ดุลยภาพดุลพินิจ : อัตราส่วนครัวเรือนยากจนและการเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคจากผลสำรวจครัวเรือน

ดุลยภาพดุลพินิจ : อัตราส่วนครัวเรือนยากจนและการเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคจากผลสำรวจครัวเรือน

สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำการสำรวจครัวเรือนเป็นประจำเพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาล รัฐสภา หน่วยงานรัฐตลอดจนนักวิชาการนักวิจัยและนักศึกษาใช้ ผลสำรวจล่าสุดปี 2566 ซึ่งเก็บตัวอย่าง 49,664 ครัวเรือนกระจายทุกภูมิภาคทั้งเขตเมืองและชนบท สามารถนำมาวิจัยด้านสังคมศาสตร์ในมิติต่างๆ ในโอกาสนี้ขอนำผลวิเคราะห์ความเสี่ยงการเป็นครัวเรือนยากจนมานำเสนอ พร้อมเสนอข้อสังเกตและการอภิปรายผลตามสมควร

การสำรวจครัวเรือนของสำนักงานงานสถิติแห่งชาติดำเนินการตามหลักสถิติว่าด้วยการสุ่มตัวอย่างหลายชั้นและกระจายตามพื้นที่ (เรียกว่าชุมนุมอาคาร) ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจและสังคม เช่น รายได้ การทำงาน อาชีพ การศึกษา สภาพบ้านอยู่อาศัย การถือครองทรัพย์สิน (และหนี้สิน) ต้องขอแสดงความขอบคุณหน่วยงานที่ประมวลข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อนำไปวิเคราะห์วิจัยต่อ เฉพาะในที่นี้เน้น “ความเสี่ยงการเป็นคนจน” เปรียบเทียบความยากจนเชิงพื้นที่ นิยามความยากจนในที่นี้อิงผลงานวิจัยในระดับสากลที่กำหนดว่า การที่รายได้ต่ำกว่า 60% ของค่ามัธยฐาน (median income per capita) ถือว่ายากจน คือ 5,066 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 168 บาทต่อวัน (หมายเหตุ ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อคนต่อเดือนทั่วประเทศเท่ากับ 12,031 บาท ค่ามัธยฐานเท่ากับ 8,443 บาท)

อัตราส่วนคนจนมากน้อยเพียงใด? เปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคและเมือง/ชนบท แสดงในรูปภาพที่ 1 ซึ่งประจักษ์ได้ชัดเจนว่าแตกต่างระหว่างภูมิภาค ภาคอีสาน-เหนือ-ใต้ อัตราส่วนครัวเรือนยากจน 24% 21% 19% ตามลำดับสำหรับในเมือง และอัตราส่วนยากจนเป็น 37% 36% 33% สำหรับชนบท ภาคกลาง กรุงเทพฯและปริมณฑล อัตราความยากจนต่ำกว่าอย่างชัดเจน

Advertisement

Advertisement

ชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม (socio-economic class) เป็นตัวแปรด้านสังคมที่ใช้แพร่หลายทางวิชาการสะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คน การมีทุนหรือเป็นเจ้าของกิจการ (ผู้ประกอบการ) การเป็นผู้ใช้แรงงานแต่ทุนน้อยหรือไม่มี (แรงงานทั่วไป) การมีทุนมนุษย์ (นักวิชาชีพ) การมีที่ดินทำกิน (เกษตรกร) การเป็นผู้สูงวัยหรือไม่ได้ประกอบอาชีพมีรายได้

เมื่อสืบค้นต่อถึงชนชั้นอาชีพยิ่งเห็นความแตกต่างของความเสี่ยงการเป็นคนจนชัดเจนยิ่งขึ้น สองอาชีพที่สัดส่วนยากจนน้อยที่สุด คือนักวิชาชีพที่มีทุนมนุษย์ในการประกอบอาชีพอย่างเป็นทางการรายได้สม่ำเสมอ และผู้ประกอบการซึ่งมีทุนรอนเป็นเจ้าของกิจการมีลูกจ้าง ในอีกมิติหนึ่งตรงกันข้ามคือเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเสี่ยงต่อยากจนมากที่สุด

สถานการณ์ความเปราะบางและความยากจนของประชาชน เป็นเรื่องที่สังคมและรัฐบาลต้องสนใจคอยติดตามเพราะว่าเปลี่ยนแปลงได้ทุกปี หน่วยงานของรัฐเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงความยากจนด้วยใช้กลไกงบประมาณหรือการจัดสวัสดิการ หน่วยงานระดับจังหวัด/ท้องถิ่น/และชุมชนก็สามารถช่วยเพิ่มโอกาสการมีงานทำ สนับสนุนอาชีพ ช่วยให้ผลิตภาพการทำงานสูงขึ้นโดยกำหนดเป้าหมายเพื่อคนจน มาตรการส่งเสริมให้เด็กในครัวเรือนยากจนมีการศึกษาที่ดีขึ้น โอกาสหลุดพ้นจากความยากจน ในบ้านเรามีหลายองค์กรที่ทำงานส่งเสริมเด็กยากจนและครัวเรือนยากจน หากจะมีหน่วยงานใดประมวลผลลัพธ์ของมาตรการ
ช่วยเหลือคนจนมาประชาสัมพันธ์ให้ทราบทั่วไปจะได้รับความชื่นชมอย่างยิ่ง

หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทั่วโลกยอมรับคือการกำจัดความยากจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image