อำนาจประชาชน : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

มีเสียงพูดกันว่า ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช….ฉบับที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันพรุ่งนี้

หากเป็นเช่นนั้นตามที่ผู้ตั้งข้อสังเกตคือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างฯ ว่าไว้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่อยู่ระหว่างการนำกลับมาให้สภาปฏิรูปการขับเคลื่อนประเทศต้องมีการแก้ไขขนานใหญ่ ส่วนจะแก้ไขอย่างไร ต้องรอดูว่าสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ จะว่าอย่างไร

คำว่า “อาชีพ” ในความหมายที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บัญญัติไว้คือ

การเลี้ยงชีวิต การทำมาหากิน งานที่ทำเป็นประจำเพื่อเลี้ยงชีพ มีความหมายเดียวกับ อาชีว-อาชีวะ

Advertisement

ส่วน “วิชาชีพ” หมายถึงวิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์

พจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ.2547 ให้ความหมายอาชีพ คล้ายกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่ความหมายวิชาชีพ กำหนดอย่างกว้างว่า ความรู้ที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เช่น วิชาช่างทั้งหลาย

ความแตกต่างระหว่าง “อาชีพ” กับ “วิชาชีพ” อาจเป็นเพียงการมีความรู้ในการประกอบอาชีพ เช่นต้องเรียนจากโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาในวิชานั้นเป็น “วิชาชีพ” กับการทำมาหากิน เลี้ยงชีพชอบ ซึ่งอาจไม่ต้องเรียนในสถาบันการศึกษาก็ได้

Advertisement

เมื่อความซับซ้อนในสังคมมีมากขึ้น การทำอาชีพกับการประกอบวิชาชีพจึงมีความแตกต่างกันออกไปอีก คือ วิชาชีพกำหนดจากวิชาความรู้ที่เรียนมา หากไม่ผ่านการเรียนรู้ในเรื่องนั้น จะประกอบวิชาชีพนั้นไม่ได้ เช่น วิชาแพทยศาสตร์ วิชาพยาบาลศาสตร์ หรือ พยาบาลวิชาชีพ วิชากฎหมาย วิชาวิศวกรรมศาสตร์ วิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ต้องเรียนถึงระดับปริญญาตรี และวิชาช่างทั้งหลายในระดับประกาศนียบัตร

ส่วนสำคัญของ “วิชาชีพ” คือความรับผิดชอบต่อการประกอบวิชาชีพนั้น จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมไม่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นทำผิดไปจากวิชาที่กำหนด หรือไม่ให้ผู้ที่มิได้เรียนโดยตรงมาประกอบอาชีพนั้นได้ เช่น แพทย์ พยาบาล กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม ครู ทั้งต้องเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับมวลชน อาจสร้างความเสียหายให้กับบุคคลหรือสังคมได้

เพื่อให้วิชาชีพรับผิดชอบต่อสังคม ต่อวิชาที่ร่ำเรียนมา และไม่กระทำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ มีสภาวิชาชีพคอยตรวจสอบและควบคุม ที่สำคัญผู้ที่ประกอบวิชาชีพต้องเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพนั้น มีโทษหากผู้ประกอบวิชาชีพนั้นกระทำความผิด โทษของความผิดที่เกิดขึ้น มีตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือนด้วยลายลักษณ์อักษร ไม่ให้ประกอบวิชาชีพนั้นเป็นเวลาตามกำหนดของโทษ ที่สำคัญคือมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เช่น จรรยาแพทย์ จรรยาครู มารยาททนายความ เป็นต้น

ขณะที่อาชีพสื่อสารมวลชนที่มีผู้ให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ผู้เข้ามาประกอบอาชีพส่วนใหญ่เป็นไปตามความสมัครใจ ไม่ต้องเรียนในสถาบันการศึกษา ไม่ต้องมีประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตรรับรองก็ทำมาหากินหรือเลี้ยงชีพชอบได้

เลิศ อัศเวศน์ บอกไว้ในหนังสือ “คือ…คนหนังสือพิมพ์” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า ทั้งพ่อทั้งแม่ไม่เห็นด้วย เพราะสมัยนั้นอาชีพนักข่าวและนักเขียนถูกจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน คือ เป็น “นักประพันธ์ไส้แห้ง”

อาชีพนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เป็นอาชีพที่อิสระเสรี แม้มีสังกัดอยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับใดฉบับหนึ่ง อาจโยกย้ายไปอีกฉบับได้ทันที การปฏิบัติหน้าที่คือนักข่าวต้องหาข่าวและเขียนข่าว ส่วนนักเขียนต้องเขียน

ขณะต้องอยู่บนพื้นฐานของจรรยาบรรณที่ผู้ประกอบอาชีพเดียวกันกำหนดขึ้นเอง และควบคุมกันเอง

อาชีพ หรือวิชาชีพ ที่เรียกภายหลังว่า “สื่อมวลชน” ยึดหลักการและดำเนินการเพียงประการเดียว คือยึดถือสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ และต้องนำเสนอปรากฏการณ์เพื่อให้ความจริงปรากฏ

ไม่มีอำนาจใดมาปิดกั้นได้ เว้นแต่อำนาจประชาชน

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image