บทเรียน เมียนมา ผลึก’ออง ซาน ซูจี’ บทเรียน’ทหาร’

ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2531 ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง

ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ผลที่ปรากฏเหมือนกัน

นั่นก็คือ พรรค NLD ของ ออง ซาน ซูจี ได้ “ชัยชนะ”

พรรค NLD อันย่อมาจาก The National League for Democracy ซึ่งถอดเป็นภาษาไทยได้ว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย

Advertisement

เมื่อเดือนสิงหาคม 2531 ได้รับเลือกเข้ามาถึงร้อยละ 82

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ได้รับเลือกเข้ามาถึงกว่าร้อยละ 90

สะท้อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ปัจจัยทางด้าน “อำนาจ” ปัจจัยทางด้าน “ความมั่นคง” ไม่มีบทบาทและความหมายอะไรเลย

เมื่อเข้าไปสู่ “สนาม” แห่ง “การเลือกตั้ง”

ความรัก ความนิยมของ “ประชาชน” เจ้าของอำนาจ “อธิปไตย” อย่างแท้จริงต่างหาก คือ ปัจจัยชี้ขาด

ชี้ขาด “ชัยชนะ” ชี้ขาด “พ่ายแพ้”

ต้องยอมรับว่าในเมียนมา “อำนาจ” อยู่ในกำมือของ “ทหาร” เป็นอำนาจตั้งแต่เมื่อปี 2505 มาแล้ว จากยุคของนายพลเนวิน กระทั่งยุคของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย

ถามว่าปัจจัยอะไรทำให้ “ทหาร” ต้อง “พ่ายแพ้”

 

คําตอบที่มองเห็นตรงกัน ไม่ว่าจะจากตัวของ “ทหาร” ไม่ว่าจะจากตัวของ “รัฐบาลทหาร” ไม่ว่าจะจากปัญญาชนที่ “รับจ้างทำของ” ให้ทหารและรัฐบาลทหาร

คือ ความล้มเหลวในทาง “เศรษฐกิจ”

เพราะหากการบริหารตามแนวทางของ “ทหาร” ตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อปี 2505 เป็นต้นมา ประสบผลสำเร็จ คงไม่ต้องมีการ “เปิดประเทศ”

พวกเขาน่าจะ “ปิด” และ “แช่แข็ง” ประเทศต่อไป

แต่นี่เพราะว่า ยิ่งปิดและ “แช่แข็ง” ประเทศ ยิ่งสร้างความลำบากยากเข็ญให้กับประชาชน ขณะเดียวกัน ยิ่งทำให้ “ทางเลือก” ยิ่งคับแคบ ยิ่งตีบตัน

ที่น่ากลัวอย่างมากก็คือ ต้องไปงอก่องอขิง

ให้กับบาง “มหาอำนาจ”

พลันที่เมียนมา “เปิดประเทศ” หนทางเลือกก็มีเปิดกว้างมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องเลือกแต่แบบจีนเท่านั้น หากยังมีแบบญี่ปุ่น หากยังมีแบบสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังมีแบบของสหราชอาณาจักร อันเป็นความ

คุ้นเคยแต่กาลอดีต

เมื่อดำเนินนโยบาย “เปิดประเทศ” ก็มิได้เปิดเฉพาะในทาง “เศรษฐกิจ” หากจำเป็นต้องเปิดในทาง “การเมือง”

“เศรษฐกิจ” และ “การเมือง” จึงต้องไปด้วยกัน

ตัวอย่างอันน่าสยดสยองอย่างยิ่งของระบบทาง “การเมือง” ที่แตกต่างกันก็ทำให้ “ประเทศ” มีความแตกต่างอย่างหน้ามือกับหลังมือ

ทั้งๆ ที่มี “รากฐาน” อย่างเดียวกัน

ขอให้พิจารณาดูบทเรียนจากประเทศ “เกาหลีใต้” กับประเทศสาธารณรัฐประชาชนเกาหลีหรือที่รับรู้ในชื่อ “เกาหลีเหนือ” ดูเถิด

หากถือว่าการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2488 เป็นจุดเริ่มต้น

ประเทศ 1 ค่อยๆ พัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างคดเคี้ยวและวกวน ประเทศ 1 อยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์อย่างเถรตรงและคับแคบ

วันนี้ “เกาหลีใต้” อยู่ในบรรยากาศ “ประชาธิปไตย”

วันนี้ “เกาหลีเหนือ” อยู่ในบรรยากาศ “เผด็จการ” ภายใต้กฎเหล็กแห่งการปิดประเทศ คบหาสมาคมอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ

ต่างกันหรือไม่ ต่างกันมากน้อยเพียงใด

ยังดีที่ “เมียนมา” สามารถตื่นจากความหลับใหลมาได้ แม้จะยังล่าช้า ต้วมเตี้ยมเพราะความเคยชินจากที่อยู่ภายใต้ “ระบอบทหาร” มาอย่างยาวนาน แต่อย่างน้อยก็ถือได้ว่าตื่น และเริ่มสังเคราะห์และวิเคราะห์ไปยังรากเหง้าแห่งปัญหาอย่างจริงจัง

อาศัย “ประชาธิปไตย” เป็นอาวุธ อาศัย “ประชาธิปไตย” เป็นเครื่องมือ

 

ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับก็คือ อำนาจในมือ “ทหาร” ตั้งแต่เมื่อปี 2505 พิสูจน์แล้วว่าไม่เวิร์ก ไม่มีศักยภาพ

อำนาจที่มีในมือไม่สามารถเนรมิตความสำเร็จในทาง “เศรษฐกิจ” ได้ ผลก็คือ แทนที่ประชาชนจะกินอิ่ม นอนอุ่น กลับประสบความทุกข์แค้น ลำเค็ญอย่างแสนสาหัส

ประสบทั้ง “ความคับแค้นทางจิตใจ” ประสบทั้ง “ความยากไร้ทางวัตถุ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image