พลิกผัน แปรเปลี่ยน ศึกษา จาก ‘วาเลนไทน์’ ใต้วงจร ‘เศรษฐกิจ’

ทำไม “วันวาเลนไทน์” อันมาจากคริสต์ศาสนา จึงครองสถานะเหนือกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ “วันมาฆบูชา” อันมาจากพุทธศาสนา

บางคนอาจตอบว่าเพราะความเป็น “โลกาภิวัตน์”

เพราะว่ากระแสที่ครอบโลกอยู่ในปัจจุบัน เป็นกระแสจากตะวันตก เป็นกระแสจากฝรั่งมังค่าซึ่งมีศาสนาคริสต์เป็นสดมภ์หลัก

ขณะที่ตะวันออกด้อยกว่า

Advertisement

นั่นเป็นความเชื่อที่มองจากรากฐานแห่งยุคล่าเมืองขึ้น ยุคอาณานิคมที่ฝรั่งตะวันตกมาพร้อมกับเรือปืน มากด้วยพลานุภาพ

ทั้งๆ ที่ในทุกวันนี้ใช่ว่า “ตะวันตก” จะยังเป็นใหญ่

ตรงกันข้าม “ตะวันออก” อย่างจีน อย่างญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งเกาหลีใต้ ก็ผงาดขึ้นอยู่ในสถานะนำอย่างเห็นได้ชัด

Advertisement

ลองมองลงไปลึกๆ ก็จะเห็นปัจจัย 1 ซึ่งไม่ควรมองข้าม

นั่นก็คือ ปัจจัยในทางเศรษฐกิจ อันสัมพันธ์อย่างแนบแน่นอยู่กับปัจจัยในทางเทคโนโลยี หรือพลังทางผลิต

“วันวาเลนไทน์” ทรงความหมายเป็นเพราะปัจจัยทาง “เศรษฐกิจ”

ความจริง ไม่ว่า “วันวาเลนไทน์” ไม่ว่า “วันมาฆบูชา” ล้วนมีรากฐานในทางความคิดมาจากศาสนา เพียงแต่อย่าง 1 เป็นคริสต์ อย่าง 1 เป็นพุทธ

น่าจะเป็นเรื่องในทาง “วัฒนธรรม” ไม่น่าจะเป็นเรื่องในทาง “เศรษฐกิจ”

แต่ถามว่ารากฐานแห่งความคึกคักของ “วันวาเลนไทน์” อยู่ที่ไหน และถามว่ารากฐานแห่งความคึกคักของ “วันมาฆบูชา” อยู่ที่ไหน

เหมือนกับคำตอบน่าจะอยู่ที่ “วัด” หรือ “โบสถ์”

แต่หากติดตามความเคลื่อนไหวของ 2 วันสำคัญนี้อย่างเกาะติดก็จะประจักษ์ว่า มีแต่เพียง “วันมาฆบูชา” เท่านั้นหรอกที่แนบแน่นอยู่กับวัด

หาก “วันวาเลนไทน์” มิได้อยู่ที่ “วัด”

“วันวาเลนไทน์” ได้เจาะเข้าไปยังธุรกิจการส่งการ์ด ธุรกิจของขวัญ และแม้กระทั่งงานเลี้ยงตามสถานบันเทิงหรือโรงแรมต่างๆ ก็ดำเนินไปอย่างคึกคัก

นี่จึงเป็น “ธุรกิจ” ที่ประสานเข้ากับ “วัฒนธรรม”

มองอย่างเปรียบเทียบก็คือ “วันวาเลนไทน์” ทำเงินให้มากกว่า ขณะที่ “วันมาฆบูชา” เป็นเรื่องในทางพิธีกรรมล้วนๆ ไม่มีธุรกิจเข้ามาเจือปน

“วันมาฆบูชา” จึงไม่ทำเงิน แต่ “วันวาเลนไทน์” ทำเงิน

ความคึกคักระหว่าง “วันมาฆบูชา” กับ “วันวาเลนไทน์” จึงมีแรงขับมาจากผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางด้านวัฒนธรรม

ปัจจัย “ธุรกิจ” ต่างหากที่มี “ผลสะเทือน”

ขณะเดียวกัน เมื่อประสานผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเข้าไป ผลก็คือ “วันวาเลนไทน์” มิได้เป็นเรื่องของวัดหรือของโบสถ์

หากแต่ดำเนินไปอย่างมีลักษณะ “มวลชน”

มวลชนต่างหากที่เป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการแห่ง “วันวาเลนไทน์” ทั้งในเรื่องของความคิด ในเรื่องของความเชื่อ และแปรออกมาเป็นรูปธรรม

ถามว่ามูลฐานแห่ง “วันวาเลนไทน์” เป็น “ธุรกิจ” หรือไม่

ในเมื่อเป็นเรื่องของ “เซนต์” และเป็นเรื่องของคริสต์ศาสนาในยุคกว่าศตวรรษมาแล้ว ก็น่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อในทางศาสนาเช่นเดียวกับการสถาปนา “วันมาฆบูชา”

แล้วเหตุใด “วันวาเลนไทน์” จึงกลายเป็นผลประโยชน์ในทาง “ธุรกิจ”

ตอบได้เลยว่าเป็นเพราะการเบียดแทรกเข้าไปของกระบวนการในทาง “เศรษฐกิจ” อันมาพร้อมกับพัฒนาการแห่งระบอบทุนนิยม

“วันวาเลนไทน์” จึงกลายเป็นเรื่องของเงินๆ ทองๆ

จะมองว่า “วันมาฆบูชา” มีความบริสุทธิ์และสะท้อนลักษณะดั้งเดิมมากกว่าก็ย่อมได้ เมื่อนำเอาการแปรผันอันเกิดขึ้นกับ “วันวาเลนไทน์”

นี่ย่อมเป็นเรื่องของ “ยุค” นี่ย่อมเป็นเรื่องของ “สมัย”

การแปรเปลี่ยนของสรรพสิ่งมิได้เป็นไปอย่างไร้รากฐาน ความสัมพันธ์ ตรงกันข้าม การแปรเปลี่ยนความเชื่อเกี่ยวโยงกับการเคลื่อนไหวในทางเทคโนโลยี การเคลื่อนไหวในกระบวนการผลิตและดำรงอยู่อย่างแนบแน่น

ศาสนาเป็นเช่นนี้ การเมืองก็เป็นเช่นนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image