หลักฐานยืนยันแม่น้ำโขงคือแม่น้ำนิมมะทา : โดย รศ.ทวี ผลสมภพ

เมื่อเข้าใจว่ารอยพระพุทธบาทที่เขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี น่าจะเป็นรอยที่พระองค์มาประทับไว้ด้วยพระองค์เอง ตามเรื่องในปุณโณวาทสูตร และโดยเฉพาะ ที่น่าสนใจ 3 ประการ คือ

หนึ่ง รอยเปื้อนพระบาท เหมือนคนที่ฝ่าเท้าเลอะฝุ่น แล้วเหยียบลงไปที่พื้น รอยฝุ่นจะติดพื้นให้เห็น จุดนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์

สอง นิ้วพระบาทกลาง (นิ้วกลาง) เหมือนเจตนาเคลื่อนไหวไปซ้อนกับนิ้วพระบาทนาง (นิ้วนาง)

สาม นิ้วพระบาททั้ง 5 นิ้วเสมอกันหมด แม้กระทั่งนิ้วโป้ง ถึงนิ้วก้อยตามมหาปุริสลักษณะ และถ้าเป็นจริงตามนี้ เราต้องหาแม่น้ำนิมมะทาในประเทศไทยให้พบ และเมื่อผู้เขียนกำลังหาแม่น้ำนิมมะทา ก็มีข่าวทางทีวีเรื่องแม่น้ำโขงแห้งจนพระพุทธบาทโผล่ที่นครพนม ตามที่กล่าวมาในวันก่อนแล้วนั้น

Advertisement

ความหลากใจเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทโผล่ที่แม่น้ำโขง ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจเดินทางไปกราบและพิสูจน์ในเรื่องแม่น้ำนิมมะทาที่นครพนม แต่ผู้เขียนมืดแปดด้านสำหรับจังหวัดนครพนม จึงปรึกษาชมรมที่ผู้เขียนเป็นประธานอยู่ โดยหวังว่าที่ประชุมจะให้ความสว่างได้ และก็เป็นจริง เพราะอาจารย์ทองดี จันศรีสุก รองประธานชมรม เป็นเขยนครพนม ก่อนเดินทางไปอาจารย์ทองดีส่งข่าวไปที่ผู้อำนวยการโรงเรียนบึงบัวบานวิทยาคม อาจารย์ทองจัน ศรีคำแท้ ให้ช่วยเป็นภาระในขณะที่อยู่ที่นครพนม

แล้วก็สมใจหวัง เมื่อถึงนครพนม ทุกอย่างพร้อม มีรถคอยรับจากสนามบินไปโรงแรม มีรถจากโรงแรมไปวัดพระบาทเวินปลา เมื่อไปถึงพระบาทเวินปลา มีเรือคอยรับไปที่ก้อนหินก้อนมหึมาที่พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้ (โปรดเงยดูภาพข้างบน) ซึ่งห่างจากฝั่งประมาณหนึ่งร้อยเมตร พร้อมมีอาจารย์วัฒนศักดิ์ อาจารย์ในพื้นที่มาดูแล ตามที่ ผอ.ประสานงานมา ขออนุโมทนามา ณ ที่นี้ด้วย

ก่อนที่เรือจะพาไปถึงก้อนหินก้อนมหึมาก้อนนั้น ผู้เขียนภาวนาว่า ขออย่าให้มีลายจักรรัตนะที่หลุมพระบาทเลย แล้วก็เป็นจริงตามที่นึก เพราะเมื่อขึ้นจากเรือไม่เห็นอะไรเลย หลุมที่พระองค์เหยียบลงไปเหมือนที่ยอดเขาสัจพันธ์ก็ไม่มี มองไปที่จุดที่คนเรือบอก ก็ไม่เห็นอะไรอีกเหมือนกัน จึงให้คนขับรถนำตลับเมตรไปวัดดูขนาด

