำเร็จ

หากคุณเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถทำให้แรงกระเพื่อมจากการปรับคณะรัฐมนตรีสงบเรียบร้อยลงได้โดยเร็ว

อำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีของวุฒิสมาชิกที่หมดไป จะเป็นเงื่อนไข ปัจจัย ทำให้รัฐบาลเพื่อไทยภายใต้นายกรัฐมนตรีชื่อเศรษฐา นับวันถอยหลังเร็วกว่าที่คิดว่าจะอยู่ครบ 4 ปี อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image