การเมืองเรื่องพลังงาน : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

การเมืองเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่เหมือนจะอยู่ใกล้ตัวเรา แต่อาจจะไม่ค่อยเป็นที่สนใจกันมากเท่าไหร่ในวงการรัฐศาสตร์ ในความหมายถึงความเข้าใจอย่างจริงๆ จังๆ ในแง่ของความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับพลังงาน

ส่วนใหญ่การศึกษาเรื่องราวของการเมืองกับพลังงานของคนทั่วๆ ไปนั้นสนใจแต่เรื่องว่า มีอะไรไม่ดีที่จะเกิดขึ้นกับการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเรื่องพลังงานไหม

ด้วยจริตว่า อะไรที่ไม่ดี ก็คือ เรื่องของการเมืองนั่นเอง

ตัวผมเองได้รับความกรุณาจากทางหลักสูตรปริญญาโท เทคโนโลยีและการจัดการพลังงาน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ไปร่วมสอนในวิชาการเมืองกับนโยบายพลังงานสองปีการศึกษาแล้ว ก็ยังยอมรับว่ายังสอนได้ไม่ดีนัก เพราะออกจะเป็นหัวข้อใหม่อยู่มาก และไม่มีในสาขารัฐศาสตร์โดยตรง ดีที่ได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์ชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์ ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกทางด้านนี้โดยตรงที่มหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ให้คำแนะนำ

Advertisement

รวมทั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ แห่งภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับความกรุณาจากคณาจารย์จากสถาบันวิจัยพลังงานให้ร่วมทำงานวิจัยบ้างเล็กๆ น้อยๆ และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบรรดานิสิตในวิชานี้ที่มาจากหลากหลายอาชีพ ก็เลยทำให้การเรียนการสอนในสองปีการศึกษานั้นผ่านไปด้วยดี

นิสิตในวิชาเรียนมีที่มาจากหลากหลายสาขา ทั้งที่เป็นเอ็นจีโอ เป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยความมั่นคง เป็นพนักงานจากสายงานด้านพลังงานของบริษัทเอกชน และจากหน่วยงานรัฐเอง ความหลากหลายของแต่ละสาขาวิชานั้นทำให้การสนทนาและแสวงหาความรู้ร่วมกันในชั้นเรียนเป็นไปด้วยความสนุกสนานและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน (แถมโฆษณาให้อีกนิดว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลหลักสูตรดีมากครับ อาหารอร่อยทุกอาทิตย์)

ในช่วงแรกของการเตรียมการสอนเรื่องการเมืองเรื่องพลังงานนั้น ตำรับตำราในเรื่่องนี้ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของความมั่นคงทางพลังงานกับบทบาทเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพราะตำราและงานวิจัยจำนวนมากในเรื่องการเมืองเรื่องพลังงานนั้นมักเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา ดังนั้นความรู้ในเรื่องการเมืองเรื่องพลังงานนั้นจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสนใจของอเมริกาที่มีต่อพลังงาน ทั้งในเรื่องความร่วมมือระหว่างกันของประเทศต่างๆ ทั้งระหว่างประเทศ และระหว่างองค์กรระหว่างประเทศที่หลากหลายอย่างไร

Advertisement

ตำราของโลกตะวันตกที่เกี่ยวกับการเมืองเรื่องพลังงาน ส่วนมากจึงเป็นเรื่องของความสนใจเรื่องความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วย โดยดูว่ามีแหล่งพลังงานอยู่ตรงไหนในโลก และแต่ละประเทศมีนโยบายพลังงานอย่างไร ส่วนมากก็จะสนใจเรื่องของพลังงานน้ำมัน โดยดูแหล่งใหญ่ เช่น รัสเซียและเหล่าประเทศโดยรอบ และก็เป็นเรื่องของตะวันออกกลาง

หากจะเป็นเรื่องปัญหาอีกชุดหนึ่ง การศึกษาการเมืองเรื่องพลังงานก็มักจะสนใจเรื่องของระบบพลังงานของจีนและอินเดีย ดูว่าเขากำหนดนโยบายอะไรบ้าง

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเข้าใจได้ ถ้าเข้าใจพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสาขาการเมืองกับพลังงาน เพราะความสนใจเรื่องการเมืองกับพลังงานในระดับโลก โดยเฉพาะของตะวันตกอย่างจริงๆ จังๆ เริ่มขึ้นเมื่อมีภาวะขาดแคลนน้ำมันในช่วงทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา

