ฤกษ์วาเลนไทน์ โดย นฤตย์ เสกธีระ


กระบวนการปรองดองถือฤกษ์วันแห่งความรัก วาเลนไทน์เดย์เริ่มต้น

กระบวนการเริ่มโดยเชิญพรรคการเมืองเข้ามาพูด

มีพรรคความหวังใหม่ พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย และพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย พูดวันแรก

พรรคชาติพัฒนา วันที่สอง แล้วพรรคชาติไทยพัฒนา วันต่อมา

Advertisement

ส่วนวันอื่นๆ ยังไม่เปิดเผยกำหนดการ

มีคณะกรรมการปรองดองที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูง และบิ๊กเหล่าทัพ เป็นกาวใจ

แล้วตามด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกมากมายที่ทหารเชิญมาร่วม

รู้สึกว่าการปรองดองครั้งนี้มีคนตอบรับเยอะ โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งที่ไม่มองหน้ากัน

คราวนี้ไม่มีใครปฏิเสธ

ทุกคนพร้อมพูดคุย พร้อมปรองดอง

จากวันนี้ต่อไป เมื่อถึงคราวพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย เราคงได้เห็นปฏิกิริยาและข้อเสนอ

หากเชิญกลุ่มมวลชน 2 ฝ่าย ทั้ง กปปส.และ นปช. มาแสดงความเห็น เราคงได้ทราบจุดยืน

เช่นเดียวกับคู่ขัดแย้งอื่นๆ ที่มีข้อเสนอเพื่อปรองดอง

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการต่างๆ เริ่มให้ข้อคิดเกี่ยวกับปรองดอง

นพ.ประเวศ วะสี ให้พูดแต่เรื่องอนาคต อย่าไปพูดถึงอดีต

นายปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกฯ บอกให้ใช้พรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ผู้มีประสบการณ์ และพยายามปรองดองเอาใจช่วยเต็มที่

ไปๆ มาๆ ปรองดองคราวนี้ถือว่าดีก่อนจะเริ่ม

แต่ละฝ่ายอาจมองเห็นแล้วว่าถึงเวลาที่จะต้องปรองดอง หมดเวลาทำลายล้างกันแล้ว

ไม่เช่นนั้นคงต้องดิ่งเหวไปพร้อมกัน

ช่วงนี้ถือว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จที่ทำให้ทุกฝ่ายสนใจ

จึงอยากให้กระบวนการปรองดองที่จะเริ่มต้นในวันแห่งความรักนี้ประสบผล

ณ เวลาปรองดองเช่นนี้ ขอให้รักษาบรรยากาศอันที่จะเอื้อต่อการปรองดอง

การกระทำใดที่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าโดนเอาเปรียบ โปรดอย่ากระทำ

ขณะเดียวกัน อยากให้ทุกฝ่ายให้คำตอบที่ชัดเจนว่า อะไรที่จะทำให้ทุกฝ่ายพอใจ

ถ้าคำตอบคือ “ความเป็นธรรม” ก็ให้แต่ละฝ่ายทำให้เกิด “ความเป็นธรรม” ขึ้นมาเลย

และหากมีอะไรที่เคย “ไม่เป็นธรรม” ต่อไปก็ขอให้เริ่มต้นเยียวยากันให้ชัด

เรื่องนี้ถ้าไม่โกหกตัวเอง น่าจะรู้ว่าอะไร “เป็นธรรม” อะไร “ไม่เป็นธรรม”

ยกตัวอย่างเช่น กฎกติกาที่ใช้กันอยู่ อะไรที่ “เป็นธรรม” และ “ไม่เป็นธรรม”

หากมีฉันทามติว่ากติกาใดไม่เป็นธรรม…ให้ดำเนินการแก้ไข

หากที่ผ่านมาได้ใช้กติกาที่ไม่เป็นธรรมไปจัดการใคร…ให้เยียวยาซะ

เชื่อว่าหากยึดนิติรัฐนิติธรรมดังที่แต่ละฝ่ายยึดถือ และถ้ายืนหยัดอยู่บนมาตรฐานสากลกันแล้ว

แนวทางสู่ความเป็นธรรมจะกลับคืนมา ความรู้สึกโดนเอาเปรียบจะได้รับการเยียวยา

ทำได้เช่นนี้ สักพักศรัทธาก็เกิด

ศรัทธาเกิดเมื่อใด ปรองดองก็อยู่แค่เอื้อม

ดังนั้น คนที่จะสร้างศรัทธาให้เกิดได้ ต้องเสียสละ ทุ่มเท

ต้องมีความกล้าหาญที่จะยืนบนหลักการ ดำรงตนเป็นกลาง

แสดง “ความเป็นธรรม” ให้ทุกฝ่ายมองเห็น

และพร้อมใจกันก้าวเดินต่อไปสู่ความปรองดอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image