มหรสพคือผู้อื่น … โดย กล้า สมุทวณิช

มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าวว่า หากในที่สุดแล้ว คดีสะเทือนขวัญที่สามแยกอ่างศิลาจะเฉลยออกมาว่าเป็นเพียงการจัดฉากถ่ายทำคลิปไวรัลก็คงจะไม่แปลกใจอะไรมากนัก

ความที่ภาพเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ถูกปล่อยออกมาราวกับมีการจัดจังหวะลำดับในการเสนออย่างแยบคายคล้ายกับภาพยนตร์แนวฟาวด์ฟุตเทจชั้นดี เริ่มจากการเล่าเรื่องระยะไกลจากกล้องวงจรปิด ที่ให้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างคลุมเครือ ตามมาด้วยภาพจากกล้องติดหน้ารถของฝ่ายผู้ใช้ปืนเพื่อเล่าเรื่องราวในระยะประชิด ให้เห็นเหตุการณ์จนถึงช่วงเวลาแห่งวิกฤต จากนั้นจึงตลบหลังคนดูด้วยภาพเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เป็นชนวนเหตุ ทั้งยังเป็นภาพที่แสดงให้เห็นอีกมุมอีกด้านของฝ่ายที่เกือบจะเป็น “พระเอก” อยู่แล้ว ว่าเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้บริสุทธิ์สะอาดเป็นผู้ถูกกระทำเสียทีเดียวนัก

จังหวะการปรากฏของคลิปวิดีโอในโลกโซเชียลที่พลิกผันไปมานี้แม่นยำจนทำให้มีผู้กล่าวอย่างติดตลกว่า ต่อไปจะมีภาพจากกล้องของโดรนที่บินตามรถพิพาททั้งสองคันตามมาเป็นตัวสรุปเรื่องอีกหรือไม่

เหตุสะเทือนขวัญที่เปิดเรื่องจากข่าวแบบต่างคนต่างเล่า กับคลิปภาพที่ค่อยๆ เฉลยเหตุการณ์ ทำให้สิ่งที่สาธารณชนได้ติดตามร่วมกันตลอดสัปดาห์ที่แล้วนั้นไม่ต่างจากกำลังชมภาพยนตร์ราโชมอน หรือซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวน ทุกคนเอาใจช่วยฝ่ายที่ตัวเองเห็นว่ามีความชอบธรรม (ซึ่งเหมือนว่าโดยเอกฉันท์แล้วผู้คนในโซเชียลจะเป็น “#ทีมลุง” ที่เป็นฝ่ายใช้ปืนยิงวัยรุ่น) ไม่ต่างจากการเชียร์รายการเกมโชว์ประเภทแข่งขันร้องเพลงหรือเรียลิตี้อะไรทำนองนั้น

Advertisement

น่าเสียดายว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เกมโชว์หรือการถ่ายทำภาพยนตร์ ที่เด็กวัยรุ่นอายุ 17 ปี ผู้ถูกลูกกระสุนลงไปจมกองเลือดจะลุกขึ้นมามีชีวิตต่อไปหลังปิดกล้องได้ อีกทั้งผู้ตัดสินใจลั่นไกปืนก็มีกระบวนยุติธรรมทางอาญาที่มีโทษถึงจำคุกของจริงรออยู่

กระแสสังคมจากข่าววิศวกรยิงเด็กวัยรุ่นนั้นแสดงภาพชัดของวัฒนธรรมการเสพข่าวแบบ “ดราม่า” ที่หยั่งรากลงพร้อมกับเทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย และมาเบ่งบานเติบโตเต็มที่เมื่อระบบถ่ายวิดีโอภาพเคลื่อนไหวทั้งจากโทรศัพท์เคลื่อนที่และกล้องติดรถยนต์พัฒนาแพร่หลายไปจนเป็นเรื่องง่ายที่ใครๆ ก็สามารถนำวิดีโอความละเอียดสูงดังกล่าวนั้นขึ้นถ่ายทอดผ่านสื่อโซเชียลของตนเอง ซึ่งถ้าเรื่องของใครเกิดไปกระทบใจคนส่วนหนึ่งอันเป็นส่วนมากได้แล้ว เรื่องนั้นก็มีโอกาสที่จะถูกกระจายต่อลุกลามต่อไปสู่ความสนใจของสังคมในระดับกว้างขวางได้

ในมุมหนึ่ง อาจพออธิบายได้ว่า การที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าไป “อิน” กับเรื่อง “ดราม่า” ของผู้อื่นนี้ก็มาจากการเอาตัวเองเข้าไปแทนที่ “ตัวละคร” จนทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจหรือความรู้สึกหวาดกลัวร่วมกันของผู้คนทั้งหลายว่า ชะตากรรมเช่นนี้อาจจะเกิดกับตัวเองได้เช่นกัน ยิ่งคนส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าตัวเองมีโอกาสที่จะได้เจอเรื่องเช่นนี้มากเท่าไร “ดราม่า” นั้นย่อมเป็นกระแสแรงในสังคมมากขึ้นไปเท่านั้น

Advertisement

เช่นเหตุการณ์วิศวกรกับเด็กวัยรุ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้คนที่เสพข่าวผ่านสมาร์ทโฟนนั้นจินตนาการถึงครอบครัวคนชั้นกลางที่คล้ายๆ กับครอบครัวของตัวเอง เชื่อมโยงเอาตัวเองลงไปแทนที่คนขับรถผู้ใช้ปืน เอาใบหน้าของภรรยา แม่ และลูกของตัวเองลงไปแทนที่คนที่อยู่ในรถ แถมดีไม่ดีบางคนอาจจะเอาภาพของ “แก๊งวัยรุ่น” เกเรที่เคยมีประสบการณ์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ ใส่ลงไปแทนที่เด็ก 17 ปี ที่ถูกยิงตายและผองเพื่อนของเขา

จากนั้นจึงเอาการตัดสินใจของตัวเองมาตัดสินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นนี้ทำให้หลายคนซึ่งรวมถึงผู้มีชื่อเสียงบางคนถึงกับออกมาเชียร์ว่าการที่วิศวกรในข่าวใช้ปืนยิงใส่ผู้มารุกรานนั้นถูกต้องแล้ว หรือถ้าผิดก็เพราะยิงแค่นัดเดียว แทนที่จะใส่ไปให้หมดกระสุน

ความรู้สึก “อิน” และเอาตัวเองเข้าไปแทนที่ในสถานการณ์ที่เห็นนั้นไม่ต่างจากคนที่เอาใจช่วยตัวละครในโทรทัศน์หรือในภาพยนตร์ รวมทั้งความรู้สึกแบบการดูละครที่ว่า จะต้องมีฝ่าย “คนดี” หรือ “คนร้าย” ที่ชัดเจนเป็นขาวดำ ทำให้สามารถเชียร์หรือเป็น “#ทีม” ฝ่ายที่เป็น “คนดี” หรือ “พระเอก” ได้อย่างไม่ต้องชั่งน้ำหนักใดๆ

ความรู้สึก “อิน” เช่นว่านี้ อาจจะทำให้หลงลืมไปว่าในชีวิตจริง หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงนั้นไม่มีใครเป็น “ตัวละคร” ที่แบกบทซึ่งถูกเขียนมาให้เป็นพระเอกหรือตัวโกง ทุกคนที่อยู่ในข่าวนั้นเป็นมนุษย์จริงๆ ผู้มีภูมิหลังและพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการตัดสินใจและการกระทำ และทุกคนจะต้องรับผิดชอบผลแห่งการกระทำนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตน

การตั้งตัวเป็น “#ทีม” ของผู้คนที่อยู่ในข่าวนั้น รวมถึงรู้สึกสะใจหรือยุยงส่งเสริม ตลอดจนด่าทออีกฝ่ายที่เป็นผู้ร้ายในสายตาเรานั้น อาจจะต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เรากำลังเสพ “ความบันเทิง” ด้วยชะตากรรมของผู้อื่นหรือเปล่า

เราเชียร์ให้ใครสักคนยิงประเภทที่เราหวาดกลัวหรือเกลียดชังให้ตายดิ้นไปได้อย่างสะใจ เพราะเราไม่ใช่คนที่ต้องรับโทษตามกฎหมาย หรือคนตายก็ไม่ใช่ลูกหลานเรา ทันทีที่เราปิดโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ความผูกพันของเรากับเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นก็จบลงแค่นั้น

ผ่านไปสักสัปดาห์ “ดราม่า” เรื่องนี้ก็จะจืดจางและถูกลืมเลือนไป แต่เดี๋ยวก็จะมีเรื่องใหม่ขึ้นมาอีก ให้เราได้สนุกกับการติดตาม วิพากษ์วิจารณ์ คอยลุ้นว่าเรื่องจะพลิกไปทางไหน ฝ่ายที่เป็นพระเอกในตอนแรกจะกลับจะกลายเป็นผู้ร้ายอีกหรือเปล่า และรอบนี้เราจะเป็น “#ทีม” ใครดี

โดยที่เรื่องร้าย ความตาย และความเจ็บปวดสูญเสียอันสนุกสนานชวนติดตามนั้นเป็นแค่เรื่องของคนอื่นที่บังเอิญมาปรากฏในหน้าจอของเราเท่านั้น

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image