ไทยพบพม่า..ผู้หญิง (อื่นๆ) ในโลกการเมืองแบบพม่า (2) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

หากลูดุ้ ด่อ อะมา และจะเน จอ มะ มะ เล นักเขียนหญิงชื่อก้องคือต้นแบบของผู้หญิงพม่าในอุดมคติ ในฐานะ “เมีย” ที่ยืนเคียงค้างสามีด้วยความเด็ดเดี่ยวทระนง และ “แม่” ผู้เสียสละเพื่อลูกๆ ในยามทุกข์ยาก และยังให้ภาพผู้หญิงที่เรียบง่ายงดงาม นักเขียนหญิงพม่าอีก 3 คนที่จะพูดถึงในสัปดาห์นี้อาจเรียกว่าเป็นอุดมคติของผู้หญิงพม่าที่ได้รับแนวคิดแบบตะวันตก “ชิค” และมีภาพลักษณ์ที่ทันสมัยกว่า ด่อ อะมา และ ด่อ มะ มะ เล

มิ มิ คาย และ ขิ่น เมี้ยว ชิต เป็นนักเขียนที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่บทบาททางการเมืองของพวกเธอจำกัดอยู่ในวงแคบๆ อาจเป็นเพราะพวกเธอเป็นนักเขียนรุ่นหลังๆ แม้เติบโตในช่วงคาบเกี่ยวกับยุคอาณานิคมและยุคที่ลัทธิชาตินิยมเฟื่องฟูตลอดทศวรรษ 1930 แต่แก่นเรื่องสำหรับเรื่องสั้นและหนังสือของมิ มิ คาย และขิ่น เมี้ยว ชิต มักนำเสนอภาพความงดงามแบบระนาบเดียวของสังคมแบบพม่า ผู้คนในพม่ารู้จัก มิ มิ คายในฐานะผู้เรียบเรียงเรื่องราวว่าด้วยสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพม่า โดยเฉพาะชีวิตในแบบชนบทอันแสนเรียบง่าย เป็นภาษาอังกฤษและยังใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นสากล มีแหล่งอ้างอิง และเป็นผลงานวิจัยที่มาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบระเบียบเป็นคนแรก ในช่วงสุดท้ายของชีวิต มิ มิ คาย เขียนผลงานชิ้นโบแดงออกมาในชื่อ “The World of Burmese Women” (โลกของสตรีพม่า)

มิ มิ คาย (ภาพจาก Wikipedia)
มิ มิ คาย (ภาพจาก Wikipedia)

ผู้อ่านที่คาดหวังว่าจะได้อ่านงานเขียนสไตล์ feminist ที่มีอยู่ดาษดื่นในโลกตะวันตกจากปลายปากกาของนักเขียนสตรีในพม่าคงจะผิดหวัง เพราะมิ มิ คายและนักเขียนสตรีคนอื่นๆ ในพม่า นอกจากจะมิได้มองว่าผู้หญิงมีสถานะที่ด้อยกว่าผู้ชายแล้ว พวกเธอยังมองว่าผู้หญิงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในทุกครัวเรือนของชาวพม่า และไม่ได้ถูกกดทับดังที่กระแสสตรีนิยมของโลกกล่าวอ้าง และบ่อยครั้งที่เราจะได้ยินได้ฟังนักเขียนสตรีชาวพม่าเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ยุคจารีตของพม่า ที่อุดมเต็มไปด้วยตัวละครเพศหญิง เช่น พระนางเชงสอบู (ราชินีผู้ปกครองอาณาจักรมอญตั้งแต่ ค.ศ.1454-1471/พ.ศ.1997-2014 ร่วมสมัยกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในอยุธยา) และ พระนางศุภยลัต พระมเหสีของพระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า อย่างภาคภูมิใจ

ข้อเสนอหลักของ มิ มิ คาย คือสถานะของผู้หญิงในสังคมของพม่าแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในยุคก่อนสมัยใหม่ มาจนถึงยุคอาณานิคม และหลังอาณานิคม ในขณะที่ผู้หญิงทั่วโลกต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของตนเอง ผู้หญิงในพม่ากลับภาคภูมิใจกับสถานะของตนเอง และมิได้มองว่าตนต้อยต่ำกว่าชาย

