สมานฉันท์-ปรองดอง : ศัพท์แสง หลักการและทางเลือก : โดย ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

สิ่งที่สังคมไทยในวันนี้พูดถึง โหยหาและปรารถนาอยากเห็นอยากให้เกิดขึ้นมากๆ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “สมานฉันท์” และ “ปรองดอง”

แต่ด้วยเหตุว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว การที่จะเห็นความปรองดองสมานฉันท์เกิดขึ้นในเร็ววันหรือภายในระยะเวลาที่กำหนดตั้งไว้จึงใกล้เคียงกับคำว่า impossible นั่นคือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

อุปสรรคหรือเงื่อนไขสำคัญหนึ่งที่เกิดขึ้นในทุกๆ สังคมหลังผ่านพ้นความขัดแย้งก็คือ เราจะมองและจัดการกับ “อดีต” อย่างไร จึงจะสามารถก้าวนับหนึ่งจากจุด ณ ปัจจุบันไปสู่อนาคตที่วาดหวังไว้ได้

หนึ่งในนั้นก็คือ สุภาษิตสำนวนฝรั่ง “water under the bridge” ซึ่งหมายถึง สายน้ำเมื่อไหลผ่านเลย (จุดใดจุดหนึ่งหรือใต้สะพาน) ไปแล้ว ไม่มีวันที่จะไหลคืนกลับมาที่เดิมอีก จึงพัฒนาเกิดเป็นสำนวนหนึ่งที่มักใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมที่ (เคย) มีความแตกแยกแตกร้าวว่า “let bygones be bygones” นั่นคือ อดีตที่ขมขื่นก็ควรปล่อยให้เป็นอดีตไปตลอด อย่าพยายามไปรื้อฟื้นโหยหามันอีก ไหนๆ เมื่อมันได้เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่สามารถย้อนกลับไปหยุดยั้งหรือแก้ไขอะไรมันได้อีกแล้ว

Advertisement

หลักแนวคิดนี้มีกลิ่นอายที่เป็นหัวใจของหลักคำสอนในทุกศาสนาก็ว่าได้ และมักจะถูกนำมาประยุกต์หรืออ้างอิงอยู่เสมอๆ สำหรับสังคมหนึ่งๆ ที่อยากจะก้าวข้ามความเกลียดชังความขัดแย้งไปให้ได้เสียที
ในบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดถือได้ว่า เหยื่อแห่งความขัดแย้งหรือผู้สูญเสียโดยตรงจะเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ยอมรับหรือสนับสนุนแนวคิดนี้

แต่ในอีกมุมหนึ่ง มองว่าหลักแนวคิด “let bygones be bygones” ไม่ต่างจากการยกประโยชน์ให้กับ “อดีต” ในฐานะจำเลยแห่งกาลเวลาแบบง่ายๆ (มากเกินไป) โดยไม่มีหลักประกันว่า อดีตเมื่อวันวานที่ขมขื่นและรุนแรง จะไม่มีวันหวนกลับมาเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตอีก

อีกแนวคิดหนึ่งของจีน (และรัสเซีย) มองว่า อดีตนั้น (โดยเฉพาะอดีตที่ขมขื่นปวดร้าว) หากไม่ลืมมันเสียก่อน ก็จะเป็นเข็มทิศนำพาเราไปสู่อนาคตได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ไม่ลืมเท่านั้นยังต้องศึกษาและเข้าใจ “อดีต” ให้ถ่องแท้อีกด้วย (หลักแนวคิดนี้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องมีเรื่องขัดแย้งกับเกาหลีใต้และจีนอยู่เนืองๆ ในประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งในประวัติศาสตร์) อุปมาเหมือนว่า เราไม่ควรปล่อยให้ “อดีต” เป็นเหมือนผีไร้ญาติ แต่ควรจะจัดการให้ “อดีต” มีสุสานเป็นที่เป็นทาง เพื่อให้ลูกหลานทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ระลึกถึง

Advertisement

แล้วสังคมไทยเรา ควรจะยึดแนวไหนเป็นที่ตั้ง?

