คำสอนท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ โดย ปราปต์ บุนปาน

 

“พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)” (พ.ศ.2400-2475) นับเป็นพระเถระสำคัญรูปหนึ่ง

โดยเฉพาะในด้านการมีบทบาทเป็น “แม่ทัพธรรม” ของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย และ “ผู้แทน” ของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ที่เข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนาและการศึกษาตามอุดมการณ์ของรัฐส่วนกลางในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้อย่างประสบความสำเร็จ

จากพระหนุ่มชาวอีสานที่เดินทางเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ ต่อมาจึงได้ครองวัดหลวงอย่าง “วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร” และได้รับสมณศักดิ์ถึงระดับรองสมเด็จพระราชาคณะ

Advertisement

เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระเทพโมลี” ท่านเจ้าคุณจันทร์ได้แต่งหนังสืออันโด่งดังมีชื่อว่า “ธรรมวิจยานุสาศ”

ซึ่งอาจแบ่งประเด็นหลักๆ ได้ออกเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ หนึ่ง ความรู้ดี ย่อมเป็นเข็มทิศชี้ทางให้เกิดความเจริญ, สอง ความรู้ชั่ว ย่อมเป็นเข็มทิศชี้ทางให้เกิดความเสื่อมทราม, สาม ความรักใคร่ชอบใจในธรรม ย่อมเป็นเข็มทิศชี้ทางให้เกิดความเจริญ และ สี่ ความเกลียดชังธรรม ย่อมเป็นเข็มทิศชี้ทางให้เกิดความเสื่อมทราม

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนจุดเด่นจริงๆ ของพระธรรมเทศนา/หนังสือดังกล่าว จะอยู่ที่การอุปมาเปรียบเทียบ ซึ่งแม้เมื่อนำมาอ่านในยุคปัจจุบัน ก็ยังมีความร่วมสมัยมิใช่น้อย

Advertisement

พระเทพโมลี (จันทร์) กล่าวถึงยานพาหนะสมัยใหม่อย่าง “รถยนต์” ว่าไม่น่าอัศจรรย์เท่าใดนัก เพราะต้องแล่นไปตามถนนหนทางที่ตัดเตรียมไว้เท่านั้น

แต่ที่น่าอัศจรรย์กว่า คือ “สรีรยนต์” ของมนุษย์ ซึ่งมีล้อ 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ใช้ข้าวปลาอาหารแทนน้ำมัน จะขับขี่ไปยังจุดมุ่งหมายใด ก็อาจสำเร็จได้ตามความปรารถนา แม้กระทั่งโลกุตรธรรม (ที่จะไปถึงได้ ก็ด้วยการยึดอริยมรรคเป็นทางดำเนินของกาย วาจา ใจ)

เมื่อสรีระร่างกายของมนุษย์มีสถานะเป็นรถยนต์อันน่าอัศจรรย์ ถึงขนาดที่สามารถขับขี่ไปสู่ “สุนทรสถาน” ได้แล้ว เราจึงพึงดูแลรักษาร่างกายของตนเองให้ดี ไม่ใช้ในทางที่ผิด

หากปฏิบัติตามนี้ ก็จะได้ชื่อว่าเป็น “ผู้รู้ดี”

อีกหนึ่งการยกตัวอย่างที่น่าสนใจ ก็คือ พระเทพโมลี (จันทร์) ได้กล่าวถึง “ทุวิชา” อันนำไปสู่ความเสื่อมทราม

อย่างไรก็ตาม ท่านเข้าใจวิวัฒนาการของโลกมากพอ จึงชี้ให้เห็นว่าสำหรับทุวิชาบางสาขา เช่น วิชายิงปืน หรือวิชาว่าด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์แขนงต่างๆ นั้น มนุษย์มีความจำเป็นจะต้องเรียนรู้เอาไว้ แต่พึงตระหนักว่าวิชาดังกล่าวอาจกลายเป็นสะพานนำไปสู่ความเสื่อมได้

ดังจะเห็นได้จากความพังพินาศที่เกิดขึ้นกับชีวิตผู้คนเพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุคสมัยนั้น

ตามทรรศนะของพระเทพโมลี (จันทร์) สงครามโลกครั้งนั้นเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งจุดเล็กๆ ของชนชั้นนำในทวีปยุโรป ที่แผ่ขยายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศ เพราะต่างฝ่ายต่างวางอำนาจ ต่างพยายามอวดทุวิชาของฝ่ายตน จนส่งผลให้พลรบและประชาชนอื่นๆ ผู้ไม่เกี่ยวข้อง ต้องเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก

การอุปมาเปรียบเทียบและคำอธิบายตรงส่วนนี้นี่เอง ที่คล้ายจะสวนทาง ไม่ลงรอยกับวิเทโศบายของรัฐบาลสยามขณะนั้น ซึ่งตัดสินใจส่งทหารอาสาไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1

พระเทพโมลีจึงถูกถอดสมณศักดิ์กลายเป็นหลวงตาจันทร์ และถูกกักตัวไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

แต่ภายในเวลาเพียงปีเดียว ท่านก็กลับมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ “พระธรรมธีรราชมหามุนี”

ก่อนจะเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ “พระโพธิวงศาจารย์” และรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์” ในท้ายที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image