ผู้เขียน | ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ⦁ พิชิต รัชตพิบุลภพ มีชัย ออสุวรรณ ⦁ เมรดี อินอ่อน |
---|
ดุลยภาพดุลยพินิจ : นักเรียนลดลง-นักเรียนเพิ่มขึ้น
ส่งสัญญาณต่อพลวัตเมืองอย่างไร
ประชากรลดลงในภาพรวม แต่มิได้หมายความว่าทุกพื้นที่ (จังหวัด/อำเภอ) ประชากรจะต้องลดลงเป็นแบบแผนเดียวกัน ความจริงบางพื้นที่ประชากรและเด็กเพิ่มขึ้น ในขณะที่บางพื้นที่ลดลง ส่งผลลัพธ์ต่อเศรษฐกิจเมืองและการจัดบริการสาธารณะท้องถิ่นทั้งทางบวกหรือทางลบอย่างมีนัยสำคัญ ในโอกาสนี้ขอนำผลงานวิจัยเล็กๆ มานำเสนอ โดยศึกษาสถิตินักเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วัดความเปลี่ยนแปลงรอบสิบปี (2555 ถึง 2565) พร้อมข้อสังเกตและวิจารณ์เชิงนโยบายตามสมควร
ก่อนอื่นผู้วิจัยขอแสดงความขอบคุณ สพฐ.ได้กรุณาจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่เป็นรายสถานศึกษาทั่วประเทศ ผู้วิจัยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลง ผลในตารางที่ 1 ระบุว่าจำนวนสถานศึกษาในปีต้น 31,116 แห่ง สิบปีต่อมาลดเหลือ 29,449 แห่ง จำนวนผู้เรียนลดลงจาก 7.3 ล้านคน เหลือ 6.6 ล้านคน อัตราการลดลงกว่า 7 แสนคน พร้อมแสดงข้อมูลรายภูมิภาคโดยสังเกตว่า ทุกภาคผู้เรียนลดลง ยกเว้นภาคใต้เท่านั้นที่จำนวนผู้เรียนเท่าเดิม (หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย)
หลักการสำคัญคือการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ จึงประมวลข้อมูลสถิติเป็นรายอำเภอ (เรียกย่อว่า pvamphur) เพื่อทดสอบข้อสันนิษฐาน หรือตอบคำถามว่า อำเภอใดที่ผู้เรียนลดลงมาก? อำเภอใดจำนวนผู้เรียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ?
ในจำนวน 872 อำเภอพบว่ามี 753 อำเภอที่จำนวนผู้เรียนลดลง รูปภาพที่ 1 แสดงอำเภอที่จำนวนผู้เรียนลดลงค่อนข้างมาก (3 พันคนขึ้นไป) กราฟด้านซ้ายมือแสดงจำนวนผู้เรียนที่ลดลง ส่วนใหญ่จากภาคอีสาน นอกภาคอีสานและมี อ.เมืองนครปฐม/อ.เมืองนนทบุรี ที่ลดลงมากเช่นเดียวกัน
ในทางตรงกันข้ามมีจำนวน 100 กว่าอำเภอที่จำนวนผู้เรียนเพิ่มขึ้น รูปภาพที่ 2 แสดงอำเภอที่มีจำนวนผู้เรียนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก (1,500 คนขึ้นไป)
จากรูปภาพข้างต้น ระบุว่าอำเภอที่มีผู้เรียนเพิ่มขึ้นอยู่ในจังหวัด/อำเภออะไร? ในภาคเหนือ เชียงใหม่ ตากมีสถิติผู้เรียนเพิ่มขึ้น ในภาคตะวันออกชลบุรี ระยอง ในภาคกลางปทุมธานี และนนทบุรี พร้อมข้อสังเกตว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจดี โอกาสการจ้างงานสูง มีโรงงานและสถานประกอบการธุรกิจตั้งอยู่ ดังนั้น ผลดึงดูดผู้ใช้แรงงาน (รวมทั้งประชากรเด็ก) เข้ามาพำนักอาศัยในเขตพื้นที่ โดยอาจจะโอนทะเบียนมาเต็มตัว หรือเป็นประชากรแฝง
ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ส่งผลลัพธ์ต่อการบริหารเมือง การจัดบริการสาธารณะและการคลังท้องถิ่น เด็กนักเรียนมีค่าหัว (เงินอุดหนุนของรัฐบาลและงบประมาณท้องถิ่นเพิ่มเติม) หลายพันบาทต่อคน ดังนั้น ถ้าจำนวนนักเรียนลดลงพันคนในอำเภอแห่งหนึ่ง เงินอุดหนุนจะลดลงเป็นหลักหลายล้านบาท ทำนองตรงกันข้ามการที่มีนักเรียนเพิ่มขึ้นส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจเมือง ซึ่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของเด็กนักเรียน โดยเฉลี่ยรายจ่ายดูแลเด็กรวมทุกมิติหลายหมื่นบาทต่อปี (ยิ่งในครัวเรือนคนชั้นกลาง หรือคนรวยรายจ่ายของเด็กเป็นหลักแสนบาทต่อคนต่อปี) นี้คือกำลังซื้อจากกลุ่มนักเรียน กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ อ.ศรีราชา มีจำนวนผู้เรียนในสังกัด สพฐ. เพิ่มขึ้น 6,969 คน หากคูณด้วย 1 แสนบาทต่อคนต่อปี (ค่าสมมุติ) หมายถึงกำลังซื้อเพิ่มขึ้น 696.9 ล้านบาทเฉพาะเด็กนักเรียน ความจริงยังมีผลกระทบต่อเนื่องที่เรียกว่า “ตัวทวีคูณท้องถิ่น” (local multiplier) เราไม่ทราบว่ามีค่าเท่าใด? เป็นอีกหัวข้อการวิจัยที่น่าศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต