ศึกชิง‘ปธ.-รอง’วุฒิฯ วัดศรัทธาสภาสูง
หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการ กรณีการประชุมวุฒิสภานัดแรกในวันที่ 23 กรกฎาคม เพื่อลงคะแนนเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาอีก 2 คน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กลุ่มไหนจะได้รับเลือก คุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ควรเป็นอย่างไรเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ
วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
การชิงประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาในครั้งนี้ ปัจจุบันสามารถมองได้เป็น 3 กลุ่มก้อนใหญ่ๆ โดยกลุ่มที่ดูเหมือนว่าจะใหญ่ที่สุดมีชื่อเรียกว่า ‘ส.ว.สีน้ำเงิน’ ซึ่งประชาชนได้ร่วมกันวิเคราะห์และตั้งชื่อให้ โดย ส.ว.กลุ่มสีน้ำเงินนี้ คาดว่ามีประมาณ 100-120 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนค่อนข้างมากที่สุดจากสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 200 คน จากการคาดการณ์ผู้ที่ได้เป็นแคนดิเดตประธานสภาในกลุ่มสีน้ำเงินได้แก่ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ และนายมงคล สุระสัจจะ แต่แนวโน้มโดยส่วนตัวคิดว่าเป็น พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อยู่ที่ว่าทางกลุ่ม ส.ว.สีน้ำเงินจะสนับสนุนใครนั่นเอง
ส่วน ส.ว.กลุ่มที่ 2 มีชื่อว่า ‘ส.ว.พันธุ์ใหม่’ เดิมทีเขาเรียกกันว่าเป็น ส.ว.กลุ่มประชาชน อีกทั้งแต่เดิมเขาแยกเป็นกลุ่ม ส.ว.พันธุ์ใหม่ และกลุ่ม ส.ว.อิสระ ซึ่งได้วิเคราะห์กันว่าเขาอยู่ด้วยกัน เพราะมีแนวทางความคิด มีอุดมการณ์ที่ใกล้เคียงกัน แต่ตอนนี้มีแนวทางที่ชัดเจนแล้วว่า มีกลุ่ม ส.ว.พันธุ์ใหม่ 30 คน และกลุ่ม ส.ว.อิสระอีก 20-30 คน โดยประมาณ ซึ่งมีชื่อว่ากลุ่มสีเขียวซึ่งเป็นกลุ่มที่ 3 นั่นเอง โดยกลุ่ม ส.ว.พันธุ์ใหม่ จะเสนอชื่อ รศ.นันทนา นันทวโรภาส เป็นประธานวุฒิสภา และเสนอชื่อรองประธานวุฒิสภา 2 คน คือ แล ดิลกวิทยรัตน์ และอังคณา นีละไพจิตร
ส่วน ส.ว.กลุ่มอิสระ เสนอชื่อ นายบุญส่ง น้อยโสภณ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล อินนา เป็นประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเพราะเสียงที่มีอยู่ค่อนข้างน้อยมาก
ในการชิงประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา ผมมองว่าเป็นเรื่องที่คาดเดาได้อยู่แล้ว ในคราวที่มีการเลือก ส.ว.ประชาชนก็เห็นได้ว่ามีขั้นตอนการเลือกที่ซับซ้อน มีการชิงไหว ชิงพริบ มีผู้สนับสนุนจากกลุ่มต่างๆ เรื่องเช่นนี้เราเห็นกันมาโดยตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้การต่อสู้ก็ค่อนข้างต่อเนื่องต่อไป เมื่อเขาได้ชิงชัยกันเช่นนั้นแล้ว แนวคิดอุดมการณ์ที่อยู่เบี้องหลัง การที่เข้ามาอยู่ในสมาชิกวุฒิสภากว่า 200 คน ในเบื้องต้นเขาก็ต้องเดินหน้าต่อ เมื่อเบื้องหลังเขามาเช่นไร หากเขามาในฐานะตัวแทนประชาชนที่บุคคลใดได้ประกาศตัวเอาไว้ เขาก็ต้องแสดงบทบาทในหลายๆ สิ่งอย่างที่เขาต้องการเปลี่ยนแปลง
