ดุลยภาพดุลยพินิจ : จะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยการเมืองปิดได้จริงหรือ? ดูจีนดูไทย : โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

สี จิ้นผิง ผู้นำจีน รณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่น เป็นการใหญ่ตั้งแต่ปี 2556 แล้วเราก็ได้เห็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนหลายคนถูกลงโทษ ถูกปลดด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น และบางคนถูกดำเนินคดีในชั้นศาล รวมทั้งกรณีโด่งดังเมื่อโป๋ ซีไหล ถูกขับออกจากพรรค ถูกจำคุกตลอดชีวิต แม้ว่าเขาได้ปฏิเสธทุกข้อหา คือการยักยอกเงินจำนวนมาก อีกทั้งใช้อำนาจปกปิดความผิดของภรรยา เขาเคยเป็นดาวรุ่งของพรรคดวงหนึ่ง ที่เติบโตมาพร้อมๆ กับสี จิ้นผิง ก่อนถูกดำเนินคดี เขาเป็นถึงเลขาธิการพรรคสภาฉงชิ่ง นักวิเคราะห์บางรายคาดว่าชะตากรรมของเขาน่าจะเกี่ยวโยงกับที่ว่าเขาเป็นภัยคุกคามต่อการกระชับอำนาจของผู้นำจีนด้วย

มาตรการที่สี จิ้นผิง ใช้ต่อต้านคอร์รัปชั่นมีทั้งรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต และมาตรการป้องกัน เช่น กำชับให้การใช้จ่ายเงินราชการต้องมีใบเสร็จที่ตรวจสอบได้ เมื่อตำรวจจราจรเรียกเก็บค่าปรับต้องมีใบรับเงินเป็นหลักฐานแก่ผู้จ่าย เพื่อแสดงว่าไม่ได้เอาเข้าพกเข้าห่อ แต่กฎระเบียบเหล่านี้ เกี่ยวโยงกับคอร์รัปชั่นระดับขี้ผง ในระดับนักการเมืองใหญ่ กฎเกณฑ์ก็เข้มขึ้น รวมทั้งที่ว่าจะรับของขวัญได้ระดับไหน ระดับความเป็นอยู่แสดงความร่ำรวยเกินฐานะจนเป็นที่น่าสังเกตไหม จึงมีกรณีที่ข้าราชการถูกดำเนินคดี เพราะไม่สามารถแสดงหลักฐานที่มาของความร่ำรวยได้เป็นจำนวนมาก

มีรายงานว่า ข้าราชการจีนถูกดำเนินคดีหรือถูกย้ายด้วยข้อหาคอร์รัปชั่นประมาณหนึ่งล้านคนไปแล้ว หรือประมาณร้อยละ 0.1 ของประชากรทั้งหมด ถ้าใช้สัดส่วนเดียวกันในกรณีไทย ก็หมายถึงข้าราชการประมาณกว่า 6 หมื่นราย

นักจับตามองจีนตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับปรากฏการต่อต้านคอร์รัปชั่นของสี จิ้นผิง

Advertisement

ใครๆ ก็รู้ว่าคอร์รัปชั่นที่จีนนั้นมหาศาล และเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า สี จิ้นผิง จะทำให้คอร์รัปชั่นลดลงได้จริงหรือ?

คำตอบคือลดลงในช่วงที่การรณรงค์ยังแข็งขันมากๆ ข้าราชการทุกคนจึงระวังตัว บ้างรอให้ถึงการผ่อนคลาย แม้ว่าบางคนก็ยังลองเสี่ยง

ข้อมูลที่มีแสดงว่า ในระยะสั้นมาตรการเข้มงวดด้านการใช้เงินรัฐและการกำกับพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติของข้าราชการดูจะได้ผลบ้าง พ.ศ.2559 ดัชนีความโปร่งใสขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ แสดงว่าจีนได้คะแนนดีขึ้นเป็น 40 เพิ่มจาก 35 เมื่อปี 2555 ตัดหน้าไทยไปเลยเพราะพี่ไทยทำได้เพียง 35 ในปีเดียวกัน ทั้งๆ ที่ในปี 2553 ไทยกับจีนได้คะแนนเท่ากันที่ 35 และรัฐบาลไทยก็ประกาศจะต่อสู้คอร์รัปชั่นเช่นกัน

Advertisement

แล้วมาตรการของสีจะมีผลยั่งยืนไหม? สิ่งที่เขาทำเป็น “การเมือง” หรือเปล่า? สี จิ้นผิงจะอยู่รอดปลอดภัยไหม?