Advertisement

ณจุดที่คนเรือบอกว่าเป็นรอยพระบาทนั้น ยาวถึง 2 เมตร ไม่น่าจะใช่ ! ก้มลงกราบด้วยความเคารพ นั่งงงอยู่กับที่ แล้วเกิดสะกิดใจว่า พระบาทตรงนี้พระองค์ประทับไว้ให้ใครกราบไหว้ ตอบตัวเองว่าพญานาค แล้วเราจะไปเห็นได้อย่างไร ในเมื่อมีหลักอยู่ว่า พระบาทของพระองค์จะเห็นได้เฉพาะคนที่พระองค์ประสงค์จะให้ได้เห็นเท่านั้น จึงหายงง แล้วได้ความคิดว่าก้อนหินก้อนมหึมานี่แหละที่ประชาชนทั้งสองฝั่งได้มากราบไหว้ ติดต่อกันถึง 2,600 ปีมาแล้ว

ดังนั้น ก้อนหินก้อนนี้ต้องเป็นก้อนหินที่พระพุทธองค์มาประทับรอยพระบาทไว้แน่นอน เพราะการทรงจำติดต่อกันมาตลอด 2,600 ปีของประชาชนทั้งสองฝั่งนั้นเป็นหลักประกันความแน่นอนได้ดีที่สุด เมื่อกราบลาพระพุทธบาทขึ้นจากแม่น้ำนิมมะทา (แม่น้ำโขง) แล้ว อ.วัฒนศักดิ์พาขึ้นไปกราบเจ้าอาวาสวัดพระบาทเวินปลา ท่านให้ประวัติพระพุทธบาทมาเป็นเอกสาร อ่านแล้วผิดจากที่ระบุไว้ในคัมภีร์อรรถกถา เพราะในเอกสารที่ทางวัดพิมพ์เผยแพร่ มีประวัติว่า พญาปลาปากคำ ขอรอยพระบาทเป็นที่ระลึก พระองค์จึงประทับรอยพระบาทไว้ให้

แต่ในอรรถกถากล่าวว่า เป็นพญานาคชื่อนิมมะทา ผู้มีภพอยู่บริเวณนั้นเป็นผู้ทูลขอ อดีตที่ผ่านมาปลาไม่เคยได้มาพบพระพุทธเจ้าเลย มีแต่พญานาคเท่านั้นที่ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า แม้ทุกวันนี้ลำแม่น้ำโขงก็เป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้วว่ามีภพพญานาคอยู่ อีกทั้งนครพนมก็มีประเพณีแต่งไฟบูชาพญานาคอยู่ทุกปี ดังนั้น ขอให้พิจารณาความจริงตามนัยคัมภีร์พระบาลีและอรรถกถาเถิด

เมื่อบัดนี้ กำลังสงสัยว่าแม่น้ำโขงนี่แหละคือแม่น้ำนิมมะทา ตามที่ระบุไว้ในอรรถกถาเรื่องปุณโณวาทสูตร จึงขออ้างหลักฐานรับรองความเป็นแม่น้ำนิมมะทาของแม่น้ำโขงดังต่อไปนี้

ข้อแรกที่ชาวโลกยอมรับกันอย่างแน่นอนก็คือ อาณาจักรจามปา ซึ่งก็คือดินแดนที่เป็นประเทศเวียดนามอยู่ในขณะนี้ นักประวัติศาสตร์ไทยก็ยอมรับว่าดินแดนเวียดนามนั้นอดีตคือ อาณาจักรจามปา

ในคัมภีร์อรรถกถาปุณโณวาทสูตรได้กล่าวว่า พระปุณณเถระ ท่านบวชแล้ว ท่านมาปฏิบัติธรรมที่บ้านเดิมของท่านคือเมืองสุนาปรันตะ อีกทั้งพงศาวดารกัมพูชาระบุไว้ในหน้า 13 ว่าพระทองผู้สถาปนาอาณาจักรขอม ขอดินแดนจามปาตั้งอาณาจักรขอม และให้ปรับปรุงหนังสือสันสกฤตเป็นหนังสือขอม และให้พูดภาษามคธและสันสกฤต ส่วนในหนังสือประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิเศษ ของ DGE HOII. หน้า 30 ได้ระบุความเห็นของยอร์ช เซเดส์ ไว้ว่า
พระเจ้าฟันซีมัน ตามเอกสารจีนนั้น คือกษัตริย์ที่มีพระนามว่า “ศรีมาร” ตามจารึกสันสกฤตที่พบที่ตำบลโวคันห์ แถบเมืองนาห์ตรังในอันหนำใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในอาณาจักรจามปา จารึกนี้บ่งว่าพระองค์เป็นองค์อุปถัมภ์ของพระพุทธศาสนาและใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาราชการในราชสำนัก แต่ฟีโนต์มีความเห็นว่าพระเจ้าศรีมารเป็นประเทศเมืองขึ้นของอาณาจักรฟูนัน (คือขอม)