แน่นอนว่าในการชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภาในกลุ่มสีน้ำเงินคงได้ไป ซึ่งมีเสียงอยู่ในกลุ่มอยู่ค่อนข้างมาก หากพลิกโผขึ้นมาเป็น รศ.นันทนา ในกลุ่ม ส.ว.พันธุ์ใหม่ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากอยู่พอสมควร หากถามว่ามีเปอร์เซ็นต์ไหมที่จะต้องตาต้องใจ ถูกใจกันทั้งวุฒิสภา สามารถที่จะเปลี่ยนวิธีคิดมุมมองเบื้องหลังได้ ก็คือว่าเป็นวิธีคิดที่หักปากกาเซียน แต่คงคิดว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก สิ่งที่เป็นไปได้ก็อาจจะเป็นรองประธานวุฒิสภาแต่โอกาสก็คงยังน้อยอยู่ดีเช่นกัน
คุณสมบัตินั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนควรจะต้องจับตา ต้องสำรวจดูว่า ท่านใดมีวิสัยทัศน์ที่ดีและน่าสนใจ น่าให้การสนับสนุน สามารถนำมาเสนอการเปรียบเทียบ การนำเสนอการโชว์ต่างๆ แม้จะมีเสียงมากน้อยแค่ไหนมีสิทธิที่จะโชว์ความรู้ความสามารถให้กับประชาชน
ต้องโชว์ด้วยเหตุและผล เราฟังการแสดงวิสัยทัศน์ของชื่อประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และประธานวุฒิสภาที่ 2 ทุกคนที่เสนอชื่อ ดูว่าเขาแสดงวิสัยทัศน์อย่างไร เขามีแนวคิดอย่างไร หรือเขาตอบโจทย์เรื่องของหน้าที่ ส.ว. ในเรื่องของอำนาจหน้าที่ที่เขาจะต้องยึดเป็นหลัก ก็คือการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นชอบบุคคลโดยตำแหน่งต่างๆ การพิจารณากฎหมาย และการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ตรงนี้วิสัยทัศน์เขาเป็นอย่างไร และพวกเราประชาชนต้องจับตา
จะดุเดือดหรือไม่นั้น ผมว่าไม่น่าจะดุเดือด เพราะว่าเสียงค่อนข้างห่างกัน แต่ถ้าเสียงใกล้เคียงกัน รับรองน่าจะต้องวิ่งกันวุ่นแน่นอน ด้วยคะแนนเสียงที่เป็นฐาน จากการวิเคราะห์ ว่ากลุ่ม ส.ว.สีน้ำเงินค่อนข้างได้เปรียบ ความดุเดือดน่าจะลดลง อยู่ที่ว่าเขาจะเปิดโอกาสให้แคนดิเดตจากกลุ่ม ส.ว.พันธุ์ใหม่ หรือกลุ่ม ส.ว.อิสระได้มีโอกาสเข้ามาสักคนไหม ตรงนี้น่าจับตา ให้เป็นมุมมองที่บวกขึ้นมาหน่อย หมายถึงว่าเขาไม่ได้เป็นทั้งหมด หรือแม้กระทั่งการเลือกประธานกรรมาธิการ ก็มีกระแสข่าวออกมาว่าอาจจะกวาดใครเยอะที่สุด อันนี้
ก็ต้องติดตามดูกันต่อไปในเร็ววันว่าเขาจะกวาดหมดไหม หรือจะเผื่อแผ่ที่จะทำงานร่วมกับกลุ่มอื่นได้บ้าง โดยที่ไม่ได้ยึดกลุ่มตัวเองเป็นตัวตั้ง
ในการพูดคุยของแต่ละกลุ่มคิดว่ายังคงมีอยู่ คำว่ามีนั้น มี 2 ทิศทาง คือ 1.กลุ่ม ส.ว.อิสระ และกลุ่ม ส.ว.พันธุ์ใหม่ เนื่องจากว่าคะแนนเสียงกลุ่มตัวเองน้อย หากคิดว่ากลุ่มตัวเองอยากจะได้รับเลือกมาสัก 1 ตำแหน่ง กรณีของรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และคนที่ 2 โดยอาจจะสื่อสารไปยังกลุ่ม ส.ว.สีน้ำเงิน ว่าเป็นไปได้มั้ย ขอทางนี้ 1 ตำแหน่ง
