คุณค่าสภาสื่อ โดย นฤตย์ เสกธีระ

แฟ้มภาพ

“หัวใจ” เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย

เมื่อ “หัวใจเต้น” ชีวิตก็ยังอยู่ แต่เมื่อ “หัวใจหยุด” ก็ไม่มีชีวิต

วิชาชีพแต่ละวิชาชีพก็มี “หัวใจ”

ถ้า “หัวใจ” ของวิชาชีพยังทำงาน คุณค่าของวิชาชีพนั้นก็เปล่งประกายเจิดจ้า

Advertisement

แต่ถ้าวิชาชีพนั้นขาด “หัวใจ” แม้ทุกอย่างยังเคลื่อนไหว แต่ก็ไร้คุณค่า

หน่วยงานยุติธรรม หัวใจสำคัญ คือ “ความเป็นธรรม”

ถ้าหน่วยงานยุติธรรม มีพฤติกรรม 2 มาตรฐาน คุณค่าก็ย่อมถดถอย

เกิดเหตุไม่เป็นธรรมขึ้นบ่อยๆ เข้า สุดท้ายหน่วยงานเหล่านั้นก็ไร้ “หัวใจ”

คุณค่าหดหายไปเรื่อยๆ

วิชาชีพสื่อมวลชนก็เหมือนกัน อาชีพนี้มีหัวใจคือ “เสรีภาพ”

ถ้าขาดเสรีภาพก็ไม่ต้องพูดถึงการทำหน้าที่อื่นๆ

สภาวิชาชีพสื่อที่เกิดขึ้นมาก็เพื่อรักษา “หัวใจ” ของสื่อเอาไว้

รักษา “เสรีภาพ” การนำเสนอข่าวสาร

แต่ระยะหลังเริ่มมีคนตั้งเป้าให้สภาวิชาชีพสื่อทำหน้าที่ “ควบคุม”

วงการสื่อมวลชนเองก็เฮโลมาเน้นการควบคุม

พอควบคุมก็โดนต่อต้าน เพราะสภาวิชาชีพสื่อตั้งขึ้นมาเพื่อ “ส่งเสริม” ไม่ใช่ “ควบคุม”

ส่วนการควบคุมเป็นหน้าที่ขององค์กรอื่นๆ นับตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมไปจนถึงสังคม

ดังนั้น เมื่อสภาวิชาชีพสื่อทำงานผิดวัตถุประสงค์หลักคือส่งเสริมก็เริ่มมีสื่อไม่ฟัง

ไม่ฟังเพราะเริ่มใช้สภาวิชาชีพสื่อมาควบคุมความคิดเห็น

ต้องเห็นไปในทางเดียวกัน ต้องไม่เห็นต่าง ต้องไม่ขัดแย้ง…ซึ่งเป็นไปไม่ได้

เมื่อสื่อมวลชนเริ่มไม่ฟังก็มีความคิดใหม่ คือออกกฎหมายตั้งสภาขึ้นมาควบคุม

แน่นอนที่คนในวงการสื่อมวลชนมีทั้งดีมีทั้งแย่ เฉกเช่นเดียวกับวงการต่างๆ

แต่ทั้งดีและแย่ก็แสดงความเห็นภายใต้กฎหมาย

การแสดงความคิดเห็นมีบันทึกไว้เป็นตัวอักษร ภาพ หรือเสียง

ทุกถ้อยคำที่เขียนที่พูดควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ

ผิดหรือถูกก็สามารถอ่านได้…ไม่เห็นด้วยก็ตอบโต้ได้ภายใต้กฎหมาย

หากผิดกฎหมายก็โดนฟ้อง!

แต่ทุกคนยังมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี

และเมื่อใดที่มีการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร สภาวิชาชีพสื่อมวลชนเองก็จะออกมาปกป้อง

หน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อจะมีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่าจึงอยู่ที่การพิทักษ์รักษา “เสรีภาพ” เอาไว้

แต่ต่อไปนี้ ถ้ากฎหมายตัวใหม่ออกมา โอกาสที่องค์กรตามกฎหมายใหม่จะเข้าควบคุมเสรีภาพมีสูงกว่าการส่งเสริม

ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อจึงรวมตัวกันโต้แย้ง ไม่เอาด้วย

เพราะถ้าสภาวิชาชีพสื่อเปลี่ยนบทบาทจาก “ส่งเสริม” ไปเป็นการ “จำกัด” เสรีภาพจริง

ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้พิทักษ์” ไปเป็น “ผู้ทำลาย” หัวใจของวิชาชีพสื่อ

เปิดทางให้ทำลายเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการเสนอข่าวสาร

ขัดกับวัตถุประสงค์การตั้งสภาวิชาชีพสื่อที่ก่อตัวมาแต่ดั้งเดิม

แล้วเราจะมีสภาวิชาชีพสื่อไปทำไม?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image