ตามเอกสารที่อ้างมาข้างบนนั้น ยืนยันว่า จามปาพูดภาษามคธและสันสกฤต จึงสรุปได้เลยว่า ชาวจามปาคือคนอินเดีย ที่อพยพมาอยู่ที่ชายทะเลที่เป็นเวียดนามใต้ในปัจจุบัน เหมือนคนอินเดียที่อพยพไปอยู่อินโดนีเซียฉะนั้น และเมื่อเป็นคนอินเดียที่อพยพมาจากอินเดีย แล้วได้ครอบครองดินแดนที่เป็นภาคอีสานของไทย-ลาว และเวียดนามใต้ทั้งหมด ชาวจามจึงนำเอาชื่อแม่น้ำนิมมะทาในอินเดียมาตั้งเป็นชื่อแม่น้ำในถิ่นที่ตนอพยพมาอยู่ใหม่ว่า แม่น้ำนิมมะทา หรือน่าจะเป็นว่าถิ่นอาศัยเดิมของตนในอินเดียนั้น มีแม่น้ำชื่อนิมมะทา ดังนั้น เมื่ออพยพมาอาศัยบริเวณแม่น้ำโขงตลอดไปถึงเวียดนาม จึงได้นำชื่อแม่น้ำนิมมะทามาเป็นชื่อแม่น้ำที่ตัวครอบครองใหม่ คือแม่น้ำโขง นี่คือหลักฐานยืนยันว่าแม่น้ำโขงคือแม่น้ำนิมมะทา ในสมัยที่พระพุทธเจ้ามีพระชนม์อยู่

เมื่อได้สถานที่ตามที่ระบุไว้ในอรรถกถาว่า ยอดเขาสัจพันธ์ที่ประทับรอยพระบาทคือยอดเขาวงพระจันทร์ ลพบุรี ได้แม่น้ำนิมมะทา ที่ประทับรอยพระบาทไว้อีกแห่งหนึ่ง คือแม่น้ำโขง ในประเทศไทย และได้เมืองสุนาปรันตะของพระปุณณเถระ คือ อาณาจักรจามปาแล้ว จากนั้นต้องหาหลักฐานในประเด็นที่ในอรรถกถากล่าวว่า พระพุทธองค์ก่อนเสด็จกลับพระวิหารเชตวัน ทรงให้พระปุณณเถระอยู่เมืองสุนาปรันตะ หรือจามปา เพื่อโปรดชาวจามปา ว่ามีหลักฐานอะไรยืนยันเรื่องนี้หรือไม่?
คำตอบตรงนี้ขออ้างจารึกภาษาสันสกฤตที่พบที่ตำบลโวคันห์ แถบเมืองนาห์ตรัง ในเวียดนามใต้ ที่ ยอร์ช เซเดส์ ระบุว่า พระเจ้าศรีมารเป็นกษัตริย์องค์อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา จารึกนั้นคือหลักฐานที่แจ้งให้ทราบว่า พระปุณณเถระได้โปรดชาวจามปา จนมีประชาชนนับถือตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมา มีพระเจ้าศรีมาร เป็นต้น แล้วจากนั้นทำไมข่าวทางพระพุทธศาสนาในบริเวณนี้จึงเงียบ

ตอบว่าที่เงียบไปก็เพราะชาวจามปาที่นับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่พระพุทธเจ้ามีพระชนม์อยู่ จนไม่ทราบกี่ร้อยปีต่อมา ถูกทั้งญวนและกัมพุชรุกไล่จนหมดอำนาจลง

