แม่น้ำยม (สุโขทัย) ได้ชื่อจาก ‘น้ำยม’ เมืองแถนในอุดมคติ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม

มีต้นกำเนิดจากลำน้ำเล็กๆ หลายสายจากดอยสันปันน้ำและดอยภูลังกา อ.ปง จ.พะเยา ไหลผ่าน จ.แพร่ ลงไป จ.สุโขทัย, จ.พิษณุโลก, จ.พิจิตร, จ.นครสวรรค์ รวมแม่น้ำน่านที่บ้านเกยไชย ต.เกยไชย อ.ชุมแสง (นครสวรรค์) ยาว 700 กิโลเมตร

แม่น้ำยม ได้ชื่อ “ยม” จากไหน?

โดยทั่วไปมักลากเข้าแม่น้ำยมนา หรือยมุนาในอินเดีย แต่ไม่ใช่ และไม่น่าเชื่อ

ADVERTISMENT

คำว่า “ยม” ในชื่อแม่น้ำยม ควรได้จาก “น้ำยม” บ้านนาน้อย (แห่งนาน้อยอ้อยหนูในตำนานขุนบรม) เมืองแถน (เวียดนามเรียกเดียนเบียนฟู ภาคเหนือของเวียดนาม) ตามข้อเขียนเพิ่งได้อ่านของธนกร การิสุข ดังต่อไปนี้

เมื่อเดินทางไปถึงหมู่บ้านที่ชื่อ “นาน้อย” ผู้เขียนได้แวะสำรวจภูมิทัศน์ของหมู่บ้านนี้อยู่ครู่หนึ่งก่อนขับรถเข้าไปในหมู่บ้าน

ADVERTISMENT

ภาพที่เห็นต่อหน้าคือ มีต้นน้ำของแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลไปถึงเดียนเบียนฟูไหลผ่านหน้าหมู่บ้าน

ในภาษาเวียดนามเรียกแม่น้ำนี้ว่า “Nm Rm ภาษาไทดำออกเสียงว่า “หน่ำโส้ม”, “หน่ำโสม” ภาษาไทยว่า “น้ำยม”

[จากบทความเรื่อง ไป “บ้านนาน้อย” ที่เดียนเบียนฟู ตามหา “นาน้อยอ้อยหนู” ใน “พื้นขุนบูลม” ของ ธนกร การิสุข นักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ (กำลังจะขึ้นปี 3) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พิมพ์ใน ทางอีศาน ฉบับกรกฎาคม 2567 หน้า 82]

พออ่านจบบทความทำให้มั่นใจว่าเป็นไปได้มากที่แม่น้ำยม (สุโขทัย) ได้ชื่อจาก “น้ำยม” เมืองแถนในอุดมคติ เพราะมีภาษาและวัฒนธรรมเชื่อมโยงถึงกัน ผมติดต่อปรีดา ข้าวบ่อ ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากธนากร การิสุข เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่ง จึงมีภาพถ่ายและแผนที่น้ำยมเมืองแถนมาประกอบทั้งหมด (ขอขอบคุณอย่างสูงยิ่ง)

ต้นน้ำยม บ้านนาน้อย (อ้อยหนู) เมืองแถน (ภาพโดย ธนกร การิสุข)
โรงแรมสองฝั่งน้ำยม เมืองแถน เวียดนาม (ภาพโดย ธนกร การิสุข)
“แถนแม่เบ้า” แก่งหินกั้นกลางลำน้ำโซม (หรือน้ำยม) บ้านนาน้อยอ้อยหนู ชาวบ้านเชื่อว่า นี่คือภาพแทนแถนแม่เบ้า ซึ่งเป็นแถนผู้หญิงที่ทำหน้าที่ให้กำเนิดมนุษย์ (ถ่ายเมื่อ 12 มีนาคม พ.ศ. 2559 โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร)

แผนที่แสดงเส้นทางลำน้ำยม (Nậm Rốm) ซึ่งไหลผ่านบ้านนาน้อย (Nà Nọi) เข้าไปยังเมืองแถง (เดียนเบียนฟู Điện Biên Phủ)
มุมขวาบนสุดเป็นบ้านนาน้อย (โดย ธนกร การิสุข)

น้ำยม เมืองแถน

น้ำยมจากนาน้อย (อ้อยหนู) ไหลผ่านเมืองแถน ผมเคยเขียนบอกเล่าไว้เมื่อ 33 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2534 ดังนี้

ที่เมืองแถนมีลำน้ำไหลผ่านเมืองชื่อน้ำยมหรือน้ำลม (ในตำนานเมืองแถน มีชื่อขุน บูลมหรือบูฮมหรือบูยม) เชื่อมต่อน้ำนัว จากนั้นไหลงไปลงน้ำอู แล้วออกแม่น้ำโขง ลงหลวงพระบาง

