จาก’โรงไฟฟ้า’ถึง’ธรรมกาย’ โดย ปราปต์ บุนปาน

กรณี “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” และ “การประกาศใช้ ม.44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย” ดูจะเป็นงานหนักพอสมควรสำหรับรัฐบาล

และคงเป็นเรื่อง “ยืดเยื้อ” ไม่สามารถยุติลงอย่าง “ราบคาบ” โดยง่ายในเร็ววัน

กรณี “โรงไฟฟ้าถ่านหินฯ” รัฐบาลอาจสามารถหาวิธีชะลอปัญหาได้อย่าง “ซอฟท์ๆ”

ทั้งการปล่อยตัวผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้า ตลอดจนการยินยอมจะทบทวนการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ)

Advertisement

ทว่า ความเห็นและวิถีปฏิบัติที่ไม่ตรงกันก็คงปะทุขึ้นอีกเป็นระยะๆ

ตราบใดที่ผู้กุมนโยบายด้านพลังงานกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ยังยึดถือ “คุณค่า” กันคนละชุด

ตราบใดที่ภาครัฐสามารถออกทีวีทุกช่อง เพื่อหยิบยก “ด้านบวก” ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาชี้แจงประชาชนได้อย่างยาวๆ

Advertisement

ขณะที่ไม่ได้เปิดพื้นที่ในลักษณะเดียวกันให้แก่กลุ่มผู้คัดค้านอย่างเท่าเทียม

กรณี “วัดพระธรรมกาย” ดูคล้ายจะดุเดือด-เข้มข้นมากกว่า

เมื่อมีการประกาศใช้ ม.44 เข้าควบคุมพื้นที่วัดตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่ผลลัพธ์แรกๆ ที่ได้รับ กลับมีลักษณะ “คว้าน้ำเหลว” ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

กระทั่งต้องยกระดับมาตรการให้ดุดันขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งการออกคำสั่งให้พระภิกษุสามเณรและประชาชนที่มิได้มีที่อยู่ในวัดพระธรรมกายออกจากพื้นที่วัด

เรื่อยไปจนถึงการออกคำสั่งเรียกพระรูปสำคัญๆ ของวัดพระธรรมกายมารายงานตัว รวมทั้ง “พระธัมมชโย” และ “พระทัตตชีโว”

แน่นอนว่าทางวัดพระธรรมกายย่อมต้องระดมสรรพกำลังที่ก่อเกิดจาก “ศรัทธา” ของมวลชน มาแข็งขืนต้านทานคำสั่งเหล่านั้นอย่างเต็มที่

ต่อให้ปัญหากรณีนี้ถูกคลี่คลายได้อย่างรวดเร็วด้วย “อำนาจพิเศษ” แต่ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะมีฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตนเอง “ได้ประโยชน์” ขณะที่อีกฝ่ายรู้สึกว่าพวกตนถูกกลั่นแกล้งจน “สูญเสียประโยชน์”

ทั้งกรณี “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” และ “การควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย” ล้วนเกี่ยวข้องกับ “ความปรองดอง” ที่รัฐบาลกำลังเร่งสร้างให้เกิดขึ้นในสังคม

กรณี “โรงไฟฟ้าถ่านหินฯ” เราไม่ได้มองเห็นเพียงความคิดที่ไม่ลงรอยกันระหว่างภาครัฐ ซึ่งเห็นชอบให้เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้า กับภาคประชาชน ซึ่งคัดค้านโครงการดังกล่าว

แต่เรายังได้มองเห็น “รอยแบ่งแยก” ระหว่างประชาชน ที่เลือกจะร่วมสนับสนุนหรือไม่ร่วมสนับสนุนการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ผ่านกรอบประสบการณ์ที่แต่ละฝ่ายมีต่อวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อีกด้านหนึ่ง แม้เราอาจยังมองเห็นปรากฏการณ์ “ความขัดแย้งซ้อนความขัดแย้ง” ในกรณี “วัดพระธรรมกาย” ได้ไม่เด่นชัดนัก

อย่างไรก็ดี หลายคนคงพอจะตระหนักได้ว่าเมื่ออำนาจ “แข็ง” ทางการเมือง ต้องปะทะกับอำนาจของ “มวลชน” ที่ก่อตัวขึ้นจากลัทธิความเชื่อและศรัทธา

ความเปราะบางอ่อนไหวก็มักเกิดขึ้นตามมาเสมอ

นี่คงเป็นเพียง “สองกรณีตัวอย่าง” ที่รัฐบาลต้องนำไปพิจารณาประกอบกระบวนการสร้างความปรองดอง

ถ้าเชื่อว่า “ความปรองดอง” มิได้เกิดขึ้นด้วย “คำสั่ง” จากบนลงล่าง

แต่เกิดจากการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการปรับประสานต่อรองระหว่างการยึดถือคุณค่าหรือการมีศรัทธาความเชื่อที่แตกต่างกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image