ทุกวันนี้ชาวจามปาลับเป็นคนกลุ่มน้อยนับถือศาสนาฮินดูอยู่ในเวียดนาม ข่าวทางพระพุทธศาสนาที่เริ่มจากพระปุณณเถระ ไม่มีใครจำได้แล้ว ประกอบกับชาวจามปา
กลายเป็นฮินดูไปแล้ว พวกเขาจึงไม่ได้สนใจอีก สำหรับการนับถือพระพุทธศาสนาชาวเวียดนามคงนับถือต่อมา เพราะในเวียดนามใต้ยังมีพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทอยู่ แม้ต่อมาพุทธศาสนาแบบมหายานจะเผยแผ่มาจากจีน ชาวญวนจำนวนมากหันไปนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานก็จริง ถึงกระนั้นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทก็ยังคงมีคนนับถืออยู่

ประเด็นที่ต้องหาคำตอบต่อมาก็คือ พระพุทธองค์ตรัสบอกให้พระสัจพันธ์เถระอยู่โปรดมหาชนบริเวณลพบุรี ตรงนี้มีหลักฐานอะไรหรือไม่? ตอบว่ามี! ก่อนตอบขอบอกก่อนว่า ในช่วงที่พระพุทธองค์เสด็จมาลพบุรีตอนนั้น คนไทยยังไม่มา ถามว่าแล้วใครอยู่บริเวณนั้น ขอสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นมอญ หลักฐานจะกล่าวตอนจบบทความ พระสัจพันธ์เถระท่านน่าจะเป็นมอญอยู่ลพบุรี ผู้เขียนขอสันนิษฐานเรื่องของท่านดังต่อไปนี้ พระสัจพันธ์เถระ ท่านคงปรินิพพานหลังพระพุทธเจ้า ตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระสัจพันธ์เถระท่านคงพาญาติโยมชาวมอญไปเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะพระองค์เข้าสู่พระนิพพาน ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา เพราะรู้ล่วงหน้าถึงสามเดือน และท่านคงได้ฟังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า สังเวชนียสถานคือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักรและที่ปรินิพพาน พุทธบริษัทควรไปดู ควรไปสักการบูชา

เมื่อท่านกลับมาลพบุรี (ช่วงนั้นน่าจะเรียกว่ากัมโพช) หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านจึงชักชวนชาวมอญเมืองศรีวิชัย (คือนครชัยศรีหรือนครปฐมปัจจุบัน) สร้างสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบลไว้ที่นครปฐม เราจะพบว่าบริเวณนครปฐม นอกจากพระปฐมเจดีย์แล้ว ยังมีโบราณสถานอีกสามแห่งคือ โบราณสถาน วัดพระเมรุ โบราณสถานวัดพระงาม และโบราณสถานจุลลโทณเจดีย์ เราไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นที่ประสูติและตรัสรู้ แต่ที่แน่ๆ คือพระปฐมเจดีย์คือที่ปรินิพพาน เพราะสมัยโบราณเรียกว่าพระประธมเจดีย์ คงเพี้ยนมาจากพระแท่นบรรทมปรินิพพาน อีกทั้งมีเจดีย์บรรจุทะนานทวงพระบรมสารีริกธาตุเคียงอยู่ข้างๆ เป็นเครื่องยืนยัน

กาลต่อมาถึงสมัยพญาพาน คงทรุดโทรมมาก เมื่อพระอรหันต์บอกให้พญาพานสร้างพระเจดีย์สูงเท่านกเขาเหิน เพราะไปฆ่าพ่อ ท่านจึงสร้างเป็นทรงล้อมฟาง แล้วต่อมาก็เป็นทรงปรางค์ แล้วก็เป็นทรงที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน สถานที่ปรินิพพานจึงหายไป

