สินบน เงินทอน บทสะท้อนวิกฤตคุณธรรม : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

หลังปรากฏการณ์การเปิดเผยข้อมูลขององค์กรต่างประเทศที่มีการแฉเกี่ยวกับการติดสินบนให้กับบุคคลในองค์กรรัฐวิสาหกิจของไทยในอันที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเมื่อไม่นานมานี้ เป็นบทสะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องหาได้ใส่ใจและเกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด ที่สำคัญไม่ว่าผู้ที่มีส่วนในการรับเงินทอนหรือสินบนจะเป็นคนในหรือคนนอกในวงการราชการย่อมประจักษ์ชัดแล้วว่าตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้เขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่ขาดซึ่งคุณธรรมและจริยธรรม

สังคมไทยระยะหลังให้ความสำคัญในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมเป็นอย่างมากทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชนมักจะชูประเด็นในการนำคุณธรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ ผู้นำองค์กรส่วนใหญ่จะชูวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล ซึ่งฟังดูแล้วดูดีน่าเหลื่อมใสศรัทธาแม้กระทั่งการคัดสรรหรือคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานก็จะเน้นและแสวงหาคนดี มากกว่าคนเก่ง

แต่ในทางกลับกันวันนี้ผู้นำองค์กร (บางคน) หาได้ใส่ใจกับแนวทางหรือธรรมาภิบาลที่เคยให้คำมั่นสัญญาหรือแสดงต่อประชาคม ธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการเป็นแค่เพียงวาทกรรมที่นำมาเสนอให้ดูดีและสวยหรูเท่านั้นเอง

กรณีการรับเงินทอนหรือที่เรียกว่าสินบนในแวดวงราชการนั้นใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้น แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนสังคมมาอย่างยาวนาน ผู้รับและผู้ให้ต่างสมประโยชน์ซึ่งกันและกัน ที่น่าสนใจเมื่อทุกภาคส่วนรับรู้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวยังเกาะติดอยู่กับองค์กรและสังคมทำไมจึงไม่สามารถทำลายขบวนการหรือผู้เข้าไปเกี่ยวข้องให้หมดสิ้น

Advertisement

หากวิเคราะห์ให้คมชัดลึกจะพบว่าปมของการแสวงหาผลประโยชน์ที่มาจากการต่างตอบแทนในลักษณะเงินทอนหรือสินบนเกิดจากปัจเจกบุคคลที่ไม่พอเพียง ขาดความละอายและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง และแปลกแต่จริงที่บุคคลลักษณะดังกล่าวกลับเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้รับการยกย่องจากสังคม

จิตสำนึกและความรับผิดชอบชั่วดีเป็นสิ่งที่พึงมีสำหรับปุถุชนทั่วไป ยิ่งผู้นำระดับสูงหรือข้าราชการด้วยแล้วย่อมที่จะต้องตระหนัก บุคคลเหล่านี้เมื่อบวชเรียนในพุทธศาสนาหรือในห้วงเวลาที่เข้ารับการศึกษาในสถาบันต่างๆ ล้วนแต่ผ่านกระบวนการขัดเกลามาเป็นอย่างดีและที่สำคัญวันเข้ารับปริญญาบัตรในฐานะบัณฑิต ทุกคนต่างแสดงคำปฏิญาณต่อประธานในการที่จะเป็นพลเมืองดี มีความซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อสังคม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับความพอเพียงไว้หลายครั้งหลายวาระ และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 พระองค์ได้พระราชทานแก่บุคคลที่เข้าเฝ้าฯเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย ความตอนหนึ่งว่า “คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรงไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น….”

Advertisement

ความพอเพียงนั้นถ้าผู้นำหรือผู้คนในสังคมตระหนักและนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตหรือปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพต่างๆ ก็จะเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญยิ่ง ซึ่งในประเด็นนี้พิสูจน์ให้เห็นจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ได้จากงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ที่องค์กรหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ศึกษาค้นคว้าและมีการเผยแพร่มาอย่างต่อเนื่อง

การปลูกฝังหรือการส่งเสริมค่านิยมที่มุ่งเน้นให้คนตระหนักในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบโดยเฉพาะค่านิยมในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยเฉพาะการปลูกฝังในวัยเด็กที่ต้องการให้เด็กตระหนักรู้และเข้าใจเห็นความสำคัญในเรื่องของความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งกระบวนการจัดการศึกษาที่เป็นต้นแบบในการสร้างค่านิยมดังกล่าวนั้น กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนโดยกำหนดเป็นนโยบายให้โรงเรียนในสังกัดนำไปสู่การปฏิบัติซึ่งพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวถึงค่านิยมในการปลูกฝังและส่งเสริมให้คนมีคุณธรรมและจริยธรรมนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นผู้หนึ่งที่ได้ประกาศค่านิยม 12 ประการ เผยแพร่ผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 เพื่อสื่อให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันเผยแพร่ ซึ่งสาระสำคัญใน 12 ประการนั้นล้วนแล้วแต่มีคุณค่าและมีความงดงามต่อสังคมไทยยิ่ง แต่มาถึงบัดนี้องค์กรตลอดจนประชาชนได้นำไปปฏิบัติมากน้อยแค่ไหนยังไม่มีผลการศึกษาหรือการติดตามผลที่ชัดเจน

ค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตอาจจะเป็นเพียงแนวคิดแต่กับการนำไปสู่การปฏิบัตินั้นบางครั้งอาจจะสวนทางกับความเป็นจริง และในเรื่องนี้พิสูจน์ได้จากผลการจัดอันดับความโปร่งใสและการทุจริตคอร์รัปชั่นประจำปี 2559 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติพบว่าประเทศไทยตกจากอันดับ 76 ไปอยู่ที่ 101 ค่าดัชนีก่อนนำมาสรุปเป็นตัวเลขที่ลดลงจาก 38 คะแนน ในปี 2558 เหลือ 35 ในปี 2559