นิราศเมืองหลวงพระบาง บรรยายว่าเมื่อปราบฮ่อและจัดการบ้านเมืองแถบ สิบสองจุไทเรียบร้อยแล้ว กองทัพสยามก็ออกจากเมืองแถนไปเมืองหลวงพระบางเพื่อกลับกรุงเทพฯ โดยลงเรือล่องลำน้ำยมอย่างราบรื่นเพราะไม่เกาะแก่งกีดขวางทางเรือ

ล่องน้ำยมอารมณ์รื่นค่อยชื่นชุ่ม          นั่งสุขุมคิดหวังเห็นฝั่งเฝือ
ล้วนเซิงซุ้มพุ่มผกาลัดดาเครือ             คนึงเนื้อนวลใจพลางไคลคลา
ดูน้ำยมสมถวิลกระสินธุ์ใส                    ช่างหลั่งไหลเรื่อยรี่ดีนักหนา
ไม่มีแก่งเกาะขวางทางนาวา                ล่องลอยมาในนทีได้สี่โมง

ต่อจากนั้นก็ออกลำน้ำนัวที่เต็มไปด้วยเกาะแก่งมากมายและอันตรายยิ่ง—-

จากเมืองแถนผ่านน้ำนัว ก็ออกน้ำอู แล้วออกน้ำโขง ลงไปหลวงพระบาง

[จากหนังสือ ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม โดย ศรีศักร วัลลิโภดม, สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2534 หน้า 172-173]

ดังนั้น น้ำยมเป็นลำน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่น่าจะเกี่ยวข้องชื่อบูฮม-บูลม-บรมในตำนาน บรรพชนของคนตระกูลภาษาไท-ไต หรือ ไท-กะได มีศูนย์กลางอยู่ภาคเหนือเวียดนามต่อเนื่องภาคใต้ของจีน หลายพันปีมาแล้ว

ชื่อน้ำยมติดไปกับภาษาและวัฒนธรรมที่แผ่ไปตามเส้นทางการค้าถึงไทย ผมเคยบอกเล่าไว้ในหนังสือ อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย (สำนักพิมพ์นาตาแฮก พ.ศ. 2566 หน้า 157-164) จะคัดมาดังนี้

ภาษาและวัฒนธรรมตามเส้นทางการค้า

อำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไท-ไตแผ่ไปกว้างขวางตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป หนุนด้วยพลังการค้านานาชาติที่เข้ามาทางอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ในที่สุดภาษาไท-ไตเติบโตเป็นภาษาไทยแล้วเป็นภาษากลางของรัฐ และท้ายที่สุดเป็นภาษาราชการของอาณาจักร

เผ่าพันธุ์กับภาษาในทางสากลไม่จำเป็นต้องผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป เพราะภาษาแพร่กระจายไปอย่างมีประสิทธิภาพตามพลังผลักดันทางสังคมและเศรษฐกิจ-การเมืองของประวัติศาสตร์ โดยไม่ต้องถูกทำให้ย้ายถิ่นในฉับพลันอย่างทารุณโหดร้ายตาม “การอพยพถอนรากถอนโคน” ของคนพูดภาษานั้นๆ ซึ่งพบในประวัติศาสตร์แห่งชาติ “เพิ่งสร้าง” ของไทย

ภาษาไทยเคลื่อนไหวแผ่กระจายได้ทุกทิศทางโดยคนพูดภาษาไทยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายไปด้วย แต่ถ้าจะมีคนบางกลุ่มหรือหลายกลุ่มที่พูดภาษาไทยโยกย้ายไปๆ มาๆ (ไม่ไปทิศทางเดียว) เป็นปกติด้วยก็ได้ เพราะไม่มีข้อห้าม หรือไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว ซึ่งพบร่องรอยเหล่านี้ได้ในตำนานนิทานหลายเรื่อง เช่น นิทานขุนบรม ที่สะท้อนความเคลื่อนไหวโยกย้ายของตระกูลภาษาไท-ไต จาก จ้วง-ผู้ไท บริเวณโซเมียทางมณฑลกวางสี (ภาคใต้ของจีน) กับภาคเหนือของเวียดนาม สู่ลุ่มน้ำโขง กระจายถึงบริเวณโยนก แล้วต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำสาละวิน ตลอดจนลงถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