ทิศทางที่ 2.คือ กลุ่มใหญ่ หรือกลุ่ม ส.ว.สีน้ำเงิน เขาอาจจะเชื่อมสัมพันธ์ไปทางกลุ่มน้อยว่า จะเลือก 1 ตำแหน่งไหม ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะทำหรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้ ผมเองก็ไม่ทราบว่าจะทำไหม แต่ก็มีการวิเคราะห์ไปล่วงหน้าอาจมีความเป็นไปได้ทั้งสองแนวทาง
ข้อเสนอแนะนั้น เรียนตามตรงว่าตั้งแต่ตอนที่เลือก ส.ว.กันมา แล้วก็เห็นว่ามีความซับซ้อน และเบื้องหลังอันรู้สึกไม่ค่อยบวกเท่าไหร่นัก ตอนนี้ทุกท่านได้เป็น ส.ว.แล้ว ทุกท่านคือ ส.ว.อันทรงเกียรติของวุฒิสภา อยากขอให้พยายามสลัดเบื้องหลังออกให้ได้มากที่สุด ไม่คาดหวังว่าจะสลัดได้มากเท่าไหร่ ขอให้ได้มากที่สุด โดยยึดประโยชน์ของประชาชน และอำนาจหน้าที่ของท่านตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเอาไว้ให้เต็มที่
โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์
และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
การเลือกประธานวุฒิสภาคงจะมีการล็อบบี้พอสมควร เพราะตำแหน่งประธานวุฒิสภามีความสำคัญมากในการกำหนดวาระการประชุมที่สำคัญๆ ความได้เปรียบต้องยอมรับว่าจะต้องเป็น ส.ว.ในปีกสีน้ำเงิน ซึ่งอาจกินรวบทั้งประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาทั้ง 2 ตำแหน่ง แต่โดยธรรมชาติของความยืดหยุ่นทางการเมือง ประธานวุฒิสภา ส.ว.สีน้ำเงินจะต้องยึดเอาไว้ แต่รองประธานวุฒิสภาทั้งที่จะต้องเป็น ส.ว.สีน้ำเงิน แต่หากต้องการรักษาภาพลักษณ์ทางการเมือง ควรเป็นกลุ่มอิสระ เพราะ ส.ว.หลายคนมีภาพลักษณ์ทางการเมืองที่ดี และมีความสำคัญ รวมทั้งมีโอกาสนั่งตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา หากดูในเรื่องจิตวิทยาทางการเมือง ควรปล่อยให้ ส.ว.กลุ่มอื่นด้วย
ส่วนความเคลื่อนไหวของ ส.ว. ขณะนี้เกี่ยวกับการเลือกประธานวุฒิสภา ส่วนใหญ่มาจาก ส.ว.เสียงข้างน้อย หรือกลุ่มอิสระ ที่เปิดตัวเพื่อชิงประธานวุฒิสภา โดยอาศัยกระแสสังคมเพื่อกดดัน อย่างน้อยที่สุด กลุ่มอิสระควรจะได้ตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา ทำให้ ส.ว.กลุ่มสีน้ำเงินนิ่งมาก เพราะว่าลงตัวหมดแล้ว
คุณสมบัติของประธานวุฒิสภา ควรเน้นเรื่องคุณวุฒิ วัยวุฒิ มีความรู้ มีประสบการณ์ในการจะเป็นประธานในที่ประชุม รู้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของการประชุม กำหนดวาระในการประชุม และต้องเป็นคนที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ จากไหวพริบและปฏิภาณ รวมทั้งต้องเป็นบุคคลที่มีบารมี ทำให้ ส.ว.ทั้ง 200 คนเกิดความเกรงอกเกรงใจ ถึงแม้ประธานวุฒิสภาจะเป็นประธานในที่ประชุมก็ตาม แต่ต้องดำเนินการประชุมให้เป็นไปด้วยความราบรื่นเรียบร้อย
