เส้นทาง ปรองดอง ราบรื่น ชนชั้นนำ ขรุขระ ประชาชน

เส้นทางการปรองดองตามแนวทางของรัฐบาล

มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอน

ขณะที่ตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากภาครัฐ

อันประกอบด้วย “ชนชั้นนำ” ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

Advertisement

พุ่งเป้าเรื่องการปรองดองทางการเมืองไปที่พรรคและนักการเมืองเป็นหลัก

ปฏิกิริยาจากภาคประชาชน

โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งทางการเมือง

Advertisement

ยังเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เย็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ในงานสัมมนา “วาทกรรมปรองดองหรือลบลืม แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ กรรมการ ป.ย.ป.

นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ที่วัดปทุมวนาราม เมื่อปี 2553

และ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของ นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน

นางอังคณากล่าวว่า รัฐบาลต้องอดทนรับฟังความคิดเห็นของคู่ขัดแย้ง

เปิดพื้นที่ในการแสดงออก เพราะยังมีกฎหมายบางฉบับจำกัดการแสดงความคิดเห็น

นางพะเยาว์กล่าวว่า ที่ผ่านมาการปรองดองทำไม่สำเร็จ เพราะฟังใครไม่เป็น

ระดับหัวหน้าไม่ยอมรับความจริง

ความปรองดองจะสำเร็จจากรัฐบาลการเลือกตั้ง ไม่ใช่สำเร็จจากรัฐบาลนี้

ที่บอกว่าเป็นกลางจริงหรือไม่ คณะกรรมการปรองดองเป็นทหารถึง 90%

ในความปรองดองนั้น ความยุติธรรมสำคัญที่สุด

หากจะมีการปฏิรูป ทางกองทัพควรปฏิรูปตัวเองก่อน

ขณะที่นายวิบูลย์กล่าวว่า การปรองดองมิใช่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก

อยากปรองดองต้องพูดความจริง

ควรสั่งเจ้าหน้าที่ไม่ไปกลั่นแกล้งชาวบ้าน

เพราะจะยิ่งสร้างความขัดแย้งสร้างปัญหากับชาวบ้าน

ส่วน พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า เห็นด้วยกับนางอังคณา

บางคนไม่มีความผิด แต่ต้องถูกจำคุก บางคนออกมาจากคุกแล้วก็มี ต้องเยียวยา

ตรงนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังทำ อาจเข้าสภา 3 วาระรวด

คาดว่า 1-2 วันจะเห็นภาพความยุติธรรมมากกว่านี้

ไม่แต่เนื้อหาของการสัมมนา

ในแถลงการณ์ของญาติผู้ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมือง 2553 ระบุว่า

แม้จะเห็นด้วยกับหลักการของการปรองดอง

แต่

“พวกเราไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการยึดอำนาจไปจากประชาชน องค์กรและกลุ่มบุคคลที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมทางการเมือง

จนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและร่างกายของประชาชนเป็นจำนวนมาก

ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มบุคคลเหล่านั้นได้เป็นผู้ใช้อำนาจแต่งตั้ง

และได้รับการแต่งตั้งให้มาสร้างความสามัคคีปรองดอง

สังคมย่อมมีข้อกังขาและไม่อาจสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติได้อย่างแท้จริง

กลับจะนำพาสังคมไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ ลบลืมต้นเหตุของความขัดแย้ง

ซึ่งพวกเราไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”

เส้นทางของการปรองดอง อาจจะราบรื่นในหมู่ “ชนชั้นนำ”

แต่ไม่ราบรื่นเท่าใดนัก

บนเส้นทางปรองดองกับประชาชนคนธรรมดา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image