ไทยพบพม่า : ผู้หญิง (อื่นๆ) ในโลกการเมืองแบบพม่า (1) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

สถานะของผู้หญิงพม่าตั้งแต่อดีตเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในวงวิชาการพม่าศึกษา แต่เดิมข้าราชการอาณานิคมอังกฤษมักเหมารวมว่าผู้หญิงพม่ามีสถานะที่เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับผู้ชาย บ้างกล่าวว่าผู้หญิงคือหัวหน้าครอบครัวอย่างแท้จริง และบางส่วนก็กล่าวว่าสังคมพม่าให้เสรีภาพอย่างเต็มที่กับผู้หญิงมากกว่าประเทศอื่นใดในอุษาคเนย์

แต่หลายปีที่ผ่านมา มีนักวิชาการสตรีอย่าง ชิเอะ อิเกยะ (Chie Ikeya) ที่ออกมาแย้งว่าผู้หญิงพม่าไม่ได้มีสถานะเท่าเทียมกับบุรุษ และไม่ได้มีเสรีภาพมากอย่างที่เชื่อกัน สถานะอันสูงส่งของผู้หญิงพม่าที่คนในยุคอาณานิคมเข้าใจกันอาจมาจากการเปรียบเทียบกับผู้หญิงในสังคมเอเชียอื่นๆ ที่ผู้หญิงมีสถานะต่ำกว่าผู้ชายอย่างชัดเจน เช่น อินเดียที่มีพิธีสะตี (หญิงม่ายโดดลงกองไฟตายตามสามี) และจีนที่มีพิธีรัดเท้า

นอกจากนี้ สตรีพม่าเมื่อแต่งงานยังไม่ต้องเปลี่ยนนามสกุลตามสามี เนื่องจากคนพม่าไม่มีระบบนามสกุล และยังไม่มีข้อห้ามให้ผู้หญิงเรียนหนังสือและสามารถเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาระดับสูงได้ทันทีที่สถาบันการศึกษาระดับสูงเกิดขึ้นในพม่า (ค.ศ.1878/พ.ศ.2421)

แต่โดยทั่วไป สังคมพม่ายังคงมองว่าผู้หญิงพม่ามีสถานะที่ไม่ธรรมดา ปัจจัยหนึ่งอาจมาจากบทบาทของการเป็น “เมีย” และ “แม่” ถูกนำมากล่าวซ้ำๆ ในวัฒนธรรมกระแสหลัก และอีกปัจจัยหนึ่งมาจากการศึกษาระดับสูงแบบตะวันตกดังที่กล่าวไปข้างต้น ตั้งแต่ในยุคอาณานิคม เด็กหนุ่ม-สาวทุกคนเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างเท่าเทียมกัน (แต่การศึกษาพม่าย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัดหลังนายพลเน วิน รัฐประหารรัฐบาลของอู นุ ในปี 1962/พ.ศ.2505)

Advertisement

รากฐานทางการศึกษาที่ดีในยุคอาณานิคมทำให้มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งก่อตั้งใน ค.ศ.1920 เป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆ ของเอเชียในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

และดึงดูดศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมายให้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปสอนที่พม่า

คุณภาพการศึกษาที่สูงบวกกับขบวนการชาตินิยมที่เข้มแข็งตั้งแต่ทศวรรษ 1930 (พ.ศ.2473 ลงมา) จึงทำให้สังคมพม่าในต้นศตวรรษที่ 20 อุดมไปด้วยปราชญ์ นักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ แพทย์ และนักเขียนชั้นครูมากมายที่ผสมผสานองค์ความรู้แบบตะวันตกเข้ากับความเป็นพม่า

แน่นอนว่ากลุ่มผู้มีการศึกษาจำนวนหนึ่งเป็นผู้หญิง และเรามักเห็นผู้หญิงเหล่านี้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นสามีหรือพ่อของเธอ

ลูดุ้ อู หล่ะ และลูดุ้ ด่อ อะมา กับลูกๆ ทั้ง 5 คน (ภาพจาก The Irrawaddy)
ลูดุ้ อู หล่ะ และลูดุ้ ด่อ อะมา กับลูกๆ ทั้ง 5 คน (ภาพจาก The Irrawaddy)