ประเด็นต่อมาที่ดูเหมือนจะถูกมองข้ามทั้งๆ ที่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน นั่นคือ ความเข้าใจในความหมายของศัพท์แสงให้ถ่องแท้

คำว่า “สมานฉันท์” หากแปลจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษ “reconciliation” คือการหันหน้ามาคืนดีกันใหม่ เพื่อกลับไปสู่ไมตรีจิตดีๆ ที่มีมาแต่เดิมๆ หรือก่อนหน้าจะเกิดความขัดแย้ง ส่วนคำว่า “ปรองดอง” นั้นตรงกับภาษาอังกฤษว่า harmony หมายถึงความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษแห่งความขัดแย้งที่ผ่านมา สังคมไทยจะเลือกใช้และคุ้นเคยกับคำว่าสมานฉันท์เป็นหลัก (ถือว่าเป็นคำศัพท์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นคำที่แทบจะไม่เคยพูดถึงหลังเหตุการณ์ “14 ตุลา” และ “6 ตุลา”) หลังจากนั้น ก็เริ่มปรากฏคำว่าปรองดองตั้งแต่ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนกระทั่งกลายเป็นคำหลักที่ถูกใช้ถูกอ้างอิงบ่อยๆ ในปัจจุบันนี้ จนดูเหมือนเข้ามาแทนที่คำว่า สมานฉันท์ไปโดยปริยาย

หากพิจารณาในเชิงภาษาศาสตร์อย่างเคร่งครัดแล้ว คำศัพท์ “สมานฉันท์” และ “ปรองดอง” ไม่ได้เป็นคำเหมือนคำเดียวกันหรือใช้แทนกันได้เสมอไป แต่เป็นคำที่ควรต้องใช้ร่วมกันเป็นเหตุเป็นผลกัน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว เป้าหมายสำคัญหรืออาจเรียกว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ก็คือการปรองดอง เมื่อคนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีเหตุขัดแย้งจนถึงขั้นนำไปสู่ความสงครามความรุนแรงเหมือนเช่นในอดีต เมื่อนั้น สังคมก็สามารถพัฒนาเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ได้

โดยหลักการแล้ว การสมานฉันท์จะทำหน้าที่สำคัญๆ สองบทบาท บทบาทแรกในฐานะเป็นกระบวนการหรือกลไก (process) ที่มุ่งเน้นจัดการกับ “อดีต” และบริหาร “ปัจจุบัน” เพื่อทำให้เราสามารถก้าวข้ามต่อไปสู่อนาคต ดั่งสุภาษิตจีนข้างต้นที่ว่าประสบการณ์ที่ขมขื่นในอดีต หากไม่ถูกหลงลืมมองข้ามไปก็จะนำทางไปสู่อนาคตที่ดีได้

ในทางปฏิบัติที่ยอมรับกันทั่วโลก หลายๆ ประเทศเลือกแนวทางมองการสมานฉันท์เป็นกระบวนการซึ่งมีหลายๆ ขั้นตอน หลักๆ ก็คือ การทำความจริงให้ปรากฏ การเยียวยา การชดเชย (ทางการเงิน) การให้ความยุติธรรม การลงโทษ การขอโทษและการนิรโทษกรรม ที่ดูเหมือนเป็นเงื่อนไขหนึ่ง..สอง..สาม (โดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับก่อนหลัง และอาจดำเนินการพร้อมๆ กันก็ได้) หากในเรื่องใดเรื่องหนึ่งยังไม่มีการดำเนินการหรือยังไม่บรรลุ ก็อาจจะส่งผลต่อเงื่อนไขหรือกลไกอื่นๆ ต้องหยุดชะงักได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ถือเป็นหลักประกันว่า การดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการนี้ สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้หรือวาดหวังไว้

ในอีกบทบาทหนึ่ง การสมานฉันท์จะทำหน้าที่เป็น “เป้าหมาย” โดยเน้น “อดีต” ให้น้อยลงและพุ่งเป้าไปที่อนาคตเป็นสำคัญ นั่นคือ เราจะทุ่มเทความพยายามทั้งหลายทั้งปวงเพื่อผลักดันให้สังคมก้าวไปสู่เป้าหมายการสมานฉันท์ภายในชาติให้จงได้ ไม่ว่าจะเป็นความปรองดองของคนในชาติ ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน หลักนิติรัฐและประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะต้องแลกกับการลด (เงื่อนไขหรือขั้นตอน) การจัดการกับ “อดีต” ให้น้อยลง มีดีกรีของการประนีประนอมมากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่ง หากสังคมหนึ่งมองการสมานฉันท์เป็นเป้าหมายสำคัญแล้ว สังคมนั้นๆ ก็พร้อมที่จะก้าวข้ามปัจจัยบางประการ (ที่ปรากฏในกระบวนการ) ไม่ให้กลายเป็นเงื่อนไขหรืออุปสรรคจนขยับเขยื้อนเดินหน้าไม่ได้เลย

ดังนั้น ในการพิจารณาว่าจะเลือกปฏิบัติตามแนวทางแบบไหนดีกว่ากัน ระหว่างแนวทางการมองสมานฉันท์เป็นกระบวนการหรือมองสมานฉันท์เป็นเป้าหมายนั้น คำถามแรกๆ ก็คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น รุนแรงอยู่ในระดับไหนหรือระดับใกล้เคียงกับกรณีในต่างประเทศหรือไม่

