พระสังฆราชองค์ใหม่ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

สมเด็จพระสังฆราช

เป็นข่าวมหามงคลของคนไทยและพุทธศาสนิกชนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่

ทรงพระนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากสมเด็จพระญาณสังวรฯสิ้นพระชนม์เมื่อ 24 ต.ค.2556

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ในวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ.นี้ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญยิ่งอีกหน้าหนึ่ง

Advertisement

พระนาม “อริยวงศาคตญาณ” มีตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ ทรงสถาปนาพระสังฆราช พระนามว่า สมเด็จพระอริยวงษญาณ

ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาพระราชาคณะ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อู่) วัดสุทัศนฯ โดยปรับนามจาก สมเด็จพระอริยวงษญาณ

รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) เป็นสมเด็จพระสังฆราชในราชทินนามเดิม

Advertisement

จึงใช้เป็นพระนามของสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นสามัญชนมานับแต่นั้น เว้น สมเด็จพระญาณสังวรฯ พระองค์ที่ 19 ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดฯให้สถาปนาในพระนามเดิม

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่นี้ เป็นผู้มีกิตติศัพท์ว่า ทรงมีศีลาจารวัตร เยือกเย็น และสมถะ

ทรงเป็นชาว จ.ราชบุรี บรรพชาที่วัดสัตตนารถปริวัตร เมื่อ พ.ศ.2480 อุปสมบทเมื่อ 9 พ.ค.2491 ที่วัดราชบพิธฯ

โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) ขณะเป็นพระเทพโมลี เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ เป็นพระอุปัชฌาย์

สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ขณะเป็นพระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ในทางวิชาการ ถือว่าเพียบพร้อม ทรงเป็นเปรียญธรรม 6 ประโยค, ศาสนศาสตรบันฑิต จากมหามกุฏราชวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ.2500 ทรงจบปริญญาโท ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่มหาวิทยาลัยพาราณสี ฮินดู ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2512

ทรงเป็นหัวหน้าคณะพระธรรมทูตไปเผยแผ่ศาสนาที่ออสเตรเลีย ในห้วงปี 2516

ทรงเป็นศิษย์ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร พระเถระสายกรรมฐาน แห่งวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ที่พุทธศาสนิกชนรู้จักและเคารพสักการะ

ความสมถะของพระองค์ ดังที่กล่าวกันว่า ไม่ทรงสะสม การเดินทางไปไหนมาไหน ใช้รถของทางราชการ คือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

วงการศาสนาหลายๆ ปีมานี้ สะท้อนความวุ่นวายในบ้านเมือง แม้ชาวพุทธยึดมั่นในหลักธรรมขององค์พระศาสดาก็ยังอดหวั่นไหวตามไปด้วยไม่ได้

การสถาปนาพระสังฆราชครั้งนี้ นอกจากเป็นไปตามโบราณราชประเพณี ตามกฎหมายบ้านเมืองแล้ว

ยังมีผลสร้างเสริมเติมขวัญกำลังใจของสังคมไทยอย่างสำคัญด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image