ตัวอย่างสำคัญที่จะขอกล่าวถึงคือนักเขียนหญิงในยุคอาณานิคม 4 คน ได้แก่ ลูดุ้ ด่อ อะมา (Ludu Daw Amar), จะเน จอ มะ มะ เล (Journal Kyaw Ma Ma Lay), มิ มิ คาย (Mi Mi Khaing), ขิ่น เมี้ยว ชิต (Khin Myo Chit) และ ออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi) โดยจะขอกล่าวถึงนักเขียน 3 คนหลังในตอนถัดไป

ลูดุ้ ด่อ อะมา (ค.ศ.1915-2008) เป็นนักเขียนหญิงที่มีชื่อเสียงที่สุดและเป็นที่เคารพรักสูงสุดในแวดวงวรรณกรรมพม่า และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพม่าต่อมาอีกหลายรุ่น

ด่อ อะมา เป็นทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ใช้ปลายปากกาและน้ำหมึกของเธอเคียงคู่กับ ลูดุ้ อู หล่ะ (Ludu U Hla) ผู้เป็นสามี เป็นอาวุธเพื่อต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยม ตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองพม่ามาจนถึงการต่อสู้กับเผด็จการของนายพลเน วิน และการกดขี่ของสลอร์กและเอสพีดีซี

ด่อ อะมา อาจจะโชคดีกว่าผู้หญิงคนอื่นๆ ในมัณฑะเลย์ ณ ขณะนั้น เพราะมาจากครอบครัวที่มีฐานะ จึงสามารถเรียนหนังสือจนจบในระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งได้

แม้จะมีอุปสรรคไปบ้างเพราะเป็นช่วงที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งกำลังนัดหยุดเรียนครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านระบอบอาณานิคมของอังกฤษอยู่พอดิบพอดี เมื่อสำเร็จการศึกษา เธอแต่งงานกับอู หล่ะ ย้ายกลับมัณฑะเลย์ และตั้งสำนักพิมพ์ฝ่ายซ้ายชื่อ “ลูดุ้” ที่แปลว่า ปวงชนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง

เมื่อพม่าได้รับเอกราช สองสามีภรรยาแห่งลูดุ้กลับมีชีวิตที่ลำบากลงกว่าเดิม เนื่องจากรัฐบาลพม่ามองว่าทั้งสองเป็นคอมมิวนิสต์และเป็นผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า (CPB) ที่ทางการกำลังปราบปรามอย่างหนักอยู่ตลอดทศวรรษ 1950 และทำให้ลูดุ้ผู้สามีถูกตัดสินให้จำคุก 3 ปี

ด่อ อะมายังคงดำเนินกิจการวารสารของครอบครัวอย่างแข็งขัน แต่ก็ถูกเพ่งเล็งโดยรัฐและถูกสั่งปิดวารสารลูดุ้ในเวลาต่อมา

ครั้นเน วินเถลิงอำนาจหลังรัฐประหาร บุตรชาย 2 คนของลูดุ้ตัดสินใจเข้าป่าเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า บุตรชายคนโตเสียชีวิตในป่า ขณะที่คนที่ 2 ซึ่งเป็นนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยก็ต้องหลบหนีการกวาดล้างจากรัฐบาลและเข้าป่าเพื่อร่วมกับพรรค

ในยุคสังคมนิยมของเน วิน ด่อ อะมายังคงมีกิจการโรงพิมพ์เป็นของตนเอง กฎหมายการเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ที่เคร่งครัดภายใต้รัฐบาลทหารไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะกับด่อ อะมาเท่านั้น แต่ยังกร่อนเซาะทำลายความคิดสร้างสรรค์ของนักเขียนพม่ามาหลายสิบปี ในวันนี้ แม้ด่อ อะมาจะเสียชีวิตไปเกือบ 1 ทศวรรษแล้ว แต่เธอยังเป็นเสมือน “แม่” ของคนในวงการวรรณกรรมพม่าและสำหรับนักศึกษา-นักเคลื่อนไหวโดยเฉพาะในมัณฑะเลย์ ซึ่งจะจัดงานรำลึกวันคล้ายวันเกิดให้เธอทุกปีมาจวบจนปัจจุบัน

