ปฏิรูปการศึกษาไทยจะง่ายหรือยาก ขึ้นอยู่ที่ข้อมูลและกล้าไม่กล้าเท่านั้น : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

ปฏิรูปการศึกษาง่ายนิดเดียวถ้าเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ และกล้าหาญพอ ทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาลมาบริหารบ้านเมืองไม่ว่ารัฐบาลนั้นมาด้วยวิธีใด กระทรวงศึกษาธิการมีความหมายและบทบาทยิ่งขึ้น ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา จากกระทรวงที่หลายคนไม่อยากมานั่งบริหารกลายเป็นกระทรวงเนื้อหอม งบประมาณมากลำดับต้นๆ ของประเทศ มีทั้งคน ทั้งเงิน และของ ใครมานั่งจะได้ทั้งเกียรติและกล่อง บางช่วงได้รัฐมนตรีพ่อค้าพาณิชมาบริหาร บางช่วงได้นักฉวยโอกาส ใช้กระทรวงนี้เป็นฐานเสียงหรือแหล่งผลประโยชน์จากอุปกรณ์การเรียนการสอน

เช่นยุคหนึ่ง ฉาวโฉ่เรื่องอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ หรือแจกแท็บเล็ต แจกเงิน แจกวิทยฐานะให้ฟรีๆ เสียเลย จะเห็นว่าทุกครั้งที่คิดที่ทำ ก็ยังไม่ถึงผู้เรียนอยู่ดี คิดอยู่แบบนี้นับ 100 ปี เงิน 5 แสนกว่าล้าน แม้ว่า 80% เป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนก็ตาม แต่ดูภาพรวมแล้วการปฏิรูปหรือผลงานของกระทรวงนี้น่าจะมีผลเชิงคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ และถ้าเทียบกับมาตรฐานสากลแล้ว พบว่าอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงเอามากๆ ทั้งที่ปฏิรูปกันมาหลายครั้ง

ดูได้จากผลการสอบ Pisa 2015 ล่าสุด บ้านเมืองเรามีนักคิดนักพูดเยอะ แต่ไม่มีคนทำจริง กล้าจริง เรามีผู้รู้มาก ระดับดอกเตอร์ เต็มบ้านเต็มเมือง มีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษในอัตราส่วนที่มากขึ้น โดยเฉพาะ สพฐ. มีครูที่ไม่มีวิทยฐานะเพียง 10% ใช้งบปีละ 30,000-40,000 ล้านบาท/ปี แต่คุณภาพกลับแย่ลง ผู้เขียนเป็นกรรมการ กศจ.ของจังหวัดสงขลา ประชุมมา 5-6 ครั้ง มีวาระที่พิจารณาเกือบทั้งหมดเรื่องปรับเงินเดือน ปรับตำแหน่งแทบทั้งสิ้น ไม่มีวาระเรื่องคุณภาพทางการศึกษาเลย และคาดว่าจังหวัดอื่นๆ ก็น่าจะเป็นในทำนองเดียวกัน

ประเด็นนี้ได้สะท้อนให้ท่านปนัดดา ดิศกุล รมช.ทราบบ้างแล้ว ถ้าไม่ปรับเปลี่ยน กศจ.เป็นเพียงองค์กรหนึ่งที่ทำได้เฉพาะค่าตอบแทน และรับรู้ว่าใครได้ย้าย ใครได้เป็น ผอ. ใครได้ปรับเงินเดือน
แต่ภารกิจของ กศจ.อีก 7-8 ภารกิจไม่ได้ทำ

Advertisement

ปัญหาทางด้านคุณภาพทางการศึกษาที่ผู้เขียนอยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและผู้เกี่ยวข้องควรทบทวนครั้งใหญ่ เช่น การนำเสนอปัญหาที่เป็นสาเหตุหลักๆ ให้ท่านนายกฯรับรู้ ไม่ตรงประเด็น มีการลูบหน้าปะจมูก เกรงใจข้าราชการ ปิดบังซ่อนเร้นเห็นกับพวกพ้องระบบอุปถัมภ์ตั้งแต่สอบบรรจุแต่งตั้งและเข้าสู่ตำแหน่งและการโยกย้าย ขาดหลักธรรมาภิบาลและยึดผลประโยชน์ของชาติและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ใช้เทคนิคและช่องว่างของระเบียบกฎหมายเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องและตนเอง

สิ่งที่ผู้เขียนมองเห็นใกล้ตัวมากที่สุดที่ผู้เขียนมีโอกาสสัมผัสคือการประเมินโรงเรียนในโครงการต่างๆ ที่กระทรวงให้มาขับเคลื่อน แต่หลายโครงการไร้ผล และสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการควรนำมาทบทวนและปฏิรูปครั้งใหญ่อีกเรื่องคือการคัดเลือกและสรรหา บุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา เพราะผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคคลสำคัญที่จะนำนโยบายมาแปรผลเชิงปฏิบัติและเพื่อคุณภาพ แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ปรับหลักเกณฑ์หลายๆ ประเด็นแล้วก็ตาม แต่ผู้เขียนคิดว่ายังไม่เพียงพอ สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือต้องประเมินผู้บริหารสถานศึกษาทุก 2 ปี และ 4 ปี และให้อยู่ในตำแหน่งในโรงเรียนนั้นๆ แค่ 1 วาระ หรือ 2 วาระ

