เหลือเกินจะ’ฮา!’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

การจัดการอะไรต่ออะไรในบ้านเมืองของเรานี้ ยิ่งดูๆ ไปมีเรื่องน่าสนุกสนานอยู่ไม่น้อย

ล่าสุดข้อเสนออย่างเป็นทางการของ “คณะรัฐมนตรี” ที่มีไปถึง “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีทั้งหมด 7 หน้า 16 ข้อ

ข้อที่ดูแล้วยิ่งคิดยิ่งน่าสนุกคือข้อ 16 ที่คณะรัฐมนตรีบอกว่า “มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญกันมาก เป็นความไม่วางใจ และไม่แน่ใจในระบบตัวบุคคลที่จะนำเข้าสู่ระบบ อาจจะทำให้เกิดความโกลาหล ขัดแย้ง ไม่เรียบร้อย เข้าสู่ภาวะรัฐที่ล้มเหลวดังเช่นก่อน พ.ศ.2557 ย้อนกลับมาอีกหลังการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

อ่านดูแล้วน่าจะหมายความว่า “คณะรัฐมนตรี” เห็นว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่สร้างความไม่วางใจในตัวบุคคลที่จะเข้ามาสู่โครงสร้างอำนาจ” และคิดว่าจะทำให้เกิดความยุ่งยาก แตกแยกกันอีกครั้งเหมือนกับก่อนที่กองทัพต้องเข้าควบคุมอำนาจเพราะประเทศจะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว

Advertisement

คณะรัฐมนตรียังเหมือนจะกังวลว่า “การประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้นก่อน พ.ศ.2557 จะย้อนกลับมาอีก อาทิ ปัญหาการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล ปัญหาความมั่นคง เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ และคุณธรรมของคนในชาติ”

นั่นหมายความว่า “คณะรัฐมนตรี” ได้แสดงความเป็นห่วงมากมายว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้” ถ้าประกาศใช้ มีแนวโน้มว่า “ประเทศจะไปไม่รอด จะกลายเป็นรัฐล้มเหลวขึ้นมาอีกครั้ง”

ซึ่งว่าไปเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะไม่ใช่เฉพาะ “คณะรัฐมนตรี” หรอกที่มองเห็นแนวโน้มเช่นนั้น ผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาระดับหนึ่งย่อมมองเห็นได้ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์แทบจะเรียกว่ายับเยินจากฝ่ายต่างๆ แทบจะเรียกได้ว่าประสานเสียง หากประกาศใช้ มีแนวโน้มที่บางคนถึงขนาดเชื่อว่าจะสร้างความแตกแยกอย่างรุนแรงให้คนในชาติเสียยิ่งกว่าที่เคยเกิดขึ้นเสียอีก

Advertisement

ทำนองว่า “รัฐธรรมนูญ” จะกลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งครั้งใหญ่

จากข้อเสนอดังกล่าวของ “คณะรัฐมนตรี” คล้ายกับว่าไม่ได้คิดแตกต่างจากการวิเคราะห์ของคนอื่นๆ

“ความยุ่งยากเกิดขึ้นแน่ถ้าประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

เพียงแต่ที่บอกว่า “น่าสนุกสนาน” นั้นอยู่ที่

เมื่อเห็นว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างปัญหาใหญ่แน่หากประกาศใช้” แทนที่จะคิดแก้ปัญหาด้วยการหาทางแก้ไขไม่ให้รัฐธรรมนูญเป็น “ชนวนของความแตกแยก”

ว่ากันให้ตรงๆ คือ “อย่าไปประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่คาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าจะสร้างปัญหารุนแรง” ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องปกติของการแก้ปัญหา

เป็นวิธีแก้ที่ตรงไปตรงมาที่สุด

แต่กลับกลายเป็นว่า “คณะรัฐมนตรี” ได้เสนอต่อ “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” โดยชี้ให้เห็นทางสวรรค์ว่า “คณะรัฐมนตรีจึงเห็นว่าต้องบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วง คือช่วงเฉพาะกิจ หรือเฉพาะกาลในระยะแรก อาจไม่ยาวนาน โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่งเหมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นของสถานการณ์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่อยู่บนพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ในระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน และในช่วง 2 จะใช้รัฐธรรมนูญปกติ สอดคล้องกับหลักสากล และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่างๆ ลงไปมาก น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและนานาชาติได้”

อ่านแล้วใครจะไปทนกลั้นหัวเราะได้ไหว

คณะรัฐมนตรีที่มีหน้าที่จัดการแก้ปัญหาให้ประเทศ เมื่อเห็นปัญหาอยู่ทนโท่ว่า หากประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญ” ตามร่างนี้ ประเทศจะโกลาหลถึงขนาดกลายเป็น “รัฐล้มเหลว” แทนที่จะหาทางหยุดยั้งการประกาศใช้

กลับคิดไปไกลอีกขั้น โดยใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสเสนอให้เขียนรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุม “การควบคุมอำนาจไปอีกระยะหนึ่งเพื่อป้องกันความโกลาหล” นั้นเสียเลย

ฟังเผินๆ ก็มีสมควรแก่เหตุ

แต่มาย้อนคิดให้ดีแล้ว “สุดยอดวิธีคิดจริงๆ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image