ที่มาและพัฒนาการของการปฏิวัติแห่งชาติกะเหรี่ยง ตอนที่ 1 โดย ลลิตา หาญวงษ์

การสู้รบระหว่างกองกำลังผสมกะเหรี่ยงกับ กองทัพพม่า ณ สมรภูมิเมืองเมียวดี ทำให้สังคมเรากลับมามีความสนใจการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงมากขึ้น หากจำกันได้เมื่อหลายสิบปีก่อน สังคมไทยรับรู้เรื่องราวของกองกำลังกะเหรี่ยงมากมาย ทั้งในด้านดีและไม่ดี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนใหญ่จะรู้จักในมุมที่ไม่ได้ดีนัก เช่น เหตุการณ์ก๊อดส์อาร์มี่กะเหรี่ยงบุกโรงพยาบาลราชบุรี และบุกยึดสถานทูตพม่าเมื่อปี 1999 หรือกว่า 20 ปีก่อน หรือเราคุ้นเคยกับชื่อของนายพลโบเมียะ ผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU ที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับนายทหารฝั่งไทยตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา KNU เป็นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่และเข้มแข็งเป็นอันดับต้นๆ ของพม่ามาจนถึงต้นทศวรรษ 1990 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ KNU มีรายได้จากการเก็บภาษีสินค้าที่ผ่านเข้ามาจากชายแดนไทยเข้าไปในพม่าทางตอนใน รัฐกะเหรี่ยงยังมีทรัพยากรมั่งคั่ง ผู้นำกะเหรี่ยงยุคก่อนจึงเปิดให้นักธุรกิจ นักการเมือง และคนในเครื่องแบบฝั่งไทยเข้าไปหาประโยชน์ได้มายาวนาน

อย่างไรก็ดี อิทธิพลของกะเหรี่ยง KNU ซึ่งเป็นปีกการเมือง และ KNLA (Karen National Liberation Army) ซึ่งเป็นปีกกองทัพ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นยุคที่ KNU/KNLA กลับไปทำสงครามกับรัฐบาลทหารพม่า ที่ในขณะนั้นอยู่ภายใต้ SLORC และ SPDC ตามลำดับ การสู้รบอย่างเข้มข้นในห้วง 20 ปีเศษมานี้ทำให้มีประชาชนกะเหรี่ยงหนีเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจรัฐและคนกะเหรี่ยงอันเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีชายแดนติดไทยยาวที่สุด ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมาถึงกาญจนบุรี คือรัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ กองกำลังในพื้นที่แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ทั้งจากความแตกต่างด้านศาสนา เป้าหมายปลายทาง และผลประโยชน์ที่แต่ละกลุ่มได้รับ กะเหรี่ยง KNU ของนายพลโบเมียะเมื่อ 30 ปีก่อน อาจมีลักษณะเป็นกองกำลังเต็มรูปแบบ แต่ในปัจจุบัน เมื่อความขัดแย้งระหว่างพม่าและกะเหรี่ยงดำเนินมาเกือบ 80 ปี ผู้นำ KNU ก็จะเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธี มีแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ที่หลากหลายมากขึ้น

ท่าทีของกลุ่มชาติพันธุ์ยังปรับเปลี่ยนไปตามนโยบายของรัฐบาลทหารพม่า ผู้เขียนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับผู้นำ KNU หลายครั้ง ความรู้สึกที่ผู้เขียนได้คือ KNU ในปัจจุบันไม่ได้ต้องการรบเพื่อเป้าหมายที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ เพราะการรบทุกครั้งย่อมมีการสูญเสีย และทรัพยากรมหาศาลที่ทุกฝ่ายต้องเสียไป ในช่วงปลายรัฐบาลประธานาธิบดีเต็งเส่ง ในเดือนตุลาคม 2015 รัฐบาลเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม KNU ที่มีซอมูตูเซโพเป็นผู้นำในขณะนั้น เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไปลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ หรือ NCA กับรัฐบาลพม่าด้วย