Advertisement

นอกจาก The World of Burmese Women มิ มิ คาย เขียนหนังสือเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมพม่าอีก 2 เล่ม ได้แก่ Burmese Family (ครอบครัวพม่า) และ Cook and Entertain the Burmese Way (กับข้าวกับปลาและความรื่นเริงแบบพม่า)

นักเขียนสตรีพม่าอีกคนหนึ่งที่เขียนเรื่องสังคมและวัฒนธรรมพม่าเป็นหลักคือ ด่อ ขิ่น มยะ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามปากกา “ขิ่น เมี้ยว ชิต” (แปลว่า สตรีผู้รักชาติ) เธอเป็นเจ้าของผลงานเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสังคมพม่า รวม 16 ชิ้น ทั้งที่เป็นหนังสือและบทความ ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเธอ และในปัจจุบันผ่านการพิมพ์ซ้ำมานับครั้งไม่ถ้วน อีกทั้งยังหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านหนังสือทั่วประเทศ คงจะเป็นหนังสือ 13 Carat Diamond (เพชร 13 กะรัต พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1969) Colourful Burma (สีสันพม่า พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1976) และ A Wonderland of Burmese Legends (แดนพิศวงแห่งตำนานพม่า พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1984)

ขิ่น เมี้ยว ชิต, ค.ศ.1937 (ภาพจาก tuninst.net)
ขิ่น เมี้ยว ชิต, ค.ศ.1937 (ภาพจาก tuninst.net)

แม้จะเป็นผู้หญิงที่มีการศึกษา จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งทั้งคู่ แต่สไตล์การเขียนของขิ่น เมี้ยว ชิต และมิ มิ คาย แตกต่างกันมาก จริงอยู่ว่าขิ่น เมี้ยว ชิต เป็นนักเขียนสตรีที่มีชื่อเสียง แต่เธอแทบจะไม่เคยแตะต้องประเด็นเรื่องสิทธิและสถานะของสตรีในสังคมพม่าเลย พม่ามีประวัติศาสตร์การต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษมายาวนาน แต่เราแทบจะไม่เคยเห็นนักศึกษาผู้หญิง หรือนักเขียนสตรีที่เรียกร้องสิทธิให้กับสตรีพม่า พวกเธอเหล่านั้นร่วมกับบุรุษเรียกร้องสิทธิและเอกราชให้แก่พม่าในฐานะ “สหภาพพม่า” มีจุดเน้นที่ความสมัครสมานสามัคคีของผู้คนร้อยพ่อพันธุ์แม่ในพม่า แม้ในอันที่จริงแล้วจุดเน้นของขบวนการชาตินิยมพม่าจะมีศูนย์กลางอยู่ที่คนพม่าแท้ หรือคน “บะหม่า” เป็นหลักก็ตาม

Advertisement

ขิ่น เมี้ยว ชิต เติบโตมาในแวงวงหนังสือพิมพ์ก่อน โดยเธอเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ Guardian Daily อันโด่งดัง ก่อนที่จะย้ายไปเป็นบรรณาธิการให้กับหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายชื่อ Working People’s Daily (หนังสือพิมพ์คนทำงานรายวัน) นักเขียน “เอียงซ้าย” ในพม่ายุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนมากสมาทานอุดมการณ์ชาตินิยมจัดไปพร้อมๆ กับการโหยหาอดีต (nostalgia) หรือความใฝ่ฝันที่จะเห็นพม่ากลับมาเจริญรุ่งเรืองเฉกเช่นในยุคราชวงศ์อย่างพุกามเป็นต้น

เห็นได้จากที่เธอประสบความสำเร็จในการเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ ชื่อว่า “King Anawratha” (พระเจ้าอนิรุทธ)

