ภาพเก่า…เล่าตำนาน : ตัดสินปัญหา’ท้าดวลปืน’ครั้งประวัติศาสตร์ในอเมริกา : โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก

ลูกผู้ชายถือคติ “ฆ่าได้ หยามไม่ได้” แทบไม่น่าเชื่อแต่ต้องเชื่อครับ ความขัดแย้งของ 2 สุภาพบุรุษในการเมืองสหรัฐ ไปจบลงด้วยการท้าดวลปืนกันแบบตัวต่อตัว มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ประวัติศาสตร์ของอเมริกาบันทึกไว้อย่างละเอียดเพื่อการศึกษาของคนรุ่นหลัง

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนนี้ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว ซึ่งเปิดเผยไลฟ์สไตล์ของคนอเมริกันรุ่นบุกเบิกที่ต้องพึ่งพาอาวุธปืนในช่วงอพยพเข้าไปตั้งรกรากในอเมริกา รวมทั้งสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่คนอเมริกันถือว่าต้องเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพื่อที่จะปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยด้วยปืน

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ลูกผู้ชายตกลงใจตัดสินกันด้วยการดวลปืน โดยไม่ต้องการให้คนอื่นต้องพลอยเดือดร้อน เป็นกรณีศึกษาที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ เรียกว่า “Burr-Hamilton duel”

ลองมาคุยกันในรายละเอียดครับ

Advertisement

อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2298 ที่เมืองชาร์สทาวน์ (Charlestown, British West Indies) เป็นบุตรนอกสมรสที่พ่อแม่ทอดทิ้ง แต่มีญาติใจบุญเก็บไปเลี้ยงดู เติบโตพร้อมกับเรียนหนังสือที่ King’s college (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย) สมัครเข้าเป็นทหารต่อสู้กับอังกฤษเพื่อให้อเมริกาเป็นเอกราช

ระหว่างเป็นทหารอาสา แฮมิลตัน เก่ง ฉลาด กล้าหาญจนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่ แฮมิลตันได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทหารคนสนิท (aide-de-camp) ของนายพลจอร์จ วอชิงตัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพสหรัฐ เขาเป็นผู้นำหน่วยทหารในการสู้รบใหญ่ 3 ครั้ง เมื่อสงครามยุติลง จึงไปเรียนต่อจนจบ เข้ามาทำงานด้านนิติบัญญัติให้กับรัฐนิวยอร์ก เขาเป็นบุคคลหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักปรัชญาการเมือง แฮมิลตันเป็นคนริเริ่มให้มีการประชุมที่เมืองฟิลาเดลเฟีย อันเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งประเทศอเมริกา เป็นนักกฎหมายตีความรัฐธรรมนูญ

ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐบุรุษของอเมริกา

Advertisement

เมื่อ จอร์จ วอชิงตัน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีแต่งตั้งให้แฮมิลตัน เป็น รมว.คลังทันที วีรบุรุษสงครามคนนี้เป็น รมว.คลังที่ปราดเปรื่อง เป็นผู้วางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ก่อตั้งธนาคารชาติ วางระบบภาษีและมีบทบาทอย่างสูงในคณะรัฐมนตรี การเลือกประธานาธิบดีสมัยต่อมาในปี พ.ศ.2343 โทมัส เจฟเฟอร์สัน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และ แอรอน เบอร์ (Aaron Burr) ที่มีคะแนนรองลงมาได้เป็นรองประธานาธิบดี

ในช่วงปี พ.ศ.2344 แฮมิลตัน อดีต รมว.คลังคนแรกของสหรัฐไปทำงานหนังสือพิมพ์ มีข้อเขียนบทความที่กระทบกระทั่งทางความคิดหลายครั้งกับรองประธานาธิบดี แอรอน เบอร์ (Aaron Burr)

แอรอน เบอร์ (Aaron Burr) เกิดเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2299 ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ เป็นเด็กฉลาด เข้าเรียนวิทยาลัยนิวเจอร์ซีย์ตั้งแต่อายุ 13 ปี จบปริญญาตรีศิลปศาสตร์ตั้งแต่อายุ 16 ปี ไปเรียนต่อด้านกฎหมายที่รัฐคอนเนคทิคัต เกิดสงครามเลยไปสมัครเป็นทหาร เป็นผู้บังคับหน่วยที่กล้าหาญ ต่อมาถูกเรียกตัวไปเป็นนายทหารคนสนิทของพลเอก ริชาร์ด มอนต์โกเมอรี่ ได้รับยศร้อยเอก แต่ต่อมาขอกลับไปอยู่หน่วยรบ ในการรบครั้งหนึ่งผู้กองเบอร์นำหน่วยทหารแหกวงล้อมจากทหารอังกฤษในการรบที่เขตแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก ทำให้ทหารทั้งหน่วยรอดตาย เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ แต่ไม่ได้รับเหรียญตราจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ชื่อ จอร์จ วอชิงตัน จึงทำให้เกิดการกินแหนงแคลงใจตั้งแต่ครั้งอยู่ในสนามรบ (ซึ่งโคจรมาแข่งกันอีกในสนามการเมือง) เบอร์ได้รับการเลื่อนยศเป็นพันโท ต่อมาขอลาออกจากราชการเนื่องจากสุขภาพไม่ดี