การสร้างสังเวชนียสถานครั้งนี้ มิได้สร้างเฉพาะที่นครปฐมเท่านั้น แต่ไปสร้างที่เมืองราชบุรีด้วย จุดที่สร้างก็คือ จุดที่ทุกวันนี้เรียกว่า โกสินนาราย แต่มีหลักฐานยังคงอยู่เฉพาะสถานที่ปรินิพพานคือที่วัดพระแท่งดงรัง อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น นอกจากนั้นมีซากเป็นศิลาแลงและอิฐ อยู่โบราณสถานพงตึก
พงศาวดารเหนือระบุว่า เมื่อพญาพานซ่อมแซมที่นครปฐมแล้ว ไปซ่อมแซมที่ประสูติที่โกสินนารายอีก นี่คือหลักฐานที่จะบอกว่าสมัยนั้นมีการสร้างสังเวชนียสถานครบ 4 แห่ง และเป็นหลักฐานอีกเช่นกันว่า สมัยพระสัจพันธ์เถระมีการสร้างศาสนสถานแน่นอน แต่รุ่นเราเมื่อหาคนสร้างไม่ได้ เราก็ไปลงที่พระโสณะ ทั้งๆ ที่อรรถกถาพระวินัยระบุชัดว่า พระเถระทั้งสองไปประกาศพระศาสนาที่ประเทศที่เป็นเกาะ และน่าจะเป็นอินโดนีเซีย ซึ่งมีโบราณสถานบุโรพุทโธเป็นหลักฐานอยู่ นอกจากนั้น พระแท่นศิลาอาสน์ที่อุตรดิตถ์ก็น่าจะสร้างยุคเดียวกัน และคงสร้างสังเวชนียสถานครบทั้ง 4 แห่ง เพราะมีซากศิลาแลงที่เวียงเจ้าเงาะใกล้ๆ พระแท่นศิลาอาสน์อยู่หลายจุด ซึ่ง ร.6 พระองค์วินิจฉัยไว้ในหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงหน้า 222 ว่า — สิ่งก่อสร้างเหล่านี้คงสร้างมาก่อนที่คนไทยจะอพยพมาในถิ่นนี้ — เพื่อยืนยันว่ามอญมีอำนาจอยู่ในช่วงที่พระพุทธองค์เสด็จมาลพบุรี

ขออ้างหนังสือโบราณคดีประวัติศาสตร์ ของ อ.คงเดช ประพัฒน์ทอง ที่ระบุไว้หน้า 75 ว่า อักษรมอญที่จารึกอยู่ที่เสาแปดเหลี่ยมที่ค้นพบที่ลพบุรี เก่าเป็นอันดับ 3 นอกจากนั้นขออ้างข้อเขียนของยอร์ช เซเดส์ ที่ระบุถึงอายุของโบราณสถานพงตึกไว้ในหนังสือโบราณพงตึกหน้า 71 ว่า ซากปรักหักพังที่พงตึก ไม่มีฝีมือช่างเขมรและไทยอยู่เลย แสดงว่าสิ่งเหล่านี้มีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 11 และถูกทอดทิ้งไปก่อนที่เขมรจะเข้ามามีอำนาจกลางพุทธศตวรรษที่ 16

นี่คือช่องว่างที่ผู้เขียนสันนิษฐานว่า สังเวชนียสถานที่นครปฐม ที่โกสินนาราย และที่พระแท่นศิลาอาสน์ สร้างโดยพระสัจพันธ์เถระ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
อีกประโยคหนึ่งที่ว่า คำถามสุดท้าย ใครเป็นคนสร้างซากปรักหักพังที่พงตึก ข้าพเจ้า (ยอร์ช เซเดส์) เคยกล่าวว่า ญวนหรือมอญอาจจะอยู่ที่ลพบุรี แล้วก็ถูกว่า มอญอยู่ลพบุรีมาก่อน เพราะพบจารึกภาษามอญที่ลพบุรี แต่สำหรับพงตึก ข้าพเจ้าตอบไม่ได้ว่ามอญหรือไม่ เพราะไม่พบจารึกภาษามอญเลย

ทั้งหมดที่อ้างมาค่อนข้างมั่นใจว่าชนชาติมอญอาศัยอยู่ที่ลพบุรี ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่ลพบุรี และมอญเป็นชุมชนที่สักการบูชารอยพระพุทธบาทที่ลพบุรีต่อมาจนเป็นเมืองพุทธอันยิ่งใหญ่ แต่แล้วไฉนจึงกลายเป็นเมืองฮินดู เป็นเมืองพระราม จนคนลืมพระพุทธบาทกันหมดตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

 

รศ.ทวี ผลสมภพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image