นักเขียนสตรีคนสุดท้ายที่ผู้อ่านชาวไทยคุ้นเคยมากที่สุดแต่อาจรู้จักน้อยที่สุดคือ ด่อ ออง ซาน ซูจี น้อยคนที่จะทราบว่าเธอจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาปรัชญา, การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยเน้นการศึกษาวรรณคดี ก่อนที่จะแต่งงานมีครอบครัว และศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ณ School of Oriental and African Studies (SOAS) กรุงลอนดอน โดยมีแผนที่จะเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับวรรณกรรมพม่า แต่ในปี ค.ศ.1988/พ.ศ.2531 ก็เกิดเหตุการณ์การสังหารหมู่นักศึกษาในกรุงย่างกุ้ง ประกอบกับเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มารดาของเธอ ด่อ ขิ่น จี ป่วยหนัก เธอเลือกเดินทางกลับไปเยี่ยมมารดาชั่วคราว แต่การเมืองที่กำลังปะทุในขณะนั้นทำให้เธอต้องละทิ้งการเขียนวิทยานิพนธ์ที่ SOAS และลงสนามการเมืองเต็มตัว โดยที่ไม่รู้เลยว่าเธอจะไม่ได้กลับไปศึกษาต่ออีก และจะไม่ได้กลับไปอังกฤษอีกจนกระทั่งปี 2012

นอกจากจะเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1992 เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญที่สุดของพม่า และต่อมาจะรับตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐหลังพรรค NLD ของเธอชนะการเลือกตั้งในปลายปี 2015 แบบถล่มทลาย ออง ซาน ซูจี ยังเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักเขียนว่าเป็นเจ้าของหนังสือ 2 เล่ม Freedom from Fear (เสรีภาพจากความกลัว) และ Letters from Burma (จดหมายจากพม่า) หนังสือเล่มแรกรวบรวมสุนทรพจน์และงานเขียนขนาดสั้นของ

ออง ซาน ซูจี ไว้ จัดทำขึ้นโดย ดร.ไมเคิล แอริส สามีของเธอ และตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1991 เพื่อให้โลกตระหนักสภาพอันโหดร้ายและวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าภายใต้รัฐบาลทหาร ไฮไลต์ของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่สุนทรพจน์ครั้งสำคัญในปี 1990 ในบางช่วงบางตอน เธอกล่าวไว้ว่า “ความกลัวต่างหากที่ฉ้อฉล หาใช่อำนาจไม่ ความกลัวจากการสูญเสียอำนาจทำให้คนที่มีอำนาจฉ้อฉล และความกลัวว่าอำนาจจะแพร่กระจายทำให้คนที่อยู่ใต้อำนาจฉ้อฉล”

เธอกล่าวกับสังคมพม่าว่าเผด็จการที่ฉ้อฉลนั้นไม่สามารถต้านทานพลังของประชาชนที่รักประชาธิปไตยได้ แต่หากประชาชนไม่มีความกล้าหาญทางจิตวิญญาณที่จะออกมาต่อต้านความฉ้อฉลเหล่านี้แล้ว โอกาสที่พม่าจะเป็นประชาธิปไตยก็คงริบหรี่

หนังสือ Letters from Burma ของเธอมีข้อความที่แตกต่างออกไปจาก Freedom from Fear อย่างสิ้นเชิง หากอ่านโดยละเอียดแล้ว ผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่าตนกำลังอ่านเรื่องสั้นของ ขิ่น เมี้ยว ชิต ในบริบทของพม่าในทศวรรษ 1980 ซู จี เขียน “จดหมายจากพม่า” เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันที่ญี่ปุ่น เธอสอดแทรกเรื่องราวสนุกๆ ของวัฒนธรรมและสังคมพม่าอย่างมีชั้นเชิง เช่น การเล่าถึงการเข้าไปกราบพระภิกษุที่ชาวพม่าเคารพศรัทธารูปหนึ่ง และเธอยังกล่าวถึงปัญหาของพม่าสมัยใหม่ที่รอการแก้ไข หลังจากพม่าตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมาอย่างยาวนาน

พม่ามีนักเขียนสตรีที่เป็นที่ยอมรับอยู่หลายคน แต่เป็นเรื่องแปลกที่พวกเธอเหล่านั้นไม่เคยเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับผู้หญิงในพม่า หากมองอย่างผิวเผิน สังคมชาย-หญิงในพม่า เฉกเช่นเดียวกับสังคมอื่นๆ ในเอเชีย อาจดูเท่าเทียม แต่ภายใต้ความเท่าเทียมนั้นกลับซ่อนความรู้สึกแบ่งแยกทางเพศไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image