เบอร์มีประวัติชีวิตที่โดดเด่นทั้งการศึกษาและการเป็นทหารนักรบ เช่นเดียวกับแฮมิลตัน เมื่อเบอร์ลาออกจากกองทัพก็หันมาเป็นนักกฎหมาย เป็นนักการเมือง ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภารัฐนิวยอร์ก 2 สมัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์ก เป็นสมาชิกวุฒิสภา จากรัฐนิวยอร์ก จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นรองประธานาธิบดี ในสมัยประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson)

ในเวทีการเมืองยุคนั้น ต้องนับว่าสุภาพบุรุษทั้งสอง คือ แฮมิลตันและเบอร์ เป็นนักการเมืองดาวรุ่งทั้งคู่ ซึ่งมีแนวคิดที่ไม่ตรงกัน

บุคคลทั้งสองมีความคิดเห็นขัดแย้งกัน แสดงตัวเป็นศัตรูทางการเมืองและเป็นคู่กัดแบบถาวรในเวทีสาธารณะด้วยหลากหลายสาเหตุ มีการกล่าวให้ร้ายกัน เหยียดหยามกันอย่างต่อเนื่องอย่างชนิดที่อภัยกันไม่ได้

เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับมนุษย์ คนเป็นลูกผู้ชายตั้งแต่เล็กจนโต ต้องเรียนหนังสือ ต้องทำมาหากิน การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นคงมีเรื่องแบบนี้ปะปนสอดแทรกเข้ามาบ้าง ถ้าหลีกเลี่ยงได้ทุกคนก็ประสงค์จะหลีกเลี่ยง แต่บางครั้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสะสางปัญหาให้มันจบสิ้นกันไป ค่านิยมของบุคคลสาธารณะระดับสูงและเป็นอดีตทหารนักรบในสมัยนั้น ต้องการปกป้องรักษาเกียรติแม้ต้องแลกด้วยชีวิต

ประการสำคัญที่สุด คือ จะต้องไม่ไปลากเอาคนส่วนใหญ่ในสังคมมาเกี่ยวข้องและเดือดร้อนด้วย

มนุษย์บนโลกนี้มีวิธีจัดการกับปัญหาทำนองนี้แตกต่างกันไป เริ่มด้วย การชกต่อย การใช้อาวุธหอกดาบแหลนหลาว ดวลดาบ พัฒนาเป็นการดวลปืน เด็กหนุ่มที่ข้องใจกันนัดกันไปเคลียร์ตามแต่จะตกลงกัน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถห้ามได้ถ้าเขาตกลงกันเอง หลายคู่จบลงด้วยมิตรภาพที่เป็นนิรันดร์ แต่เรื่องที่น่าเสียใจก็มีไม่น้อย

ผู้เขียนค้นหาปรัชญาของการต่อสู้ในลักษณะนี้ว่าทำเพื่ออะไร คำตอบคือ การต่อสู้มิได้มุ่งที่จะสังหารฝ่ายตรงข้ามเพื่อความสะใจ แต่เป็นความตั้งใจจะเสี่ยงชีวิตของตนเพื่อรักษาเกียรติยศ ศักดิ์ศรี หลักการของตนเองเมื่อถูกลบหลู่นักการเมืองทั้งสองกินแหนงแคลงใจกันมายาวนาน จนเหลืออด สุภาพบุรุษทั้งสองตกลงตัดสินใจไปดวลปืนกันเงียบๆ อย่างมีเกียรติ

เช้าวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2347 รองประธานาธิบดีเบอร์ และอดีต รมว.คลัง แฮมิลตัน เดินทางโดยเรือคนละลำจากเขตแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์กเพื่อข้ามแม่น้ำ ไปที่สนามแห่งเกียรติยศ (Field of Honor) เมืองวีฮอเกน (Weehawken) ในรัฐนิวเจอร์ซีย์

เมื่อถึงที่หมายแล้ว สุภาพบุรุษทั้งสองยังคงยืนยันที่ต้องดวลปืนตามสัจจะของลูกผู้ชาย

ข้อมูลที่สืบค้นมาได้ “สนามแห่งเกียรติยศ” จะต้องเป็นพื้นที่ลับตาผู้คน จะไม่ถูกขัดขวางจากทางการ และต้องเป็นพื้นที่ที่คลุมเครือในเรื่องการปกครองและบังคับใช้กฎหมาย บริเวณวีฮอเกนที่นักการเมืองทั้งสองเลือกนั้น เป็นพื้นที่ยอดนิยมที่ชาวนิวยอร์กนัดไปดวลปืนกัน เพราะเป็นพื้นที่ระหว่างกลาง ก้ำกึ่งในอำนาจการปกครองระหว่างนิวยอร์กกับนิวเจอร์ซีย์ ประการสำคัญคือ ตกลงกันว่าจะไม่มีการไปฟ้องร้องเอาผิดตามกฎหมายเมื่อมีการสูญเสีย