งานชุดที่สองที่เกี่ยวกับการเมืองเรื่องพลังงาน ที่ไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับแหล่งพลังงาน ก็มักจะเกี่ยวโยงกับเรื่องของการพูดถึงลักษณะของรูปแบบพลังงานที่แตกต่างกัน เช่นเรื่องของพลังงานจากน้ำมัน ถ่านหิน ลม แสงแดด หรือจากพลังงานทดแทน เรื่องใหญ่ที่เราสนใจก็มักจะโยงเกี่ยวกับว่าจะจัดสัดส่วนของความมั่นคงทางพลังงานอย่างไร ที่เชื่อมโยงกับประเด็นแรก คือ ในประเด็นแรกเป็นเรื่องของความมั่นคงจากการพึ่งพาจากภายนอก ขณะที่ในส่วนที่สองนั้นอาจจะมองง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องของการจัดความสมดุลและความหลากหลายของแหล่งพลังงานต่างๆ เพื่อความยั่งยืน ไม่ให้พึ่งพาแหล่งพลังงานทางใดทางหนึ่งมากจนเกินไป

งานวิชาการเรื่องการเมืองเรื่องพลังงานที่คนเข้าใจโดยทั่วไปในชุดที่สาม เมื่อเชื่อมโยงกับเรื่องของการพึ่งพาภายนอก และสมดุลระหว่างแหล่งพลังงานแล้ว สิ่งที่คำนึงถึงกันโดยทั่วไปก็คือ ความเกี่ยวโยงของนโยบายพลังงานกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ยิ่งโดยเฉพาะหลังจากเกิดความตื่นตัวเรื่องความเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เรื่องพลังงานกับสิ่งแวดล้อมนี้ต้องเข้าใจอย่างมีสติ ไม่เช่นนั้นจะอยู่ในท่าทีแบบที่ว่า อะไรที่เป็นโครงการพลังงานนั้นไม่ดีไปเสียหมด เพราะมันไปสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่การกำหนดนโยบายด้านพลังงานนั้นจำต้องพิจารณาก็คือ การหาสมดุลของความเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงของพลังงาน ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมของสังคม

การพิจารณาถึงมิติทั้งสี่นี้ถือเป็นสี่เสาหลักของการเมืองของการกำหนดพลังงาน

พูดง่ายๆ ก็คือ ทำมาหากินได้ ไม่พึ่งพาพลังงานทางใดทางหนึ่งเสียจนอาจเกิดสภาวะขาดแคลน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เมื่อเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว เราจะไม่มีท่าทีง่ายๆ ที่มองว่า เราอยากได้แต่สิ่งดีๆ แต่โยนสิ่งที่ไม่ดีไปให้พื้นที่อื่น หรือเราเรียกร้องให้คนอื่นเสียสละเท่านั้น แต่เราต้องพูดถึงความเป็นธรรมและการชดเชย และการสูญเสียด้วย

เราจะไม่เอาชนะคะคานกันและมองว่าอีกฝ่ายนั้นเลวและอีกฝ่ายดี แต่จะต้องเข้าใจร่วมกัน ปัญหาเรื่องการเมืองและพลังงานนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องแบกรับร่วมกัน และต้องหาทางออกร่วมกัน

เมื่อเราเข้าใจสี่เสาหลักของการกำหนดนโยบายพลังงานแล้ว สิ่งที่เราจะต้องเข้าใจต่อมาในวิชาการเมืองและพลังงาน ก็คือ เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับพลังงานที่ค่อนข้างมีลักษณะซับซ้อน

กล่าวคือ ในวิชาการเมืองและพลังงานนั้น เราพยายามที่จะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ว่า การเมืองมีผลต่อพลังงานอย่างไร

และพลังงานมีผลต่อการเมืองอย่างไร

กล่าวคือ เราจะต้องเข้าใจว่าลักษณะเฉพาะของแหล่งพลังงานที่แตกต่างกันนั้นกำหนดลักษณะทางการเมืองอย่างไร เช่นการเมืองของนโยบายน้ำมันนั้นเป็นอย่างไร การเมืองของนโยบายถ่านหินเป็นอย่างไร การเมืองเรื่องนโยบายพลังงานไฟฟ้าที่มาจากเขื่อนเป็นอย่างไร การเมืองของนโยบายพลังงานที่ทดแทนได้จากธรรมชาติเป็นอย่างไร

ในอีกมุมหนึ่งเราต้องเข้าใจภาพรวมว่า รูปแบบทางการเมืองและมิติต่างๆ ทางการเมือง ที่แตกต่างกันนั้นจะส่งผลต่อนโยบายพลังงานอย่างไร เช่น ประชาธิปไตยนั้นมีผลต่อการกำหนดนโยบายพลังงานต่างจากเผด็จการอย่างไร

