สุจิตต์ จี้คืน ‘โกลเด้นบอย’ กลับถิ่นกำเนิด ละหานทราย บุรีรัมย์

ขอขมา - ภาพเมื่อครั้งผู้นำชุมชนและชาวบ้านบ้านยางโป่งสะเดา ต. ตาจง อ. ละหานทราย จ. บุรีรัมย์ สถานที่ขุดพบประติมากรรมสำริด “โกลเด้นบอย” ร่วมทำพิธีขอขมา หลังทราบข่าว พิพิธภัณฑ์สหรัฐส่งคืนกลับไทย และเตรียมจัดพิธีบวงสรวงใหญ่ (ภาพและคำบรรยายจาก ข่าวสด ฉบับวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2567 หน้า 1)

โกลเด้นบอย กลับถิ่นกำเนิด ละหานทราย บุรีรัมย์ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

โกลเด้นบอย ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทอง ควรกลับถิ่นกำเนิด บ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ โดยไม่ต้องจำลอง (ตามที่เป็นข่าว)

โครงสร้างรัฐราชการรวบอำนาจรวมศูนย์ที่สืบเนื่องยาวนาน ทำให้ข้าราชการประจำไม่คิดคืนโกลเด้นบอยให้ถิ่นกำเนิดด้วยข้ออ้างสารพัด ซึ่งเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อพบโบราณวัตถุจากท้องถิ่นที่ชนชั้นนำคิดว่าสำคัญต่อชนชั้นของตนและบริวาร โดยเฉพาะอ้างความปลอดภัย ทั้งๆ ป้องกันได้ด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้ซึ่งก้าวหน้ามากใครๆ ก็รู้

รัฐบาลถ้าจริงจังอย่างจริงใจต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น ก็ต้องเร่งคืนโกลเด้นบอยให้ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ พร้อมจัดงบประมาณสร้างอาคารสถานที่ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยสร้างความปลอดภัยและป้องกันอย่างแข็งแรง

Advertisement

รัฐบาลอย่าปล่อยให้ข้าราชการประจำวางตนเป็นนายแสดงอำนาจบาตรใหญ่เรื่องโกลเด้นบอยว่า “ต้องเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เนื่องจากต้องศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์” (มติชน ศุกร์ 24 พฤษภาคม 2567)

เพราะแท้จริงแล้วจะศึกษาข้อมูลอะไรๆ ก็ทำได้โดยไม่ต้องยึดครองด้วยการสร้างอาณานิคมภายใน

ทางที่ดีที่ถูกที่ควรต้องนอบน้อมถ่อมตนและเคารพความเท่าเทียม ก็คืออธิบายความจำเป็นว่าจัดแสดงชั่วคราวในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อรอเวลาปรึกษาหารือกับท้องถิ่นว่าจะบริหารจัดการอย่างไรเพื่อคืนสู่ถิ่นกำเนิดอย่างปลอดภัย ซึ่งท้องถิ่นปรารถนาให้คืนถิ่นกำเนิดอยู่แล้ว จึงร่วมกันสร้าง “ศาลตายาย” ไว้บริเวณที่พบโกลเด้นบอย มีในข่าวสดจะคัดมาดังนี้

Advertisement

ที่ จ.บุรีรัมย์ ทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตาจง อ.ละหานทราย พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านทั้งสองหมู่บ้าน คือ ม.1 บ้านยางโป่งสะเดา และ ม.20 บ้านหนองยาง รวมถึงกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่ เตรียมประกอบพิธีกรรมบวงสรวงเทวรูปโกลเด้นบอย ประติมากรรมสำริด พระศิวะ อย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 18 ก.ค.67 บริเวณจุดที่ขุดค้นพบ ซึ่งปัจจุบันถูกปรับสภาพกลายเป็นศาลากลางหมู่บ้าน และมีการก่อสร้างศาลตายายด้วย

นายมนตรี มูระคา ผู้ใหญ่บ้านหนองยาง ม.20 กล่าวว่า หลังทางสหรัฐได้ส่งมอบเทวรูปโกลเด้นบอยคืนให้กับไทย ชาวบ้านต่างก็ดีใจแต่ส่วนใหญ่ยังไม่สะดวกเดินทางไปร่วมในพิธีรับมอบที่กรุงเทพฯ แต่หากมีโอกาสก็จะเดินทางไปสักการะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเองสักครั้ง ส่วนพิธีบวงสรวงก็มีกำหนดการที่จะจัดขึ้นในวันที่ 18 ก.ค.67 โดยช่วงเช้าก็จะมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จากนั้นก็จะทำพิธีบวงสรวง ส่วนรายละเอียดการประกอบพิธีบวงสรวง ก็จะมีการหารือกันอีกครั้งว่าจะมีรายละเอียดอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความแหมาะสม ส่วนผู้ที่มาร่วมงานก็คาดว่าน่าจะมีหน่วยงานราชการ นักวิชาการที่มีส่วนร่วมในการทวงคืน อำเภอ อบต. ผู้นำชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงญาติพี่น้องของคนที่ขุดค้นพบด้วย อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 มี.ค.67 ที่ผ่านมา ก็ได้ประกอบพิธีขอขมาตามความเชื่อไปแล้ว