หากมองไปที่หลายๆ ดัชนีพบว่ามีตัวเลขเป็นบวกแต่ในทางกลับกันมีหลายเรื่องที่มีการเสื่อมถอยอย่างเห็นได้ชัด

ด้วยปัญหาที่ยืดเยื้อและคาราคาซังมานานจนไม่สามารถที่จะป้องกันและแก้ไขได้ตามกฎหมายปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี คงไม่สามารถที่จะทนเห็นวิกฤตเรื่องสินบนและเงินทอนซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณธรรมและจริยธรรมของผู้แสวงหาประโยชน์อีกต่อไปได้ เพราะหากปล่อยไว้คงจะเป็นอันตรายและกัดกร่อนสังคมไทยไปอีกยาวนาน จึงได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 เกี่ยวกับการรับสินบนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยแก้ไขให้ผู้จ่ายสินบนไม่ต้องรับโทษทางอาญาเพียงแต่เสียค่าปรับเพื่อให้ซัดทอดคนเรียกรับเงินว่าเป็นคนสั่งการ ให้ไปหามาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้เริ่มดูตั้งแต่การประกวดราคา การตั้งราคากลาง การมีส่วนร่วมในแต่ละโครงการ เอกชนสามารถเข้าไปตั้งแต่ต้นได้อย่างไร ฯลฯ

นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า “กฎหมายทุกตัวมีอยู่ แต่บางตัวต้องแก้ วันนี้กฎหมายไทยจะมีบทลงโทษทั้งผู้ให้และผู้รับ จะทำให้ผู้ให้ไม่กล้าให้ข้อมูล คนให้มี 2 ประเภทคือให้เพราะถูกเรียกร้อง กับคนให้เพื่อขอรับผลประโยชน์ต้องเจอกับข้าราชการอยากรับ ดังนั้น หากเรายังใช้กฎหมายเดิมก็จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้จึงต้องมีมาตรการทำให้ผู้ให้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะเอาผิดทางแพ่งไปก่อนได้หรือไม่เพราะหากไม่มีการคุ้มครองเขาก็ไม่บอกเพราะบอกข้อมูลก็ติดคุกด้วย

อย่างต่างประเทศกรณีสินบนบริษัทโรลส์-รอยซ์ เขาเสียค่าปรับทางแพ่งก็จบ ความผิดทั้งหมดก็กลับมาที่คนรับ แต่กฎหมายไทยยากลำบาก แล้วเรื่องแบบนี้มันไม่อยู่บนโต๊ะไม่อยู่ในบัญชี บางอย่างจึงต้องอ่อนตัวบ้างเพื่อให้บริหารได้ หากติดไปทั้งหมดท้ายสุดก็ก็มีเจ็บมีตายอย่างเดียวเรา จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเกี่ยวข้องร่วมมือกับเรา แต่ไม่ใช่ไปเอื้อประโยชน์ให้ใครเพราะหากมีการคุ้มครองคนให้ข้อมูลก็น่าจะดี” (มติชน, 4 กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 5)

จากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีจะเห็นได้ว่ามีความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นในการป้องกันและแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ แต่ในทางกลับกันกับแนวคิดดังกล่าวต่างมีผู้ออกมาแสดงทรรศนะทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน และในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่นายกรัฐมนตรีเสนอนั้นนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า ตนเองไม่เห็นด้วยเรื่องไม่เอาโทษอาญากับคนให้สินบน คณะทำงานของเครือข่ายกำลังรวบรวมข้อมูลเสนอจุดเสียในเรื่องดังกล่าวและจะแถลงจุดยืนในเรื่องนี้ต่อไป (มติชน, 4 กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 8)

อย่างไรก็ตาม การแสวงหาแนวทางเพื่อการป้องกันการแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นเป็นเรื่องดีและจะดียิ่งขึ้นหากสามารถทำได้จริง จากนี้ไปผู้นำประเทศทุกยุคทุกสมัยจะต้องจริงจัง จริงใจ ไม่ปากว่าตาขยิบต่อการดำเนินการ ซึ่งแน่นอนถ้าปรากฏการณ์ของสินบนและเงินทอนหมดไปคนไทยจะมีความสุข สังคมก็จะมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน เมืองไทยจะได้ชื่อว่าใสสะอาดปราศจากคนโกง

วันนี้ข้าราชการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นข้าของแผ่นดิน จงตระหนักและมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตให้เป็นที่ไว้วางใจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของภาษีที่นำมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการดำรงชีพ…แต่ถ้าข้าราชการผู้ใดยังเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ไม่เกรงกลัวต่ออาญาแผ่นดิน ขาดคุณธรรมและจริยธรรมแล้วไซร้..บั้นปลายท่านก็จะประสบชะตากรรมแห่งความเป็นจริงของสัจธรรมที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และพร้อมกันนี้ขอให้ข้าราชการทั้งปวงไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนขอได้น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ใส่เกล้าใส่กระหม่อมสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ดังเช่นความตอนหนึ่งว่า

“ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียว ก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าขอให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริต สุจริตและมีความตั้งใจมุ่งมั่นสร้างความเจริญก็ขอให้ต่ออายุได้ถึง 100 ปี ส่วนคนไหนที่มีอายุมากแล้ว ขอให้แข็งแรง ความสุจริตจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตราย” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะผู้ว่าราชการจังหวัดในโอกาสเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image