คุณภาพคือความอยู่รอด : อีกหนึ่งเครื่องมือ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง “พระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ.2560” จึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไปแล้ว

ภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มเครื่องมือที่ชักจูงการลงทุนเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในการดึงให้กิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ (Investment-led growth) มาลงทุน โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ สร้างประโยชน์อย่างสูงต่อเศรษฐกิจและสังคม และสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน รวมถึงต้องเป็นอุตสาหกรรมประเภทใหม่ที่ไม่เคยมีการผลิตหรือการให้บริการในประเทศมาก่อน หรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่หรือใช้ความรู้ในการผลิตขั้นสูง เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรม เป็นต้น

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่มีภายใต้กฎหมายฉบับนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 15 ปี (2) เงินสนับสนุนจากกองทุนขนาด 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ การสนับสนุนเงินดังกล่าวจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์ รวมถึงรายละเอียดแต่ละโครงการอย่างเหมาะสมและเกิดความคุ้มค่ากับเงินที่สนับสนุนไป โดยมีประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมไทย และประเทศไทยเป็นหลัก

และ (3) สิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน โดยไม่รวมสิทธิประโยชน์ด้านยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศ การอนุญาตให้นำผู้เชี่ยวชาญ ช่างฝีมือต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศ พร้อมกับการให้บริการขอวีซ่า และ Work Permit เป็นต้น ทั้งนี้ จะมุ่งเน้นการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนด้วย

Advertisement

กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฉบับนี้ มุ่งเน้นในการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย ซึ่งเท่ากับเป็น “อีกหนึ่งเครื่องมือ” ในการสนับสนุนนโยบาย “Thailand 4.0” ที่เป็นโมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน ไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ที่ต้องการทำให้คนไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image