ประเมินแล้วไม่ผ่านก็ให้กลับไปเป็นผู้สอน
เหมือนกับการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้บริหารในระดับอุดมศึกษาซึ่งมีขั้นตอนที่เข้มข้นพอสมควร มีการแสดงวิสัยทัศน์ให้คณะกรรมการสถานศึกษาทราบและฟังแนวคิดของผู้บริหารให้เครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมรับรู้

Advertisement

และการประเมินกระทรวงศึกษาธิการควรเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำเรื่องนี้ ปฏิรูปมาหลายเรื่อง แต่ยังแย่และมีแนวโน้มแย่กว่าเดิม

ผู้บริหารสถานศึกษาหลายคนเข้าสู่ตำแหน่งเพราะไม่อยากสอน ไม่อยากรับผิดชอบอะไร เห็นตัวอย่างผู้บริหารที่ได้ดีทั้งลาภยศ สรรเสริญสมบัติ เลยอยากเป็นบ้าง ต้องเปลี่ยนให้คนอยากเป็นคิดใหม่ว่าเป็นผู้บริหารโรงเรียนต้องคิด ต้องเหนื่อย ต้องเสียสละ ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะคุณภาพของผู้เรียน ผู้เขียนเป็นประธานและกรรมการสถานศึกษา มีโอกาสเชิญผู้บริหารและรองผู้อำนวยการมาคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทางการศึกษาก่อนการโยกย้าย พบว่าเกิน 50-60% ผู้บริหารและรองผู้อำนวยการแทบไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องการจัดการศึกษา/การวัดผล/การวางเป้าหมายในการพัฒนาและขับเคลื่อน

ยังมีอีกที่ท่านนายกฯประยุทธ์และหมอธีระเกียรติไม่รู้ ที่คนกระทรวงศึกษาธิการยังซ่อนไว้ใต้พรม ไม่พูด ไม่บอกความจริง/การปรับโครงสร้าง/ปรับหลักสูตร/เป็นงานเร่งด่วน แต่อย่าเอาโน่นเอานี่มาเพิ่มอีก น่าจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายคล้ายกับลิงติดแห/มั่ว

ปฏิรูปที่มาของผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่ใหม่ และครั้งใหญ่ดีไหม

ลองนำวิธีการคัดคนเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารขององค์กรเอกชน/ของอุดมศึกษา และรัฐวิสาหกิจทั้งของรัฐบางแห่งดูซิ ดูแล้วน่าเชื่อถือ น่าเชื่อมั่น ถ้าไม่ดีไม่เก่ง ก็ออกไป เขาประเมินให้เข้าบริหาร แต่สามารถประเมินให้ออกได้ด้วย ผิดกับของกระทรวงศึกษาธิการ ประเมินให้เข้ารับตำแหน่งแล้ว ดีไม่ดีไม่รู้ ผลงานไม่มี ประเภทความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏ ไม่ควรมีอีกแล้ว ประเภททำงานทั้งวันได้ 1,500 เดินไปเดินมาหรือเดินตามหลังนายได้ 5,000 ซึ่งสร้างความเสียหายแก่รัฐและองค์กร แต่สามารถอยู่ได้จนเกษียณ หรือโยกย้ายให้ไปแพร่เชื้อความเลวร้ายทางการศึกษาอีกแห่ง

นี่คือวงจรเลวร้ายทางการศึกษาที่ผู้นำประเทศและเจ้ากระทรวงศึกษาธิการมองไม่เห็น หรือเห็นทราบแต่ไม่กล้าทำมาโดยตลอด

ยุคนี้ ท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่แหละคือความหวังทางการศึกษาที่แท้จริง ตรงข้ามผู้บริหารคนใดเก่ง มีความรู้เสียสละและมุ่งมั่น รัฐควรดูแลให้ดีที่สุด ซึ่งมีอยู่มากมายเช่นกัน

นี่คือภาพสะท้อนที่ผู้เขียนได้พบได้เห็นได้สัมผัสมาร่วม 40 ปี ถึงเวลากระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำ วิธีติดตามประเมินและเด็ดขาดเข้มข้นโดยใช้หลักความถูกต้องและเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เพราะโรงเรียนต้องเป็นทั้งโรงเรียน โรงสอน และโรงฝึก ปัญหาทางการศึกษาของไทย ถ้าแก้แบบพายเรือในอ่างก็ยากยิ่ง ถึงเวลาท่านนายกฯประยุทธ์และหมอธีระเกียรติตัดสินใจครั้งสำคัญสำหรับการศึกษาไทยอีกครั้ง แต่ที่ยากกว่ายากคือกล้าพอที่จะคิดและวางแผนประเทศใหม่โดยใช้คุณภาพด้านการศึกษาเป็นฐาน เหมือนประเทศฮ่องกง สิงค์โปร์ และเวียดนาม หรือไม่

ท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา และหมอธีระเกียรติ คือคำตอบสุดท้ายกับอนาคตของประเทศไทย หรือว่ารอให้เสียของและเสียคน

ณรงค์ ขุ้มทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image