ที่สุดคือต้องไม่มีกฎหมายปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2559 ผมนำเสนอเรื่อง “สิทธิเสรีภาพที่ควรมีและเป็นไป” บอกไว้ว่า กฎหมายที่บรรดาสื่อมวลชนคัดค้าน คือร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน (กับอีกกฎหมายหนึ่งคือ พระราชบัญญัติเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์)

ผมบอกไว้ว่า “ความเข้าใจที่ไม่น่าจะต้องตรงกันนักของประชาชนทั่วไปและข้าราชการ คือเรื่องของสิทธิเสรีภาพ

“เพราะเสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์ ฯลฯ คือสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น สื่อมวลชนจึงใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชน

“รัฐจึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายอะไรมาคุ้มครองหรือส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพ (อาชีพ) นี้อีก

Advertisement

“หากสื่อมวลชนหรือประชาชนละเมิดล่วงเกินสิทธิเสรีภาพผู้อื่น ย่อมมีกฎหมายอื่นลงโทษได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะกฎหมายหมิ่นประมาท

“ทั้งกฎหมายฉบับนี้ หากจะคุ้มครองหรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างแท้จริง ควรเปิดให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพนี้อย่างกว้างขวาง ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาควบคุมดูแล”

วันต่อมา 20 มกราคม 2560 เรื่องเสียงจากสื่อมวลชนอาวุโส จบว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพทั้งของประชาชนและของสื่อมวลชนมีจำนวนไม่น้อยที่สามารถนำมาใช้ลงโทษทั้งประชาชนและสื่อมวลชนซึ่งกระทำผิดตามกฎหมาย จึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายอื่นใดมากำหนดหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนอีก”

Advertisement

จากนั้นสัปดาห์ต่อมา วันที่ 27 มกราคม 2560 เรื่องสิทธิเสรีภาพคือพื้นฐานของความเป็นธรรม มีคำถามว่า “หากสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งหมายความว่า ประชาชนย่อมถูกจำกัดไปด้วย ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะไปเรียกร้องความเป็นธรรมนั้นจากใคร

“เรื่องของความเป็นธรรม ย่อมมีผู้รักษาหรือป้องกันไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรม คือพนักงานสอบสวน อัยการ และผู้พิพากษา มีกติกาคือกฎหมายเป็นแนวทางให้ปฏิบัติ ส่วนสื่อมวลชนคือผู้ที่นำข้อมูลข่าวสารนั้นออกมาเผยแพร่

“กรณีผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งมาจากพื้นฐานของระบบยุติธรรมตั้งแต่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ เป็นเหตุให้ศาลสูงสุดพิพากษาลงโทษไปแล้ว สื่อมวลชนย่อมนำเสนอเพื่อร่วมกันเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นกับทุกฝ่ายบนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพเท่าที่มีอยู่

“สิทธิเสรีภาพจึงมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นกับทุกฝ่ายทุกคนอย่างแท้จริง”

สุดท้าย เมื่อประชาชนเห็นว่าสื่อมวลชนนำเสนอกรณีใดกรณีหนึ่งที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด สื่อต้องมีความรับผิดชอบที่ทำให้คนทราบว่า “อะไรคืออะไร” ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อไม่ให้สื่อมวลชนใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น

สิทธิเสรีภาพเป็นของประชาชน ขณะที่สื่อมวลชนซึ่งกระจายออกไปกว้างขวางนำสิทธิเสรีภาพนั้นมาใช้จึงต้องใช้อย่างรับผิดชอบ มิใช่จะใช้อย่างขาดวิจารณญาณและไร้ซึ่งจริยธรรมแห่งอาชีพ หรือวิชาชีพ

เพราะการเกี่ยวข้องกับ “มวลชน” ต้องเข้าใจถึงผลกระทบและความเสียหายอันจะเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น ดังนั้น ทุกสังคมจึงต้องมีกติกา คือกฎหมายที่ป้องกันมิให้คนในสังคมไปล่วงละเมิดผู้อื่น ไม่ว่าในทางใด แม้แต่ “ชื่อเสียง” ของบุคคลนั้น ขณะที่บุคคลและสื่อมวลชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ หรือติชมองค์กร บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคม อันมิใช่เป็นการส่วนตัว เพื่อมิให้องค์กรหรือบุคคลนั้นสร้างความเสื่อมเสียหรือเสียหายให้เกิดกับสังคม

หากมีกฎหมายมาปิดกั้นเสรีภาพสื่อมวลชนเสียแล้ว ประชาชนก็ไม่สามารถทราบหรือเข้าถึงข้อมูลขององค์กรหรือบุคคลนั้นซึ่งอาจนำความเสียหายให้เกิดกับสังคมได้

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image