ขุนบรมเป็นทายาทแถนอยู่เมืองแถน ต่อมามีลูกชาย 7 คน เมื่อโตขึ้นได้แยกย้ายไปก่อบ้านสร้างเมืองเป็นเครือญาติพี่น้อง 7 แห่ง ได้แก่ 1. เมืองหลวงพระบาง ในลาว (โดยขุนลอ) 2. เมืองหอแต สิบสองพันนา ในจีน (โดยยี่ผาลาน) 3. เมืองแกวช่องบัว ในเวียดนาม (โดยสามจูสง) 4. เมืองยวนโยนก ลุ่มน้ำกก-อิง-โขง ในไทย (โดยไสผง) 5. เมืองอโยธยา-สุพรรณภูมิ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในไทย (โดยงั่วอิน) 6. เมืองคำเกิด ลุ่มน้ำโขง ในลาว (โดยลกกลม) 7. เมืองพวน แขวงเชียงขวาง ในลาว (โดยเจ็ดเจือง)

ในดินแดนประเทศไทยมี 2 เมืองเชื้อสายขุนบรมซึ่งมีความสัมพันธ์ผันแปรทั้งเครือญาติใกล้ชิดและคู่สงครามต่อเนื่องยาวนาน ได้แก่ (1.) เมืองยวนโยนก ต่อไปคือ รัฐล้านนา และ (2.) เมืองอโยธยา-สุพรรณภูมิ ต่อไปคือ รัฐอยุธยา ขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์ทั้งเชิงเครือญาติและเชิงศัตรูกับเมืองเชื้อสายขุนบรมที่อยู่ในเขตลาว คือ เมืองหลวงพระบาง ความสัมพันธ์เหล่านี้พบประจักษ์พยานที่กษัตริย์อยุธยาเชื้อสายสุพรรณภูมิในพระนามเดียวกันทุกพระองค์ว่า “บรมราชา” มีต้นตอจากชื่อขุนบรม และมีให้เห็นเป็นสัญลักษณ์อยู่ในวรรณกรรมสำคัญเรื่องขุนช้างขุนแผน เกี่ยวข้องหมดทุกเมืองทั้งอยุธยา, ล้านนา, หลวงพระบาง

เส้นทางขุนบรม ผู้ไท หรือไทดำ มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญมากในความเคลื่อนไหวโยกย้ายไปมาของภาษาและวัฒนธรรมไท-ไตจากเมืองแถน (ในเวียดนาม) ถึงเมืองไทย (รัฐอยุธยา) ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป (ทางบก) พบหลักฐานเป็นร่องรอยอยู่ในความทรงจำคำบอกเล่ารูปตำนานนิทานเรื่องขุนบรม

แผนที่แสดงตำแหน่งเมืองแถนและเมืองเครือญาติบนเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีปตามตำนานเรื่องขุนบรม (แผนที่โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ มิถุนายน 2564)

เส้นทาง (ในความทรงจำเรื่องขุนบรม) เหล่านั้นไม่ระบุตายตัวเรื่องยุคสมัย แท้จริงแล้วคือเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีปตั้งแต่สมัยดั้งเดิมเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้วสืบเนื่องถึงสมัยหลังๆ โดยเฉพาะสมัยการค้าสำเภากับจีนราวหลัง พ.ศ. 1500 พบหลักฐานการเคลื่อนไหวโยกย้ายของภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในลงลุ่มน้ำท่าจีน ทางฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เนื้อหาเรื่องขุนบรมและลูกชายทั้ง 7 คนล้วนสมมุติขึ้นทั้งหมด แต่ตำแหน่งบ้านเมืองและชื่อบ้านนามเมืองอาจใกล้เคียงความจริงตามภูมิประเทศที่เป็นจริงบริเวณ “โซเมีย” ตั้งแต่มณฑลกวางสี-จ้วง ทางตอนใต้ของจีน ต่อเนื่องพื้นที่เดียวกันกับวัฒนธรรมดงเซิน-ซาหวิ่น ทางตอนเหนือของเวียดนาม แล้วเคลื่อนไหวโยกย้ายไปตามเส้นทางบกถึงลุ่มน้ำโขงลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าดินแดนภายใน เชื่อมโยงทางใต้ของจีนกับดินแดนคาบสมุทรระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือเมื่อเรือน พ.ศ. 1

หลักฐานสนับสนุนเท่าที่พบมีหลายอย่าง แต่อย่างสำคัญมีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งในไทยและในเวียดนาม (รวมภาคใต้ของจีน) ได้แก่ พูดตระกูลภาษาไท-ไต, นับถือแถน, ความเชื่อเรื่องขวัญ, ทำนาทดน้ำ, ประเพณีทำศพครั้งที่ 2, เทคโนโลยีโลหะสำริด เป็นต้น

เทคโนโลยีโลหะสำริดเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะจากการขุดค้นทางโบราณคดีโนนหนองหอ (บ้านนาอุดม ต. นาอุดม อ. นิคมคำสร้อย จ. มุกดาหาร) ได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ มีรูปแบบคล้ายคลึงใกล้เคียงอย่างเดียวกับที่พบในกลุ่มวัฒนธรรมดงเซิน-ซาหวิ่น จากเวียดนามเหนือ (เอกสาร โนนหนองหอ แหล่งผลิตกลองมโหระทึกในประเทศไทย จัดทำโดยสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ไม่บอกปีที่พิมพ์) ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณหลักแหล่งของผู้ไท หรือไทดำ ลุ่มน้ำแดง-ดำ

[นอกจากนั้นยังมีเส้นทางการค้าเลียบชายฝั่งจากทางใต้ของจีนกับทางเหนือของเวียดนามเข้าถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงพบวัฒนธรรมดงเซิน-ซาหวิ่น เช่น เครื่องรางรูปสัตว์มีสองหัวเรียก “ลิง-ลิง-โอ” ในเขตเมืองอู่ทอง ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง (ดูในหนังสือ ประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองอู่ทอง โดย ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก 2549 หน้า 77)]

“ขุนบรม” เป็นคำเรียกอย่างไทย แต่ลาวเรียก ขุนบูลม, ขุนบูฮม ได้รับยกย่องเป็น “วีรบุรุษในตำนาน” ของคนลุ่มน้ำโขงกับลุ่มน้ำแดง-ดำ ขุนบรมเป็นทายาทแถน มีศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์อยู่เมืองแถน (ปัจจุบันมีชื่อภาษาเวียดนามว่า “เดียนเบียนฟู”) ลุ่มน้ำแดง-ดำ อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ติดพรมแดนลาวทางแขวงหลวงพระบาง-แขวงพงสาลี-แขวงซำเหนือ

เมืองแถน เป็นเมืองลาวเก่า มีบอกในตำนานหรือนิทานเรื่องขุนบรมตอนหนึ่งมีความว่า “—–พระยาผีแถน จักให้ท้าวขุนบรมลงมาเกิดในเมืองลาวเก่า—–” เท่ากับเป็นหลักฐานว่าลาวล้านช้าง (หลวงพระบาง) และลาวล้านนา (ในโยนก) มีบรรพชนอยู่เมืองแถน เดิมเรียกนาน้อยอ้อยหนู [เมืองแถน บางแห่งว่าเมืองแถง ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเสียง ง กับเสียง น เลื่อนสลับกันได้]

แถน คือขุนแผน บริเวณภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรียกแถนด้วยสำเนียงกลายเป็นไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า “ขุนแผน” หมายถึงพระพรหม มีในโองการแช่งน้ำตอนพระพรหมตรวจภูมิสถานเมื่อมีแผ่นดินเกิดใหม่หลังไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลกว่า “ขุนแผน แรกเอาดิน ดูที่” จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ในหนังสือโองการแช่งน้ำว่ายุคแรกๆ พวกไทยยังไม่คุ้นชื่อเทวดาที่เรียกด้วยภาษาสันสกฤต จึงเอาคำไท-ไตดั้งเดิมที่คุ้นเคยมาใช้เรียกแทน

แถน (ผู้รู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนอธิบายว่ามีรากจากคำจีนว่า เทียน แปลว่า ฟ้า) หมายถึง อำนาจเหนือธรรมชาติซึ่งถือเป็นบรรพชนของผู้ไทและคนในตระกูลไท-ไตทั้งหลาย บางทีเรียกผีฟ้า, เจ้าฟ้า เพราะเชื่อว่าสิงอยู่บนฟ้า เป็นเจ้าใหญ่ของท้องฟ้า แล้วเชื่ออีกว่าเป็นผู้ควบคุมน้ำที่มีบนฟ้าซึ่งปล่อยให้ตกลงมาเป็นฝน จึงมีนิทานจุดบั้งไฟขอฝนบนฟ้าจากแถน

ดินแดนภายในภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวแผ่กระจายของภาษาไทยหลายพันปีมาแล้ว มีขอบเขตเหนือสุดอยู่บริเวณโซเมียลุ่มน้ำแยงซีทางภาคใต้ของจีน ส่วนทางใต้สุดอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทางภาคกลางของไทย

คนหลายเผ่าพันธุ์ต่างมีภาษาแม่เป็นภาษาพูดของตนเอง แต่เมื่อต้องพูดจาค้าขายกับคนกลุ่มอื่นจึงต้องใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง แล้วค่อยๆ เติบโตขยับขยายแผ่กว้างไป ครั้นนานไปก็คุ้นชินในชีวิตประจำวันทำให้ภาษาไทยมีอำนาจและมีอักษรไทย ดึงดูดให้คนหลายเผ่าพันธุ์เหล่านั้นกลายตนแล้วเรียกตนเองว่าไทยหรือคนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image