ดุลยภาพดุลพินิจ : การจัดสรรงบประมาณด้านสังคมของรัฐบาล กระจายลงพื้นที่จังหวัดอย่างไร?

ดุลยภาพดุลพินิจ : การจัดสรรงบประมาณด้านสังคมของรัฐบาล กระจายลงพื้นที่จังหวัดอย่างไร?

ตั้งแต่ปี 2562-ปัจจุบัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเกินกว่า 3 ล้านล้านบาทขึ้นไป จำแนกเป็นหลายรายการเช่นด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ฯลฯ รายจ่ายด้านสังคมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 ของรายจ่ายรวม ในโอกาสนี้ผู้เขียนประมวลข้อมูลสถิติงบประมาณด้านสังคมมาวิเคราะห์ ศึกษาการกระจายหรือกระจุกตัวตามจังหวัด/ภูมิภาค พร้อมกับทดสอบข้อสันนิษฐานว่า รายจ่ายด้านสังคมช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างจังหวัดหรือภูมิภาคหรือไม่ โดยหวังว่าข้อมูลนี้อยู่ในความสนใจของผู้อ่านและอาจจะเป็นประโยชน์ต่อ ส.ส. ส.ว. หรือผู้บริหารประเทศที่มีส่วนกำหนดการจัดสรรรายจ่ายภาครัฐ

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าของการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ แสดงข้อมูลมิติพื้นที่ (จังหวัด) ช่วยขยายองค์ความรู้ด้านความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่ได้เป็นอย่างดีจึงขอแสดงความขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ ผู้เขียนประมวลข้อมูลการจัดสรรรายจ่ายด้านสังคมเป็นรายจังหวัดในช่วง 8 ปี เพื่อวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำ จำแนกกลุ่มจังหวัด (5 กลุ่มเพื่อสังเกตว่าจังหวัดใดได้รับงบประมาณมาก-น้อย) นำไปสู่วิจารณ์หรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป ก่อนอื่นขอแสดงการเปลี่ยนแปลงข้อมูลภาพรวมในช่วง 8 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นหรือลดลงปีต่อปี แต่ไม่มาก ไม่มีแนวโน้ม (เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างชัดเจน ในช่วงไวรัสโควิดระบาดในปี 2563-2564 ตัวเลขก็ไม่ผันผวนมาก) นำไปคำนวณต่อเป็น “รายจ่ายต่อหัวด้านสังคม” เพื่อการเปรียบเทียบข้ามพื้นที่จังหวัดหรือภูมิภาค คำนวณดัชนีจินีดังรูปภาพที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

การวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำ นักเศรษฐศาสตร์นิยมใช้เส้นลอเรนซ์และค่าดัชนีจินีซึ่งแสดงเป็นรูปภาพและตัวเลข พบหลักฐานว่า มีความเหลื่อมล้ำระหว่างจังหวัดอย่างมีนัยสำคัญ กรณีแรกหากรวมกรุงเทพมหานครด้วยจะได้ค่าความเหลื่อมล้ำสูงมาก เพราะว่ารายจ่ายกระจุกตัวในกรุงเทพมหานครสูง งบประมาณของกรม/กระทรวงรวมเงินเดือนข้าราชการส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ในกรณีที่สอง โดยไม่รวม กทม. ดัชนีความเหลื่อมล้ำลดลง แต่วัดด้วยดัชนีจินีเท่ากับ 0.22 ซึ่งถือว่าเหลื่อมล้ำพอสมควร (น้องที่สุด 1,975 บาทต่อคน ถึงมากที่สุด 10,406 บาทต่อคน)

ADVERTISMENT

เพื่อเห็นความแตกต่างชัดเจน ขอระบุชื่อจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านสังคมต่อหัวน้อย เปรียบเทียบกับจังหวัดได้รับงบประมาณด้านสังคมต่อหัวสูงสุด (เฉพาะปีงบประมาณ 2565 โดยไม่รวมกรุงเทพมหานคร)

การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล มีความสำคัญกับทุกคนเพราะว่ารายได้รัฐมาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ต้องยอมรับว่าการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินนั้นมีเป้าหมายอเนกประสงค์ รายจ่ายด้านสังคมเป็นเพียงมิติหนึ่งแต่ทว่ามีความสำคัญ (ร้อยละ 45 ของรายจ่ายรวม) ถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนเด็ก ผู้สูงวัย ผู้พิการหลายสิบล้านคนผ่านกลไกของราชการทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น และหน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการแต่ว่าเป็นของรัฐอีกจำนวนหนึ่ง เช่น กองทุน สสส. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ฯลฯ ตามหลักอุดมคติรายจ่ายด้านสังคมน่าจะมีส่วนลดความเหลื่อมล้ำ คือช่วยจังหวัดที่ยากจนหรือด้อยโอกาสให้ไล่กวดจังหวัดร่ำรวยได้ (catching-up hypothesis) แต่ความจริงเป็นอย่างไร? ควรถูกตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจัง การตรวจสอบอย่างเป็นทางการผ่านรัฐสภา ส.ส. ส.ว. สามารถเป็นปากเสียงให้จังหวัดยากจนในการจัดสรรงบประมาณ อย่างไม่เป็นทางการคือประชาชน สื่อมวลชน ฝ่ายวิชาการและวิจัย สามารถให้ความเห็นหรือชี้แนะได้ (ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชน) มาตรการลดความยากจนและส่งเสริมจังหวัดที่เปราะบาง/ด้อยโอกาสดำเนินการโดยหลายกรม/กระทรวง

ADVERTISMENT

แต่ทั้งหมดล้วนผ่านกลไกงบประมาณบริการสาธารณะและกิจกรรมในภาครัฐล้วนเงินงบประมาณฯ ข้อมูลเบื้องต้นที่นักวิจัยนำมารายงานน่าจะเป็นประโยชน์ต่อ ส.ส. ส.ว. หรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานนำไปพิจารณาประกอบหรือวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลตามสมควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image