แรกๆ นักจับตามองจีนยังไม่กล้าฟันธงว่าสี จิ้นผิง ต่อต้านคอร์รัปชั่นด้วยเหตุผลทางการเมืองด้วย คือเป็นส่วนหนึ่งที่จะกำจัดฝ่ายตรงกันข้าม และสร้างชื่อกับประเทศตะวันตก ว่าจีนเอาจริงกับการปฏิรูปเพื่อกำจัดคอร์รัปชั่น

ต่อมาเมื่อพบว่าข้าราชการใหญ่จำนวนมากที่ถูกลงโทษมักเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับสี จิ้นผิง นักวิเคราะห์เริ่มมั่นใจที่จะฟันธงว่า เหตุผลทางการเมืองมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และเริ่มเป็นห่วงว่าสี จิ้นผิงจะเสี่ยงมากไปหรือเปล่า

เช่นนักจับตามองจีนรายหนึ่งบอกอย่างนี้ เขาไม่คิดว่าคอร์รัปชั่นสูงขึ้นก่อนสีเข้ามา การที่การเมืองจีนเป็นระบบปิด เป็นระบบอำนาจนิยมในมือพรรคเดียว ย่อมมีคอร์รัปชั่นสูงอยู่แล้ว ถ้าจะปัดกวาดบ้านขึ้นเมื่อไรก็จะเห็นขยะเยอะเป็นธรรมดา

เขาเกรงว่าในท้ายที่สุด จีนจะลงเอยเหมือนกับที่ไต้หวัน ครั้งที่พรรคก๊กมินตั๋งที่คอร์รัปชั่นสุดๆ พยายามจะปฏิรูปเพื่อกำจัดคอร์รัปชั่นให้สิ้นซาก แต่ในท้ายที่สุดต้องล้มเลิกไป ทำไม่สำเร็จ เมื่อพบว่าคอร์รัปชั่นเป็นตัวยึดโยงคนในพรรคและผู้สนับสนุนใกล้ชิดที่ร่ำรวยและมีอำนาจสูงเอาไว้ ถ้าไม่ให้มีคอร์รัปชั่นเลย พรรคจะแตกกระจาย

นักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่า จีนแผ่นดินใหญ่ก็จะหนีไม่พ้นปัญหาเดียวกันนี้แน่นอน และยิ่งเป็นระบอบการเมืองปิด ระบบศาลก็จะไม่เที่ยงกับทุกคนเสมอกัน มาถึงจุดหนึ่งก็จะเห็นพรรคพวกของสี จิ้นผิงได้รับการปกป้อง ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ไม่ได้ ก็จะสร้างความไม่พอใจ ก็จะต้องเป็นปัญหา และสีก็จะต้องค่อยๆ เลิกราไป มิฉะนั้นก็เสี่ยงที่จะถูกเลื่อยขาเก้าอี้ นักวิเคราะห์บางคนก็คิดว่าสีคงฉลาดพอที่จะรู้ว่าขณะนี้หยิกเล็บยังไม่เจ็บเนื้อ ถ้าเจ็บเมื่อไรคงหยุด เพื่อให้ไม่เป็นภัยแก่ตัวเอง เขาคงจะเตรียมให้สถานะเขามั่นคงเพื่อเป็นผู้นำสูงสุดของจีนให้ได้ถึงสองสมัยคือ 10 ปี (ขณะนี้เป็นได้สามปีกว่าแล้ว) แล้วสถานการณ์ก็อาจเข้าสู่ระบบเดิมอีกครั้ง

การวิเคราะห์ในแนวนี้ได้ให้น้ำหนักไปที่ความสำคัญของการเมืองเปิด การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ การการันตีเสรีภาพของสื่อ และระบบศาลที่เที่ยงธรรม ที่จะเป็นกลไกปราบคอร์รัปชั่นที่ได้ผลกว่าการเมืองปิด

นั่นคือหากจีนมีระบบการเมืองเปิดที่เสถียร มีการการันตีเสรีภาพของสื่อและมีระบบศาลที่เที่ยงธรรม จีนจะสามารถทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่น ค่อยๆ คลี่คลายและลดลงไปเรื่อยๆ อย่างยั่งยืนในระยะยาว

หันมาดูไทย เริ่มมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด จึงไม่มีการปฏิรูประบบตำรวจ แม้จะได้เห็นกรณีอื้อฉาวที่โยงกับคอร์รัปชั่นหลายรูปแบบมาโดยตลอดแม้ในสมัยมาตรา 44

หวังว่าคำตอบต่อคำถามที่ว่าทำไมไทยทำไม่ได้ คงไม่ใช่สาเหตุเดียวกับที่นักจับตาจีนวิเคราะห์ไว้จากตัวอย่างของไต้หวัน นั่นคือ นอกจากการเมืองไทยจะเป็นระบอบการเมืองปิด ถูกวิจารณ์ว่าปิดกั้นสื่อ และศาลถูกวิจารณ์ว่าเลือกปฏิบัติแล้ว คอร์รัปชั่นยังอาจเป็นกลไกร้อยรัดผู้ร่วมสนับสนุนสำคัญๆ ของระบอบอำนาจนิยมไว้ไม่ให้แตกกระจาย

ผาสุก พงษ์ไพจิตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image