สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพชร

บรรยากาศวันมาฆบูชา

ในท่ามกลางเหตุการณ์ยุ่งๆ ในเรื่องของ “เจ้ากู” ตอนนี้

ทำให้คิดถึงคำพระ “อุเบกขา” อันหมายถึง ความวางเฉย-ไม่เอนเอียงเข้าข้างเพราะชอบ เพราะชัง ขึ้นมา

แต่ดูอาจเอื้อมไปสักหน่อยหากนำมาใช้

Advertisement

เพราะคำที่คิดถึงและอยากเอามาใช้นั้น มีนัยเบี้ยวๆ ทางโลกิยะอยู่ไม่น้อย

อุเบกขาท่าจะไม่เหมาะ

กลับไปใช้คำดาดๆ ประสะดิบๆ เถื่อนๆ น่าจะดีกว่า

นั่นคือ “เดินขึ้นภู”

แล้วดูสิว่า “เขา” จะทำและตัดสินกันอย่างไร ต่อปัญหาการแต่งตั้งสังฆราชและการสะสางปัญหาในหมู่สงฆ์ ทั้งเรื่องรถเถื่อน เรื่องวัดพระธรรมกาย

เรื่องการผลักดันให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ฯลฯ

เพราะปัญหามันยืดเยื้อมานาน

จนเป็น “อีกเรื่อง” ที่หลอมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันกับ “วิกฤตของชาติ”

พร้อมจะเกิดภาพแย่ๆ อย่างที่เห็น เกิดขึ้นที่สมรภูมิพุทธมณฑล

ยังดีที่วันนั้นยังเป็นแค่กระทบกระทั่งกันทางกายระหว่างพระกับทหาร

ยังไม่มีการหลั่งเลือด

แต่การที่ต่างฝ่ายต่างสะสมเงื่อนไขร้อนๆ เข้าไปไม่หยุด โอกาสที่จะไปถึงจุดแห่งความรุนแรงก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ด้วยแนวโน้มอันน่าสะพรึงกลัวดังกล่าว ทำให้เราทำบุญวันพระใหญ่ “มาฆบูชา” ด้วยใจไม่ผ่องแผ้วนัก

แต่กระนั้น เมื่อย้อนกลับไปสู่หัวใจของวันมาฆบูชานั่นคือ โอวาทปาติโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าแสดงต่อพระอรหันต์ในวันนั้น

ยังสามารถเตือนสติได้ดีอยู่

โดยเฉพาะ หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6

หลักการ 3 ได้แก่

1.การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ ความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์

การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)

2.การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา

(ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)

3.การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย

อุดมการณ์ 4 ได้แก่

1.ความอดทนอดกลั้น คือ ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ

2.ความไม่เบียดเบียน คือ งดเว้นจากการทำร้ายผู้อื่น

3.ความสงบ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย วาจา และทางใจ

4.นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์

วิธีการ 6 ได้แก่

1.ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้าย โจมตีใคร

2.ไม่ทำร้าย คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น

3.สำรวมในปาติโมกข์ คือ เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม

4.รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีในการบริโภค รวมทั้งการใช้สอยสิ่งต่างๆ

5.อยู่ในสถานที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

6.ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิตใจให้สงบ มีประสิทธิภาพที่ดี

ลอกมาให้อ่านกันดุ้นๆ

ซึ่งน่าจะช่วยยับยั้งใจชาวพุทธได้ดี

จะขึ้นภูด้วยกันก็ไม่ว่า

ดูสิว่า เขาจะจัดการฝ่ายที่ติดลาภ ติดยศอย่างไร

และดูสิว่า เขาจะจัดการฝ่ายที่ติดอำนาจนิยมอย่างไร

แต่ก็ขอให้ยึดคาถานี้ไว้ก็คงจะดี

น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี

สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ

ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

ใจจะได้มีเมตตาขึ้นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image