ที่มา | มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | คอลัมน์หน้า 3 มติชน |
มองมองผ่าน “วิกฤต” อันเนื่องแต่ปัญหาราคายางพาราที่หล่นรูดลงไปกองอยู่ที่ “4 โล 100 บาท” เรามองเห็นอะไร มองเห็นใคร
1 มองเห็น “ชาวสวนยาง” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคน “ภาคใต้”
ขณะเดียวกัน 1 เรามองเห็นการปรากฏตัวของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ การปรากฏตัวของ นายถาวร เสนเนียม
“ท่าน” เหล่านี้ล้วนเป็น “คนกันเอง”
เช่นเดียวกับ เมื่อมองผ่าน “วิกฤต” อันเนื่องแต่การมีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ปลด “บอร์ด สสส.” จำนวน 7 คน
1 เรามองเห็น นพ.วิชัย โชควิวัฒน 1 เรามองเห็น “เครือข่าย” สสส.
จากนั้น จึงค่อยเห็นการปรากฏตัวและความเห็นไม่ว่าจtเป็น นพ.ประเวศ วะสี ไม่ว่าจะเป็น นพ.มงคล ณ สงขลา
“ท่าน” เหล่านี้ล้วนเป็น “คนกันเอง”
เป็น “คนกันเอง” เหมือนกันการปรากฏตัวของ นายไพศาล พืชมงคล นายไพบูลย์ นิติตะวัน และพระพุทธอิสระ ในความพยายามสกัดขัดขวางเส้นทางของ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ)
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องของ “คนกันเอง” ทั้งสิ้น
เหตุใดจึงเรียก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าเป็น “คนกันเอง” เหตุใดจึงเรียก นพ.วิชัย โชควิวัฒน ว่าเป็น “คนกันเอง”
เหตุใดจึงเรียก “3 พ.” ว่าเป็น “คนกันเอง”
มิใช่เพียงเพราะว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน เคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มิใช่เพราะว่านายไพศาล พืชมงคล เป็นกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และมิใช่เพียงเพราะว่า พระพุทธอิสระ เป็นอาจารย์ที่หลายคนใน คสช.ให้ความเคารพนับถือ
หากที่สำคัญ “ท่าน” เหล่านี้ล้วนเคยมี “กิจกรรม” ร่วมกันมา
ไม่เพียงแต่มีส่วนอย่างสำคัญในการแสดงบทบาทในการ “ปูทาง” และสร้าง “เงื่อนไข” ให้กับกระบวนการรัฐประหาร
ไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
หากที่สำคัญก็คือ “ท่าน” เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยเหลือและให้ความร่วมมือทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้กับ คสช.และให้กับรัฐบาล อย่างแนบแน่น
เรียกได้ว่า “หายใจร่วมรูจมูก” เดียวกัน ก็ย่อมได้
เพราะว่าตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทั่งถึงรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ล้วนแล้วแต่มี “ศัตรู” ตัวเดียวกัน มี “เป้าหมาย” ในการโค่นล้ม ทำลายล้างอย่างเดียวกัน
แล้วเหตุใดจึง “หงุดหงิด” แล้วเหตุใดจึงสำแดงภาวะ “อึดอัด”
ความอึดอัดของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นอย่างเดียวกันกับความอึดอัดของเกษตรกรชาวสวนยางในเรื่องราคายางที่ทรุดเสื่อม ตกต่ำ
จัดว่าเป็นปัญหาในทาง “เศรษฐกิจ”
ความอึดอัดของ นพ.ประเวศ วะสี ความอึดอัดของ นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นความอึดอัดอย่างเดียวกันกับความอึดอัดของ นพ.วิชัย โชควิวัฒน
อึดอัดเพราะถูก “รุกล้ำ” แทรกแซงผ่านกระบวนการ “บอร์ด สสส.”
เป็นเรื่องของ “การเมือง” ซึ่งเบียดขบกันภายใน “ประชาคมสาธารณสุข” และดึงเอาทหาร เอา คสช.มาสำแดงพลานุภาพ
เป็นการอาศัย “คสช.” เป็นอาวุธและเป็น “เครื่องมือ”
ความอึดอัดของ นายไพศาล พืชมงคล ความอึดอัดของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และความอึดอัดของพระพุทธอิสระ เป็นความอึดอัดที่ทนไม่ได้หาก สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) จะได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช
เป็นเรื่องในการ “พระศาสนา”
เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เพราะมองและประเมินความเป็นเนื้อเดียวระหว่าง “วัดปากน้ำ” กับสำนัก “วัดพระธรรมกาย”
ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่บนบ่าและความรับผิดชอบของ คสช. และของรัฐบาล
มีความเด่นชัดอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าเรื่องยางพารา ไม่ว่าเรื่องบอร์ด สสส. ไม่ว่าเรื่องสมเด็จพระสังฆราช
ไม่ได้เป็นปัญหาอันมาจากพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เป็นปัญหาอันมาจากคนเสื้อแดง ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับ นายจตุพร พรหมพันธุ์
เป็นเรื่องของ “คนกันเอง” เป็นเรื่องของ “พวกเดียวกัน”