วันชาติไทย : โดย สมหมาย จันทร์เรือง

ชาติ คือ การรวมกลุ่มคนที่มีความรู้สึกประสานเป็นปึกแผ่นและความจงรักภักดีร่วมกัน โดยมีลักษณะบางประการที่เหมือนกัน อาทิ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน ต่อมาจึงอยู่ในการปกครองและรัฐบาลเดียวกัน ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่ารัฐ ซึ่งประกอบด้วย ประชากร ดินแดน อำนาจอธิปไตย และรัฐบาล

แนวคิดเรื่องความเป็นชาติแพร่หลายเป็นครั้งแรก เมื่อปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส พ.ศ.2332 และขยายไปทั่วยุโรป เอเชีย แอฟริกา และทวีปอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดการเมืองชาตินิยม เพลงชาติ ธงชาติ และวันชาติในที่สุด โดยวันชาตินี้ประเทศส่วนใหญ่ถือวันเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญ ได้แก่ ประกาศอิสรภาพหรือการสถาปนารัฐ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนอกจากถือวันเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ยังผสมผสานกับวัฒนธรรมและประเพณีอีกส่วนหนึ่งด้วย

ความเป็นมาของวันชาติไทย

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งรัฐไทที่เรียกว่า “สยาม” มาตั้งแต่โบราณนั้น สยามประเทศปกครองโดยพ่อขุนและพระมหากษัตริย์มาตลอด จึงเกิดความผูกพันระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์อย่างแนบแน่น ดังนั้น

Advertisement

วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ จึงเป็นวันสำคัญของคนไทย (แม้เปลี่ยนนามประเทศมาเป็น “ประเทศไทย” ตั้งแต่ พ.ศ.2482 ก็ยังให้ความสำคัญกับวันดังกล่าว) ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้ถือว่า วันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จเป็นวันชาติ โดยประกาศมา ณ วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2481

การเปลี่ยนวันชาติเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.2503 เมื่อมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องให้ถือ วันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ความว่า

“ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ 24 มิถุนายนนั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่ามีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมีพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

Advertisement

คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่าประเทศต่างๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกันชนชาติต่างๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์ บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอา วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายน เสีย

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงได้ลงมติให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 เรื่อง วันชาตินั้นเสีย และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วยต่อไปตั้งแต่บัดนี้

ประกาศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2503

จอมพล ส. ธนรัชต์
นายกรัฐมนตรี”

วันชาติไทยในปัจจุบัน

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 มีข้อบังคับสำคัญคือ “ให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วย”

ประกาศนี้เป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) คือ วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี โดยเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยไปพร้อมกันด้วย ทำให้วันชาติไทยยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทยความว่า

“ตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ยังความเศร้าสลดอย่างยิ่งใหญ่มาสู่พสกนิกรชาวไทย และด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานต่อประเทศชาติและประชาชนเสมอมา ปวงชนชาวไทยทั้งปวงจึงน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและตระหนักถึงความสำคัญของวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดว่า วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสำคัญของชาติไทย ดังนี้

1.เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร

2.เป็นวันชาติ

3.เป็นวันพ่อแห่งชาติ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

ประกาศ ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี”

กล่าวโดยสรุป

สังคมไทยผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแนบแน่น ดังนั้นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระมหากษัตริย์ จึงได้รับการยอมรับเป็นวันสำคัญของชาติกอปรกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีระยะเวลายาวนานถึง 70 ปี ทำให้ปวงชนชาวไทยเทิดทูนวันนี้มาตลอด จนมิได้กล่าวถึงวันชาติไทยอย่างเด่นชัด

เมื่อมีการประกาศฉบับนี้ทำให้มีความชัดเจนต่อวันสำคัญของชาติไทยทั้งสามวัน โดยเฉพาะการเน้นความสำคัญ “วันชาติไทย” วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี อย่างเป็นทางการ

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image