กฎหมายของรัฐนิวยอร์กระบุว่า การดวลปืนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย การไปดวลกันที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ก็ผิดกฎหมายเช่นกัน แต่เพราะทั้งคู่ไม่ต้องการให้สังคมต้องรับรู้ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว

ข้อมูลจากพยาน 2 คนที่ไปเป็นกรรมการคือ นายเพนเดลตัน (Pendleton) และนายเนส (Van Ness) ระบุว่า เมื่อสุภาพบุรุษทั้งสองพร้อม กรรมการสั่งให้ทั้งสองหันหลังชนกันถือปืนในมือแล้วเดินนับก้าวเพื่อกลับหลังมายิงกันตามกติกา

เสียงปืนดังสนั่นใกล้เคียงกัน 2 นัด ไม่แน่ใจว่าใครลั่นไกก่อน

กระสุนจากปืนของแฮมิลตันไปโดนต้นไม้สูงกว่าศีรษะเบอร์เป็นรูที่ต้นไม้ ส่วนกระสุนของเบอร์ออกจากปากกระบอก วิ่งตรงไปเจาะท้องน้อยของแฮมิลตัน คมกระสุนวิ่งทะลุต่อไปที่ซี่โครงด้านขวาของลำตัว เลือดทะลักทรุดลงทันที กรรมการพาแฮมิลตันที่ร่างโชกเลือดลงเรือกลับไปซ่อนตัวที่บ้านของเพื่อนชื่อวิลเลี่ยม เบยาร์ด (William Bayard Jr.) ย่านกรีนิช นิวยอร์ก ครอบครัวแฮมิลตันมาเยี่ยมดูใจหัวหน้าครอบครัวเป็นครั้งสุดท้าย แฮมิลตันเสียชีวิตในตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้น คือ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2347 ผู้ว่าการรัฐมาทำพิธีศพให้แบบเงียบๆ และฝังศพเขาไว้ที่สุสานทรินิตี้ (Trinity Churchyard) เขตแมนฮัตตัน

ปืนสั้นในยุคนั้นบรรจุกระสุนได้เพียงครั้งละ 1 นัด

พื้นที่ดวลปืนตรงนี้เมื่อราว 2 ปีก่อน ลูกชายของแฮมิลตันก็เคยมาดวลปืนแล้วถูกยิงเสียชีวิตเช่นกัน และปืนที่ใช้ยิงก็กระบอกเดียวกัน

คืนวันก่อนดวลปืน แฮมิลตันเขียนบันทึกไว้ว่า เขาจะตั้งใจยิงให้พลาดเป้าเพื่อต้องการยุติปัญหาโดยไม่เสียเลือดเนื้อ แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าบันทึกนั้นเป็นความจริงหรือไม่ เพราะทุกคนทราบดีว่าแฮมิลตันเกลียดชังรองประธานาธิบดีเบอร์เข้ากระดูกดำ

การดวลปืนครั้งประวัติศาสตร์วันนั้น รองประธานาธิบดีเบอร์ไม่ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายนะครับ ไม่มีการสืบสวนสอบสวนใดๆ แต่ประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สัน สั่งปลดเขาออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีทันที ซึ่งเขาหมดอนาคตทางการเมืองตลอดไป

เบอร์ตัดสินใจออกจากวอชิงตันไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อทำธุรกิจและทำงานการเมืองทางฝั่งตะวันตกของอเมริกา ต่อมาอดีตรอง ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกาคนนี้ต้องย้ายหลักแหล่งไปทำมาหากินในยุโรปอยู่หลายปี ตระเวนไปในหลายประเทศ ไปอยู่ลอนดอน 4 ปี กลับมานิวยอร์กอีกครั้งเพื่อทำงานด้านกฎหมาย เปลี่ยนนามสกุลเป็น Edwards ตามชื่อกลางของแม่เพื่อพรางตัวในสังคม ซึ่งก็ได้ผล เขาเสียชีวิตเมื่ออายุ 80 ปี ศพถูกฝังไว้ที่สุสานเมืองพรินซ์ตัน (Princeton) รัฐนิวเจอร์ซีย์

การดวลปืนของบุคลที่มีชื่อเสียงและได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์เพื่อพิสูจน์ศักดิ์ศรี รักษาเกียรติและชื่อเสียงในการเมืองสหรัฐอเมริกายังมีอีก 4 คู่ครับ

—————————————-
หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงเพื่อการศึกษาความขัดแย้งความคิด ความเชื่อ การแก้ปัญหาทางการเมืองของสังคมอื่นๆ ในบริบทต่างๆ โดยเฉพาะในอดีตที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผู้เขียนมิได้ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดขึ้นหรือเลียนแบบแต่อย่างใด

เรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
—————————————-
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก bloombergview.com
และ https://en.wikipedia.org/wiki/Duel

AIS Logo-Online

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image