จะเน จอ มะ มะ เล และ จะเน จอ อู ชิต หม่อง (ภาพจาก หนังสือ A Man Like Him)
จะเน จอ มะ มะ เล และ จะเน จอ อู ชิต หม่อง (ภาพจาก หนังสือ A Man Like Him)

จะเน จอ มะ มะ เล (ค.ศ.1917-1982) เป็นนักเขียนหญิงร่วมสมัยกับด่อ อะมา และเป็นที่รู้จักกันในฐานะ “ราชินีแห่งเรื่องสั้น” เพราะชื่อเสียงของด่อ มะ มะ เล มาจากการเขียนเรื่องสั้นเพื่อให้สังคมเล็งเห็นความสำคัญของผู้หญิง และยังเขียนในลักษณะเป็นนิยายหรือเรื่องสั้นสอนหญิงเพื่อให้ผู้หญิงพม่ารู้เท่าทันสังคมและภาคภูมิใจในบทบาทหน้าที่ของตน ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้หญิงรักษาความเป็น “เมีย” และ “แม่” ไว้อย่างดี

นอกจากนี้แล้ว ด่อ มะ มะ เลยังนำเสนอภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมพม่าและการดิ้นรนของชนชั้นกรรมาชีพออกมาอย่างเรียบง่ายแต่งดงามกินใจ หลังสงครามเธอได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติเป็นประธานสมาคมนักเขียนแห่งพม่า (ระหว่าง ค.ศ.1948-1949/พ.ศ.2491-2492) ไม่บ่อยนักที่จะเห็นผู้หญิงดำรงตำแหน่งระดับสูงในแวดวงวรรณกรรมพม่า

ชะตากรรมของด่อ มะ มะ เลใกล้เคียงกับด่อ อะมา เพราะเธอและสำนักพิมพ์จะเน จอของเธอถูกรัฐบาลพม่าปราบปรามอย่างรุนแรง

โดยใช้ข้ออ้างเดิมๆ ที่ว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่แอบอิงกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าและเป็นภัยต่อความมั่นคง

ด่อ มะ มะ เล แต่งงานกับจะเน จอ อู ชิต หม่อง (U Chit Maung) อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ New Light of Burma หรือ “เมียนมา อะลิง” (ยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันกลายเป็นหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลแล้ว)

ในหนังสือเล่มสำคัญ A Man Like Him (ผู้ชายอย่างเขา) ที่ด่อ มะ มะ เลเขียนถึงอู ชิต หม่อง ผู้เป็นสามี ซึ่งเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยอายุเพียง 32 ปี สะท้อนบทบาทของผู้หญิงพม่าในฐานะ “เมีย” และ “แม่” ที่คอยสนับสนุนและส่งเสริมผู้เป็นสามี

แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเชื่อมั่นในอุดมการณ์ทางการเมืองของตนและเป็นผู้ชี้ทางสว่างให้แก่สังคมได้

ทั้งด่อ อะมา และด่อ มะ มะ เล เป็นตัวอย่างของนักเขียนนามอุโฆษที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับสามี คนหนึ่งสร้างชื่อพร้อมๆ กับสามี และอีกคนหนึ่งสร้างชื่อขึ้นหลังสามีเสียชีวิตไปแล้ว

แม้นักเขียนหญิงทั้ง 2 คนจะเป็นนักเขียนฝ่ายซ้าย แต่เธอทั้งสองก็เชื่อมั่นว่าผู้หญิงพม่าไม่ควรสร้างอิสรภาพให้กับตนเองมากจนเกินพอดี แต่ควรเดินตามบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดไว้ให้

การเป็นทั้ง “เมีย” และ “แม่” สำหรับนักเขียนหญิงทั้งคู่จึงนับว่าเป็นสิ่งดีงามที่ผู้หญิงพม่าควรยึดถือไว้

อย่างไรก็ดี ในประวัติศาสตร์วรรณกรรมสมัยใหม่ของพม่า ก็จะมีนักเขียนหญิงอีกหลายคนที่แม้ไม่ได้แหก “สุภาษิตสอนหญิง” แบบพม่าจนสุดโต่ง แต่ก็มีมุมมองต่อสังคมที่แตกต่างออกไป ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวถึงในสัปดาห์หน้า

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image