การรับรองรัฐ (State Recognition) โดยโกวิท วงศ์สุรวัฒน์

สาธารณรัฐโซมาลีแลนด์
นากอร์โน-คาราบัค (สีแดง)
นากอร์โน-คาราบัค (สีแดง)
 อับฮาเซียและรัฐเซาท์ออตซีเชีย(สีแดง)
อับฮาเซียและรัฐเซาท์ออตซีเชีย(สีแดง)

 

มีท่านผู้ใหญ่ที่เคารพของผู้เขียนท่านหนึ่งได้ปรารภว่าทุกวันนี้มีคนเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท จนถึงปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์จบกันมากจริงๆ แต่มักมีปัญหาเรื่องพื้นฐานทางรัฐศาสตร์ อาทิ เรื่องรัฐ เรื่องประชาธิปไตย ดูออกจะไขว้เขวกันมากเหลือเกิน จึงอยากให้ผู้เขียนในฐานะที่สอนวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้นมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี ช่วยอธิบายให้คนเข้าใจในหลักการเบื้องต้นของวิชารัฐศาสตร์เพื่อลดความสับสน อย่างทุกวันนี้ก็จะช่วยได้มากซึ่งผู้เขียนก็รับปากว่าจะลองเขียนดู

ดังนั้นจึงอยากจะเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพว่าบทความนี้เป็นเรื่องเบื้องต้นของวิชารัฐศาสตร์จริงๆ คือเรื่องของรัฐนั่นเอง สำหรับท่านผู้รู้อยู่แล้วจะได้ไม่ต้องเสียเวลาอ่าน

เรื่องรัฐ (State) เป็นหัวใจของวิชารัฐศาสตร์ โดยเกิดมีขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมภาคีชาติอเมริกาครั้งที่ 7 ที่ กรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย ทวีปอเมริกาใต้ ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2476 โดยกำหนดสิทธิและหน้าที่ของรัฐ ด้วยการบอกถึงสถานะความเป็นรัฐชาติเอาไว้อย่างแจ้งชัดในอนุสัญญากรุงมอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (Montevideo Convention on Rights and Duties of the states) มาตราที่ 1 ว่ารัฐ คือนิติบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ

Advertisement

1) มีดินแดนที่แน่นอน คือมีขอบเขตของอาณาบริเวณที่แน่นอนจะมีเนื้อที่ใหญ่หรือเล็กก็ได้

2) มีประชากร คือต้องมีประชากรที่เป็นมนุษย์อาศัยอยู่ในดินแดนนั้น จำนวนกี่คนก็ได้ แต่ต้องมีสภาพเป็นสังคมในดินแดนนั้น

3) มีรัฐบาล คือต้องมีรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารและจัดการดินแดนที่แน่นอนในพื้นที่นั้นๆ ให้มีประสิทธิภาพ

Advertisement

4) มีอำนาจอธิปไตย คืออำนาจในการปกครองตนเองโดยไม่ขึ้นอยู่กับรัฐอื่นใดและอำนาจอธิปไตยนี้รวมถึงอำนาจในการสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ อย่างเสรีด้วย

ครับ! นี่คือที่มาของมาตรฐานของความเป็นรัฐในปัจจุบันและเป็นหลักการเบื้องต้นของวิชารัฐศาสตร์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมในมาตราที่ 3 ของ Montevideo Convention on Rights and Duties of the states อีกว่า “การดำรงอยู่ทางการเมือง รัฐไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยอมรับของรัฐอื่นๆ-The political existence of the state is independent of recognition by the other states.”

พูดง่ายๆ ก็คือหากรัฐใดที่มีคุณสมบัติพร้อมทั้ง 4 ประการ คือ มีดินแดนที่แน่นอน มีประชากร มีรัฐบาล และมีอำนาจอธิปไตยที่จะติดต่อกับรัฐอื่นได้โดยตนเองก็ถือว่าเป็นรัฐโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะมีรัฐอื่นๆ รับรองหรือไม่

ดังนั้น เรื่องการรับรองรัฐที่เป็นหัวข้อในการเขียนบทความนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นในความเป็นรัฐ แบบว่าไม่มีใครรับรองฉันก็เป็นรัฐได้ หากมีคุณสมบัติครบ 4 ประการดังที่กล่าวมาข้างต้นก็พอแล้ว หรือหากมีหลายรัฐที่ไม่มีรัฐอื่นใดรับรองเลยก็ช่วยรับรองกันเองในระหว่างรัฐที่ไม่มีใครรับรองก็ได้ ปัจจุบันนี้มีหลายรัฐมากนะครับ ซึ่งจะกล่าวถึงโดยสังเขปดังนี้คือ

1.สาธารณรัฐโซมาลีแลนด์ เป็นดินแดนตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโซมาเลียและติดกับประเทศจิบูตีและประเทศเอธิโอเปียในบริเวณที่เรียกว่า Horn of Africa (ไทยเราแปลว่าจะงอยแห่งทวีปแอฟริกา) ประกาศเอกราชจากโซมาเลียตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐใดๆ ในโลกเลย

2.นากอร์โน-คาราบัค เป็นรัฐเอกราชโดยพฤตินัย ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน โดยครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตการปกครองตนเองนากอร์โน-คาราบัค และเขตอื่นๆ ของอาเซอร์ไบจานอีกด้วย นากอร์โน-คาราบัคมีอาณาเขตทางใต้ติดต่อกับอิหร่าน และทางตะวันตกติดต่อกับอาร์มีเนีย เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของนากอร์โน-คาราบัคมีเชื้อสายอาร์มีเนีย ทำให้เกิดปัญหาเรื่องดินแดนระหว่างอาร์มีเนียและอาเซอร์ไบจานหลังจากที่ทั้งสองประเทศได้เป็นรัฐเอกราชหลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อ พ.ศ.2534 ก็ได้เกิดสงครามนากอร์โน-คาราบัคขึ้นระหว่าง พ.ศ.2534-2537 เพราะผู้คนในนากอร์โน-คาราบัคต้องการเป็นเอกราชจากอาเซอร์ไบจาน

หลังจากการหยุดยิงในปี พ.ศ.2537 พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวได้อยู่ภายใต้การควบคุมของกำลังทหารผสมระหว่างอาร์มีเนียและนากอร์โน-คาราบัค แต่นากอร์โน-คาราบัคไม่ได้รับการรับรองจากรัฐใดๆ เลย แม้แต่ประเทศอาร์มีเนียก็ยังไม่รับรองฐานะของความเป็นรัฐของนากอร์โน-คาราบัคจนปัจจุบัน

แต่เป็นที่น่าแปลกใจคือในปี พ.ศ.2552 สมาคมฟรีดอมเฮาส์ได้จัดลำดับให้นากอร์โน-คาราบัคเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ให้สิทธิทางการเมืองแก่พลเมืองของตนสูงกว่าประเทศอาเซอร์ไบจานและอาร์มีเนียเสียอีก

อย่างไรก็ตาม รัฐนากอร์โน-คาราบัคได้รับการรับรองจากรัฐอับฮาเซีย รัฐเซาท์ออตซีเชีย และรัฐทรานส์นิสเตรีย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรัฐที่ไม่ค่อยมีรัฐใดรับรองเหมือนกันเนื่องจากแยกตัวออกมาเองจากรัฐที่ได้รับการรับรองโดยองค์การสหประชาชาติ เลยต้องรับรองกันระหว่างรัฐกันเอง แต่อย่างไรก็ตามก็ถือว่าเป็นรัฐโดยสมบูรณ์เหมือนประเทศไต้หวันนั่นแหละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image