แนวโน้ม’การเมือง’ แนวโน้ม’การเลือกตั้ง’ ‘ปรองดอง’ต้องมาก่อน

ข่าวดีสำหรับคนไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ ข่าวการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ เป็น สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกขานพระนามว่า สมเด็จขาวŽ เป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ที่มีพระจริยวัตรเรียบง่าย

พระองค์ทรงมีความเชี่ยวชาญด้านพระธรรม ทรงนำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ออกเผยแผ่จากไทยสู่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

ทรงพระปรีชาด้านภาษา และมีวัตรปฏิบัติในร่มกาสาวพัสตร์ที่งดงาม

Advertisement

สมแล้วที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

ถือเป็นข่าวมหามงคล ซึ่ง ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ จะมีพระราชพิธีสถาปนา วัดทุกวัดจะย่ำฆ้องย่ำระฆังในห้วงเวลาดังกล่าว

ถือเป็นการถวายพระเกียรติ

Advertisement

และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ปวงชนชาวไทย

 

ขณะที่ข่าวดีดังกล่าวแพร่กระจายออกไป ข่าวดีจากฝ่ายรัฐบาลก็สอดรับเข้ามาเสริม เมื่อคณะกรรมการ ป.ย.ป.ประกาศดีเดย์วันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้

ป.ย.ป.ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง โดยแบ่งคณะทำงานออกเป็น 4 ชุดใหญ่

1.คณะกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และ 4.คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง

ทุกชุดมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน โดยมอบให้รองนายกรัฐมนตรีแต่ละคนเข้าไปช่วยกำกับดูแลในแต่ละชุด

ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ดูแลคณะกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ ดูแลคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ ดูแลคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูแลคณะกรรมการเตรียมการปรองดอง

ทั้งนี้ ป.ย.ป.ได้ตั้งภารกิจขับเคลื่อนการปฏิรูป 27 วาระ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.การปฏิรูปกลไกภาครัฐ 9 วาระ 2.คน 5 วาระ 3.เครื่องมือพัฒนาฐานราก 4 วาระ 4.เศรษฐกิจอนาคต 3 วาระ ได้แก่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจดิจิทัล และ 5.โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ ผังเมือง พลังงานทดแทน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การระดมสรรพกำลังครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.ตั้งใจขับเคลื่อนการปฏิรูปและการปรองดองในปีนี้

สําหรับคณะกรรมการชุดปรองดองที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ดูแล มีคณะกรรมการรวมทั้งสิ้น 33 คน มีการประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ โดยพยายามทาบทามบุคคลในแวดวงต่างๆ เข้ามาร่วม

บ้างเป็นที่ปรึกษา บ้างเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ

บ้างก็ได้รับการตอบรับ แต่ก็มีการตอบปฏิเสธไม่ขอเข้าร่วมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การประชุมของชุดปรองดอง ได้มีข้อสรุปในเบื้องต้นให้กระบวนการปรองดองเริ่มต้นในวันวาเลนไทน์

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันดีเดย์

ที่ประชุมมีมติให้เชิญพรรคการเมืองเข้ามาพูดคุย และการพูดคุยนี้ กำหนดให้ได้ข้อยุติภายใน 3 เดือนข้างหน้า

ทุกอย่างให้ดำเนินไปในรูปแบบ สัญญาประชาคมŽ ไม่ต้องเซ็นเอ็มโอยู

ดังนั้น เมื่อกระบวนการปรองดองที่คณะของ พล.อ.ประวิตรเริ่มต้นที่พรรคการเมือง การจับตาดูความเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมืองจึงน่าสนใจ

และน่าสังเกตว่า ภายหลังจาก คสช.ส่งสัญญาณเริ่มต้นปรองดอง บรรดาพรรคการเมือง รวมทั้งกลุ่มการเมืองต่างๆ ต่างขานรับ

ความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้รับการขานรับจาก คู่ขัดแย้งŽ

ทุกฝ่ายพร้อมจะใช้เวที ป.ย.ป.เพื่อนำไปสู่การปรองดอง

ถือเป็นข่าวดีอีกชิ้น

 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของกระบวนการปรองดองเริ่มต้นข่าวคราวเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ปรากฏทางสื่อมวลชนอีกครั้ง

เป็นการปรากฏจากคำให้สัมภาษณ์ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในวันเดียวกัน

นายมีชัยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่แน่ใจว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ร่างรัฐธรรมนูญจะดำเนินการเสร็จทันปีนี้หรือไม่

เพราะการยกร่างต้องใช้เวลา และยังต้องเผื่อเวลาให้องค์กรที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ปรับตัวอีกด้วย

เท่ากับว่าโรดแมปเดิมเรื่องการเลือกตั้งที่วางไว้ต้นปี 2561 อาจจะต้องขยับอีกหน

ส่วนนายวิษณุก็ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกำหนดการเลือกตั้งในปีนี้หรือปีหน้าว่า…อย่ามาคาดคั้น

คำให้สัมภาษณ์ของนายมีชัยและนายวิษณุส่งสัญญาณเตือนตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า การเลือกตั้งอาจเลื่อนออกไปอีก

อย่าลืมว่า ก่อนหน้านี้มีการปลุกกระแส นำเสนอให้ประเทศไทยปรองดองกันก่อนเลือกตั้ง

คราครั้งนั้นมีกระแสออกมาทักท้วง คล้ายๆ กับว่าจะคัดค้าน

คล้ายๆ กับว่ากระแสที่สะพัดขึ้น เพราะ คสช.ต้องการอยู่ต่อ รัฐบาลต้องการอยู่ยาว

แต่สำหรับคราวนี้ ดูเหมือนว่าฝ่ายคัดค้านจะน้อย โดยเฉพาะน้ำเสียงของฝ่ายการเมืองพร้อมให้ความร่วมมือกับ คสช.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมไปพูดคุยกับ ป.ย.ป.

ส่วน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จากพรรคชาติพัฒนาให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่า ถ้าเราทำเรื่องปรองดองให้เสร็จก่อนเลือกตั้งได้ก็จะดีŽ

เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวจูนเข้าหาปรองดอง

ฝ่ายการเมืองกับฝ่ายทหารเริ่มจูนเข้าหากัน

 

สัญญาณจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงมีแนวโน้มว่าการเลือกตั้ง

ที่อาจจะต้องขยับออกจากโรดแมปเดิมอีก

เป็นการขยับออกไปตามความต้องการของฝ่าย คสช.ที่เคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้

เป็นการขยับที่ กปปส.เห็นพ้องกับ คสช.

แต่เป็นข้อเสนอที่ฝ่ายการเมืองเคยคัดค้านมาก่อนหน้านี้

กระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ ป.ย.ป.กำเนิดขึ้นตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะกรรมการปรองดองชุดของ พล.อ.ประวิตร ประชุม

ปฏิกิริยาของฝ่ายการเมืองที่ได้ยินคือขานรับ

เริ่มแรกก็ขานรับกระบวนการปรองดอง

ต่อมาเริ่มยอมรับข้อเสนอเดิมของ คสช. ข้อเสนอปรองดอง ข้อเสนอการเลือกตั้ง

ข้อเสนอที่ให้ปรองดองเกิดขึ้นก่อนจึงจะเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image