อะไรคือสิ่งที่เรียกว่ารัฐ สมรรถภาพของรัฐ การจัดการทางสถาบันของการใช้ทรัพยากรร่วม อะไรคือบทบาทของประชาสังคม สิ่งเหล่านี้คือความเข้าใจเรื่องของตัวแสดงและรูปแบบการสร้างระเบียบทางการเมือง

ในการศึกษาเรื่องของการเมืองกับพลังงานนั้นนอกเหนือจากเข้าใจเรื่องของอุดมการณ์ สถาบันทางการเมือง ที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายทางการเมืองแล้ว ยังมีมิติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของประเทศเราโดยเฉพาะอีก เช่น มิติของพัฒนาการของรัฐธรรมนูญ และมิติของความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะความเชื่อมโยงของเมืองกับชนบท

เรื่องราวเหล่านี้เป็นแกนกลางของการศึกษาเรื่องของการเมืองกับพลังงานที่เราพูดคุยกันในชั้นเรียน ในขณะที่ในมุมของนิสิตที่มีประสบการณ์ที่หลากหลายนั้น สิ่งที่พวกเขานำมาแลกเปลี่ยนกันในชั้นเรียนนั้นเป็นเรื่องของประสบการณ์ตรงจากการทำงานของพวกเขาในภาคส่วนที่หลากหลาย รวมทั้งเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างโครงการต่างๆ ด้านพลังงานกับแผนพลังงานในระดับชาติ

กล่าวคือ การทำความเข้าใจเรื่องของการกำหนดแผนพลังงานชาติ ซึ่งมีหลายแผนและระดับ เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่พิจารณาแต่เรื่องของลักษณะเฉพาะของแต่ละโครงการ และมองว่าเมื่อโครงการบางโครงการนั้นถูกระงับ หรือเลื่อนการพิจารณาออกไป นั้นจะถือว่าได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานไปแล้ว ดังนั้นหากไม่ได้มีการทำความเข้าใจและสร้างข้อตกลงในเรื่องของการกำหนดแผนและนโยบายพลังงานในระดับประเทศแล้ว เราจะมองเรื่องของการเมืองเรื่องพลังงานเป็นเพียงเรื่องในระดับของการต่อสู้ต่อรองบนท้องถนนและเป็นเรื่องย่อยๆ ของแต่ละโครงการแทนที่จะเข้าใจภาพรวมของสี่เสาหลักทางพลังงานที่ผมได้เรียนเสนอไปแล้วในตอนต้น

ในส่วนต่อมาของโครงร่างของวิชาการเมืองเรื่องพลังงานนั้น นอกเหนือจากเรื่องของสี่เสาหลักในเรื่องของการกำหนดนโยบายพลังงาน และความสัมพันธ์ระหว่างกันของการเมืองกับพลังงานแล้ว สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการศึกษาการเมืองกับพลังงานในทางรัฐศาสตร์นั้นประกอบด้วยมิติสำคัญอีกสามมิติ

1.การจัดลำดับความสัมพันธ์ของแหล่งพลังงานต่างๆ นั้นทำอย่างไร เช่น ทำไมแต่ละประเทศนั้นจัดลำดับสัดส่วนของพลังงานแตกต่างกัน เช่นใช้พลังงานจากฟอสซิลทั้งหลาย (น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ) หรือนิวเคลียร์ หรือพลังงานทดแทน

2.ทำไมแต่ละประเทศนั้นมีความสามารถในการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพแตกต่างกัน สิ่งนี้ทำให้เราเข้าใจรูปแบบการใช้พลังงานของแต่ละประเทศต่างกันอย่างไร เอาพลังงานไปใช้ในเรื่องอะไรมากกว่ากัน

3.รัฐบาลแต่ละประเทศใช้เครื่องมือทางนโยบายอะไรบ้างในการบริหารจัดการเรื่องของพลังงาน และบรรลุเป้าหมายของการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เช่น กฎหมาย ภาษี หรือข้อตกลงทางการค้า

ในการที่เราจะเข้าใจแต่ละมิติเหล่านี้ เราจะเริ่มเข้าใจว่ามันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเมืองอย่างไร ตัวแสดงแต่ละกลุ่มนั้นมีผลประโยชน์อะไร ขับเคลื่อนประเด็นอย่างไร บรรยากาศและระบบประชาธิปไตย/เผด็จการมีผลอย่างไร (จริงไหมที่การต่อสู้เรื่องของพลังงานกับเรื่องการเมืองนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน) ประสิทธิภาพของรัฐและสถาบันทางการเมืองต่างๆ มีผลต่อการใช้และการผลักดันรวมทั้งสัดส่วนของนโยบายอย่างไร ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างไร รัฐบาลในแต่ละระดับมีส่วนอย่างไร บทบาทของกลุ่มทุนเกี่ยวข้องแค่ไหน