Advertisement

เมื่อพม่าเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหาร มาสู่กึ่งทหาร และรัฐบาลพลเรือนภายใต้พรรค NLD ในปี 2016 รัฐบาล NLD ก็พยายามผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพ และรีแบรนด์เป็น “การประชุมปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21” แต่การเจรจาต่างๆ ไม่มีความคืบหน้ามากนัก รัฐบาลพม่าทั้งที่เป็นทหารและพลเรือนเมื่อพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ เหมือนลิ้นกับฟัน เพราะต่างฝ่ายต่างมีวาระทางการเมืองของตนเอง ที่ไม่สามารถมาบรรจบกันโดยง่าย ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มต้องการสิทธิปกครองตนเอง และดูแลทรัพยากรภายในพื้นที่ของตนเอง โดยพม่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวน้อยที่สุด กองทัพพม่ายังคงมองว่าการควบคุมพื้นที่ชนกลุ่มน้อยแบบเบ็ดเสร็จเป็นหนทางเดียวที่จะยึดตรึงสหภาพพม่าไว้ไม่ให้แตกสลาย

ในขณะที่ฝ่ายการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ยอมเจรจากับพม่า แต่ในขณะเดียวกันปีกกองทัพส่วนหนึ่งก็ไม่พอใจ และยังยืนยันคำเดิมว่าไม่ต้องการวางอาวุธ จนกว่าพม่าจะยอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้เขียนมองว่าสงครามกลางเมืองในพม่าที่ไม่มีวี่แววจะจบสิ้นนี้มีที่มาจากการเจรจาที่เน้นหนักไปที่อุดมการณ์และข้อเรียกร้องที่สุดโต่งเกินไปในมุมมองของคู่ขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่ง หากในอนาคตจะมีการเจรจาสันติภาพขึ้น สิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งกองทัพพม่า รัฐบาล และฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ต้องคิดหนักๆ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชนต้องหยุดก่อนทุกกรณี และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต้องเข้าถึงประชาชนที่เป็นเหยื่อของการสู้รบที่ยืดเยื้อนี้

นอกจากความขัดแย้งด้านผลประโยชน์เฉพาะหน้าแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนอยากพูดถึงที่สุดคือ “พลวัต” และความเปลี่ยนแปลงภายในรัฐกะเหรี่ยงในแต่ละช่วงเวลา และความซับซ้อนของปัญหาภายในของชาวกะเหรี่ยงเอง ที่น้อยคนจะเข้าใจ โดยมากสังคมไทยเรายังมองว่ากะเหรี่ยงทั้งผองเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน แต่เมื่อเกิดการสู้รบที่เมียวดีขึ้น และเมื่อกองกำลังกะเหรี่ยง BGF ของซอชิตตู่นำกองกำลังของตนเองไปช่วยกองกำลังของพม่าให้กลับเข้ามายึดฐาน 275 ที่กะเหรี่ยง KNLA เพิ่งจะยึดได้ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

Advertisement

คําถามที่เกิดขึ้นคือเหตุใด BGF จึงเลือกช่วยเหลือกองทัพพม่า ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นประกาศเลิกสนับสนุนกองทัพพม่าและเข้าร่วมกับกองกำลังอื่นๆ ของกะเหรี่ยง ผู้เขียนอยากจะเริ่มตอบคำถามนี้ว่าสงครามทุกครั้งย่อมมีค่าใช้จ่าย ยิ่งสงครามยืดเยื้อ ค่าใช้จ่ายก็จะมีมากขึ้น เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้เป็น “รัฐ” เหมือนรัฐบาลที่เนปยีดอ การซื้ออาวุธย่อมยากลำบากกว่าการซื้อขายในระดับรัฐต่อรัฐ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นผลักให้กลุ่มชาติพันธุ์มีธุรกิจสีเทาๆ ตั้งแต่ในยุคของโบเมียะ ที่การเมืองพม่าเปิดโอกาสให้ขุนศึกในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ผลักให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจผิดกฎหมายมากขึ้น

ในปัจจุบัน กะเหรี่ยง BGF คือตัวอย่างสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าสงครามที่ยืดเยื้อทำให้ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนต้องหารายได้จากธุรกิจผิดกฎหมาย และนำนักธุรกิจชาวจีนเข้ามาลงทุนเช่าพื้นที่ในพื้นที่กะเหรี่ยง ที่อาจเป็นสัญญาระยะสั้นไปจนถึงการเช่าพื้นที่ยาวนานถึง 90 ปี ข้อสรุปของผู้เขียนคือยิ่งสงครามยังคงมีอยู่ต่อไป ธุรกิจเหล่านี้ก็จะยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า war is a good business หรือสงครามเป็นธุรกิจที่ดีอย่างหนึ่ง คิดในทางกลับกัน ภาวะสงครามสร้างความมั่งคั่งให้กับคนบางกลุ่ม บางครั้งความสงบที่หลายคนถวิลหาอาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายเพราะ good business นี้ก็เป็นได้

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image