คอลัมน์ โลกสองวัย : นโยบายวิจัยประเทศ 4.0

บ่ายวันนี้ (พฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์) 13.30-16.00 น. ที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วิทยาเขตพัฒนาการ ซอยพัฒนาการ 37 ถนนพัฒนาการ มีรายการเสวนานโยบายสาธารณะร่วมสมัย (Contemporary Public Policy Dialogue) เรื่อง “นโยบายการวิจัยของประเทศไทยในยุค 4.0”

ผู้เสวนา ศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ พงศ์พิชญามาตย์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยเพื่อนวัตกรรม คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ผู้ร่วมเสวนา รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล ขันธไชย ผู้อำนวยการหลักสูตรนโยบายสาธารณะและการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

เชิญดุษฎีบัณฑิตหลักสูตรนโยบายสาธารณะและการจัดการทุกรุ่นและผู้สนใจเข้าร่วมพร้อมเพรียงกัน

รายการเสวนาครั้งนี้ รับผู้เข้าร่วมโครงการเพียง 70 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

Advertisement

นโยบายสาธารณะในประเทศไทยมีการเรียนการสอนหลายมหาวิทยาลัย ชื่อหลักคือ “นโยบายสาธารณะ” มีรายการต่อท้าย เช่นของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต คือนโยบายสาธารณะและการจัดการ เป็นการเรียนการสอนระดับปริญญาเอก เปิดเรียนเมื่อปีการศึกษา 2552 รวม 4 รุ่น สำเร็จการศึกษาเป็นดุษฎีบัณฑิตไปแล้วจำนวนหนึ่งในแต่ละรุ่นรวม 3 รุ่น

หลักสูตรนี้ อาจารย์ ดร.อาณัฐชัย รัตตกุล ดุษฎีบัณฑิตวิชานโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง นำมาเปิดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายสาธารณะและการจัดการ

นักศึกษารุ่นแรก มีพลเอก พลเรือโท พลตรี และพันเอก (พิเศษ) คุณหญิง (หม่อมราชวงศ์) คุณหญิง (ตราตั้ง) นักกฎหมายอิสระ ผู้ช่วยคณบดี อดีตผู้อำนวยการเขต นักธุรกิจ สื่อมวลชน นักการธนาคาร พยาบาลวิชาชีพ ผู้อำนวยการโครงการ นักบัญชี ฯลฯ กว่า 30 คน

Advertisement

การเรียนระดับปริญญาเอกไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ยิ่งเป็นการเรียนเย็นวันทำงานและวันเสาร์ หากเข้าห้องเรียนมั่งไม่เข้าห้องเรียนมั่ง เพียงภาคเรียนแรกบางคนจึงถอดใจ หยุดเรียน

การเรียนระดับปริญญาเอกต้องมีการสอบเช่นเดียวกับการเรียนระดับปริญญาตรี และปริญญาโท

แต่การสอบในบางรายวิชาไม่ใช่เป็นการตอบคำถาม หากเป็นการประยุกต์คำตอบจากวิชาที่ร่ำเรียนมา เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดผนวกกับความรู้และทฤษฎี ว่าจะนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้อย่างไร

เมื่อขึ้นสู่ชั้นเรียนปีที่สอง วิชาที่เรียนค่อนไปในแนวทางปรัชญาตามหลักสูตร “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” อาจารย์ผู้สอนมิได้สอนตามตำรา เป็นการสอนในรูปแบบการสนทนาและให้นักศึกษานำทฤษฎีมาใช้ในการตอบคำถาม จะได้ทราบว่าสมมุติฐาน ทฤษฎี สร้างขึ้นมาได้อย่างไร จึงเป็นไปตามเรื่องที่เราต้องการวิจัย

หลักของการศึกษาเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อให้เด็กรู้จักการใช้สองมือและสมองสอดคล้องกัน โตขึ้นมาให้รู้จักจดจำสีและขนาด กระทั่งรู้จักการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ที่สุดคือการคิดเลข และสามารถจดจำเรื่องที่เรียน เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์เบื้องต้น

กระทั่งการเรียนอาชีวศึกษา คือการเรียนเพื่อปฏิบัติให้เกิดอาชีพ ส่วนการเรียนระดับปริญญาตรีเพื่อให้รู้จักการค้นคว้าและการอ่านหนังสือในห้องสมุดและหนังสือทั่วไปที่เกี่ยวกับวิชาทั้งหลาย

ปริญญาโท เรียนเพื่อให้รู้ถึงระเบียบวิธีวิจัย และการอ้างอิง กระทั่งปริญญาเอกเรียนเพื่อนำไปสู่การวิจัยและเกิดองค์ความรู้ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือต่อยอดองค์ความรู้นั้น จะได้นำมาพัฒนาต่อไป

เมื่อสัปดาห์ปลายเดือนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตผลิตดุษฎีบัณฑิตเพิ่มอีก 20 คน เป็นดุษฎีบัณฑิตด้านจิตวิทยา 9 คน ดุษฎีบัณฑิตด้านนโยบายสาธารณะและการจัดการ 11 คน

หวังว่า “ดอกเตอร์ป้ายแดง” ทั้งสองสาขาวิชาจะได้นำความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image