หากให้มองเรื่องรองประธานวุฒิสภา อยากให้คำนึงในเรื่องกระแสความรู้สึกของประชาชน รวมทั้งจิตวิทยามวลชน ต้องยอมรับว่าการได้มาของ ส.ว.มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เยอะมาก หากยังมากินรวบทั้งตำแหน่งประธานและรองประธานวุฒิสภา จะทำให้ภาพลักษณ์การเมือง ไม่ค่อยดูดีนักสำหรับ ส.ว.ชุดนี้ ถ้าแกนนำ ส.ว.สีน้ำเงิน ให้ความสำคัญเกี่ยวกับจิตวิทยาทางการเมือง และลดข้อวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองลง ไม่กินรวบ แม้ว่าจะมาจากกลุ่มเดียวกัน จะทำให้คลายความรู้สึกของประชาชน ก็สมควรที่จะให้ตำแหน่งรองประธานวุฒิสภากับ ส.ว.กลุ่มอิสระบ้างเพื่อลดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์
ในเรื่องของการแสดงทรรศนะของประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา ต้องมีแน่นอน ในฐานะต้องมาทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา บทบาทของประธานและรองประธานวุฒิสภา มองว่าอยากให้ดูเรื่องบรรทัดฐานประธานวุฒิสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมา ถือว่าทำได้ดี มีความรู้ทางด้านกฎหมาย มีประสบการณ์ มีวุฒิภาวะ มีบารมีเป็นที่เกรงอกเกรงใจ ส.ว. ซึ่งจะเป็นแบบอย่างของประธานและรองประธานวุฒิสภา จะต้องศึกษาเอาไว้ ไม่ใช่เลือกเพียงแค่มีเสียงสนับสนุนเท่านั้น แต่จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาด้วย
ด้านกรรมาธิการวุฒิสภา ควรจัดสรรปันส่วนกันอย่างไรนั้น เรื่องนี้ต้องให้กลุ่ม ส.ว.ต่างๆ กระจายไปให้ทั่วในการนั่งตำแหน่งประธานกรรมาธิการ โดยคำนวณจากสัดส่วน ควรจะปล่อยให้มีความยืดหยุดบ้าง ต้องให้ ส.ว.อิสระ หรือ ส.ว.พันธุ์ใหม่ เป็นประธานกรรมาธิการตามสัดส่วนที่ควรจะมีหากมี 50 กรรมาธิการ ควรจะมีสัก 5 กรรมาธิการที่ให้ ส.ว.กลุ่มอื่นๆ มานั่งเป็นประธานบ้าง
อยากจะฝาก ส.ว.ชุดใหม่ในการปฏิบัติหน้าที่ อยากให้ ส.ว.ที่ผ่านการรับรองแล้ว ศึกษาบทบาทหน้าที่ของตัวเองให้ดี หลังจากนั้นขอให้ทำงานในฐานะ ส.ว.พิจารณากลั่นกรองกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระให้ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ รักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชนให้มากที่สุด หากทำได้ จะแก้ไขภาพลักษณ์ที่ตกต่ำของกระบวนการได้มาของ ส.ว. ถ้า ส.ว.คนใดไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้เลย อาจต้องเข้าไปเรียนฝึกอบรม จากสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของวุฒิสมาชิก โดยเฉพาะ ส.ว.ที่มาจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ ยอมรับว่าอาจไม่ได้ศึกษาทางด้านการเมือง หรือไม่มีประสบการณ์ ก็ต้องศึกษาเรียนรู้ และควรเข้าไปศึกษาต่อตามสถาบันต่างๆ ที่เปิดหลักสูตรอบรม เชื่อว่าจะทำให้ ส.ว.ชุดนี้ สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างดีเยี่ยมได้เช่นกัน