ตัวอย่างของแอฟริกาใต้และรวันดารวมทั้งเคนยาซึ่งสังคมไทยคุ้นเคยและมักจะถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบ (แบบไม่ถูกต้อง) กับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอยู่เสมอๆ นั้น อาจจะช่วยให้แนวทางแก่สังคมไทยได้บ้าง

ทั้งแอฟริกาใต้และรวันดามีความขัดแย้งทางเผ่าพันธุ์อย่างเรื้อรังมานานไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษ ทั้งสองประเทศมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าฟันเพราะความแตกต่างกันและความเกลียดชังกันเป็นตัวเลขนับแสนคน เพราะฉะนั้นแล้ว ด้วยระดับความรุนแรงดังกล่าว ทำให้ทั้งแอฟริกาใต้และรวันดาจำเป็นต้องใช้แนวทางแรก นั่นคือการสร้างกลไกสมานฉันท์อย่างเป็นกระบวนการ โดยเฉพาะการทำความจริงให้ปรากฏ การชดเชยและการลงโทษ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ลืมที่จะมองเป้าหมายสำคัญใหญ่กว่านั่่นคือการเดินหน้าเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่เพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม

สำหรับสังคมไทยแล้ว ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องเลือกรักษาให้ถูกโรคถูกอาการที่สุด ต้องสามารถระบุชี้ชัดให้ได้ก่อนว่า โรคแห่งความขัดแย้งที่ (เคย) เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้นรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เป็นความรุนแรงแบบบางหรือแบบหนาเมื่อเทียบกับต่างประเทศ จำเป็นต้องเลือกใช้ “ยา” ขนานเดียวหรือตามแนวทางของต่างประเทศหรือไม่ อย่างไร ที่สำคัญ การเลือกใช้วิธีรักษาตามแบบของประเทศอื่นๆ โดยไม่ได้ดูอาการเฉพาะนั้น อาจจะไม่ได้ช่วยรักษาโรคให้หายขาดได้เลย

โดยข้อเท็จจริงแล้ว แทบจะไม่มีสังคมไหนประเทศใดที่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งสู่ภาวะความปรองดองได้ในทันทีทันใดตามใจสั่งหรือภายในระยะเวลาสั้นๆ เป็น mission impossible ก็ว่าได้ แต่เป็นสิ่ง (กระบวนการ) ที่ต้องใช้เวลานาน (ที่ไม่สามารถระบุได้) และค่อยๆ พัฒนาเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ นับจากวันแรกๆ ที่เริ่มต้นการสมานฉันท์ในปี 1995 สังคมแอฟริกาใต้ค่อยๆ เริ่มขยับไปในทิศทางที่ดีขึ้น (โดยใช้กุศโลบาย) จากความขัดแย้งที่รุนแรงและเรื้อรังมานานเกือบศตวรรษ จนมีผู้เสียชีวิตที่เป็นผลมาจากการเหยียดผิวนับแสนคน เริ่มต้นเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่าการสมานฉันท์แบบบาง เป็นสภาวะที่ต่างคนต่างอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน ถึงจะไม่พูดคุยกันแต่ก็ไม่ทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง หลังจากนั้น ระยะห่างระหว่างกันเริ่มน้อยลง แต่ยังคงสงวนท่าทีที่จะเป็นมิตรสนิทกัน จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปพอสมควร ความไว้เนื้อเชื่อใจเริ่มมีขึ้นและมากขึ้นจนพูดคุยสนิทสนมกลายเป็นการสมานฉันท์แบบหนาหรือภาวะปรองดองนั่นเอง

การเข้าใจธรรมชาติและหลักการของการสมานฉันท์และการปรองดองอย่างถูกต้อง เรียนรู้และประยุกต์ตัวอย่างจากต่างประเทศอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยทำให้สังคมไทยไม่ก้าวเดินผิดทางเหมือนที่เกิดขึ้นจริง ณ ปัจจุบันนี้

บางทีสังคมที่ผ่านความขัดแย้งและแตกแยกอาจจะมีสภาพไม่ต่างจากถ้วยชามเซรามิกเครื่องโบราณที่มีรอยแตกร้าว แต่สามารถทำให้มีคุณค่ามีความงามเพิ่มมากขึ้นยิ่งกว่าเดิมตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น เมื่อผ่านการซ่อมแซมประสานรอยร้าว (ด้วยวัสดุที่มีค่าอย่างทองคำ) อย่างพิถีพิถันแล้ว
ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image