ทั้งนี้ทาง อบต.และผู้นำชุมชนก็จะมีการร่วมหารือกับหน่วยราชการ กรมศิลปากร และ อบต. เกี่ยวกับการก่อสร้างปราสาทจำลอง และรูปปั้นโกลเด้นบอยจำลอง เพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถาน ให้ชาวบ้านได้กราบไหว้ด้วย เพราะเชื่อว่าเป็นโบราณวัตถุเก่าแก่ที่ประเมินค่าไม่ได้ และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

(ที่มา : ข่าวสด ฉบับวันศุกร์ที่ 24 พฤาภาคม 2567 หน้า 1, 11)

โกลเด้นบอยเป็นรูปสัญลักษณ์ผีบรรพชนของคนลุ่มน้ำมูล เมื่อเรือน พ.ศ.1600 ซึ่งชนชั้นนำเรียก “เทพบิดร” (หรือ “เชษฐบิดร”) นักวิชาการกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าเป็นพระเจ้าชัยวรรมัน ที่ 6 ส่วนคนทั่วไปเรียกผีบรรพชนหลายชื่อ ได้แก่ ผีตายาย (หรือผีปู่ตา, ผีตาปู่) ขึ้นอยู่กับคนในชุมชนจะเรียกขาน ทั้งหมดเหล่านี้เป็นความเชื่อเชื่อมโยงร่วมกันอย่างงดงามและร่มเย็น

ทบทวนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น “โกลเด้นบอย”

โกลเด้นบอยเป็นประติมากรรมสำริดกะไหล่ทอง แสดงรูปสัญลักษณ์ผีบรรพชน (หรือเทพบิดร, เชษฐบิดร) ฝีมือช่างแบบลุ่มน้ำมูล ที่ราบสูงโคราช เรือน พ.ศ.1600

พื้นที่ทรัพยากร พบที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์

ที่ราบเชิงเขาพนมดงรัก (1.) บนเส้นทางช่องเขาลงที่ราบลุ่มเขตกัมพูชา เรียกช่องบาระแนะ, ช่องโอบก (2.) แหล่งโลหะเหล็ก (3.) แหล่งเตาเผาภาชนะเครื่องถ้วยสีน้ำตาล

ดินแดนมหิธร ดินแดนในอำนาจของราชวงศ์มหิธร มีศูนย์กลางใหญ่อยู่เมืองพิมาย มีศูนย์กลางญาติอยู่เมืองพนมรุ้ง

[เมืองพิมายเป็นศูนย์กลางอำนาจการเมืองของราชวงศ์ “มหิธรปุระ” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต อ่านอย่างเคร่งครัดว่า “มะ-หิ-ทะ-ระ-ปุ-ระ” หมายถึงเมืองมหิธร ดังนั้นปรับให้คุ้นลิ้นคนทั่วไปว่า “ราชวงศ์มหิธร” คำว่า มหิธร มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่าเทพแห่งขุนเขา หมายถึงเจ้าแห่งที่ราบสูง]

เมืองเครือญาติและเครือข่ายการค้าสำคัญ 2 ด้าน คือ ตะวันออก-ตะวันตก

ตะวันออก ประชิดพื้นที่อำนาจราชวงศ์จิตรเสน (เจนละ) มีศูนย์กลางอยู่ปราสาทวัดพู (เมืองจำปาสัก ในลาว)

ตะวันตก ประชิดพื้นที่อำนาจของกลุ่มสยามดั้งเดิม มีศูนย์กลางอยู่เมืองเสมา (อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา)

สยามดั้งเดิม พื้นที่มีคนหลายชาติพันธุ์ พูดหลายภาษา โดยมีภาษากลางเป็นภาษาไท-ไต ถูกคนภายนอกเรียกสยาม ส่วนเขมรเรียกเสียม (มีภาพสลัก “เสียมกุก” บนปราสาทนครวัด)

ศูนย์กลางอำนาจอยู่เมืองเสมา (อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) เครือญาติ “เมืองแฝด” อยู่เมืองศรีเทพ (อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์) และเมืองฝ้าย (จ.บุรีรัมย์) เครือข่ายถึงเมืองละโว้ (จ.ลพบุรี)

สยามดั้งเดิมต่อไปข้างหน้ามีอำนาจในอโยธยาและอยุธยา ขยายถึงเมืองพิมาย-เมืองพนมรุ้ง ทำให้ดินแดน “โกลเด้นบอย” ถูกผนวกเป็นชาวสยาม พูดภาษาไทย ปัจจุบันเรียกตนเป็นไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image