ในแต่ละเรื่องราวที่พูดถึงนั้น การศึกษาการเมืองเรื่องพลังงานทำให้เราเข้าใจถึงตรรกะของตัวแสดงและสถาบันต่างๆ ว่าทำไมเขาถึงได้มีพฤติกรรมเหล่านั้น และเข้าใจสิ่งเหล่านี้ควบคู่กับลักษณะเฉพาะของแหล่งพลังงาน ธุรกิจและอุตสาหกรรมพลังงานในแต่ละแบบ

ทีนี้ในสังคมไทย ผมคิดว่าเรื่องของการเมืองเรื่องพลังงานนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่นัก แต่ความสนใจยังไม่เป็นระบบเท่าไหร่ การศึกษาสนใจมักจะเป็นเรื่องสองลักษณะด้วยกัน คือเรื่องทางเทคนิคไปเลย คือมองว่านโยบายควรกำหนดจากผู้เชี่ยวชาญ และระบบราชการที่เกี่ยวข้อง

กับอีกพวกหนึ่งที่มองว่า เรื่องของการเมืองเรื่องพลังงานนั้นเป็นเรื่องของการต่อสู้ในพื้นที่ เป็นเรื่องของการเมืองเรื่องของการคัดค้านโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาพลังงาน ที่มักมีแรงจูงใจขับเคลื่อนที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องของกลุ่มทุน ดังนั้นชัยชนะของการคัดค้านโครงการคือหมุดหมายสำคัญของการปรับเปลี่ยนนโยบาย

ทั้งที่เรื่องที่ศึกษานั้นเป็นเรื่องของโครงการ ไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างเป็นระบบที่คำนึงถึงเสาหลักทั้งสี่เสา ได้แก่ ความมั่งคั่ง ความมั่นคง ความยั่งยืน และความเป็นธรรม

สิ่งที่ยังต้องทำความเข้าใจกันมากขึ้นของการเมืองเรื่องพลังงานในสังคมของเรายังมีอีกมาก รวมทั้งการพยายามเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดยุทธศาสตร์เรื่องพลังงานอย่างเป็นระบบของแต่ละภาคส่วนในสังคม การเข้าใจการเมืองเรื่องพลังงานของไทยบนพื้นฐานแค่เรื่องของรัฐ ทุน และชาวบ้านนั้นไม่เพียงพอ จำต้องเข้าใจบทบาทของหน่วยงานที่สำคัญ เช่น กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแสดงหลัก รวมทั้งการก่อตัวของเครือข่ายปฏิรูปพลังงานต่างๆ และการเชื่อมโยงเรื่องของการต่อสู้เรื่องของแหล่งพลังงานต่างๆ และนโยบาย-โครงการพลังงานเข้ากับการเมืองในปริมณฑลอื่นๆ

นอกจากนี้แล้วการทำความเข้าใจกับลักษณะทางภูมิศาสตร์และพัฒนาการของแต่ละพื้นที่เองที่สัมพันธ์กับความต้องการพลังงาน และการผลิตพลังงานก็เป็นสิ่งที่ควรจะสนใจ เช่น การเมืองเรื่องพลังงานในแต่ละพื้นที่นั้นเติบโตขึ้นอย่างไร และเชื่อมโยงกับการเมืองเรื่องอื่นๆ อย่างไร

นี่เป็นบางส่วนของการเรียนการสอนเรื่องการเมืองเรื่องพลังงานที่เคยอภิปรายและร่วมกันค้นหาคำตอบในชั้นเรียนร่วมกัน เรียกได้ว่า ผู้สอนวิชานี้ได้เรียนรู้จากผู้เรียนเป็นอย่างมาก และผู้เรียนเองที่มาจากหลากสาขาก็เรียนรู้มุมมองในเรื่องราวของการเมืองกับพลังงานที่แตกต่างกัน

คิดว่าถ้าเปิดวิชาการเมืองกับพลังงานในรอบหน้าคงมีเนื้อหาสาระของเรื่องมากมายขึ้นกว่าเดิมอีก และคงได้เรียนรู้มุมมองที่แตกต่างกันจากผู้เรียนมากกว่าที่เคยมีมาครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image