ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|
ภาษาไทยเริ่มแรกที่เมืองอโยธยา (ไม่สุโขทัย) โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค.ของทุกปี ผู้พิทักษ์ความเป็นไทยจะพากันส่งเสียงดังๆ ให้อนุรักษ์ภาษาไทยที่เต็มไปด้วยไวยากรณ์บาลี โดยไม่บอกว่าภาษาไทยมีต้นตอจากไหน? เมื่อไร? ทำไม?
ภาษาไทย เป็นภาษาพูดของคนกลุ่มหนึ่ง (ในบรรดาคนหลายกลุ่ม) ฟักตัวนานมากบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง เมื่อ 800-900 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ. 1700 โดยมีรากเหง้าจากภาษาตระกูลไท-กะได หรือไท-ไต ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ระหว่างพรมแดนจีน (มณฑลกวางสี) กับเวียดนาม (ภาคเหนือ) ราว 3,000 ปีมาแล้ว
ภาษาไทย กำเนิดในเมืองอโยธยา (เมืองเก่าของอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา เก่ากว่าเมืองสุโขทัย) ความเป็นมาโดยสรุป ดังนี้
(1.) ภาษาไทยมาจากการผสมกลมกลืนทางภาษาและวัฒนธรรม ดังนี้
ก. ภาษา ตระกูลไท-กะได กับภาษาตระกูลต่างๆ บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ข. วัฒนธรรม ศาสนาพุทธ เถรวาท แบบลังกา
(2.) ภาษาตระกูลไท-กะได จำแนกกว้างๆ ตามการออกเสียงต่างกัน 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มออกเสียงตรง ไท ว่า ไท อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน บริเวณกวางสี-เวียดนาม
กลุ่มออกเสียงต่าง ไท ว่า ไต อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน บริเวณยูนนาน-พม่า
(3.) ไท-กะได กลุ่มออกเสียงตรง (ไท ออกเสียง ไท) ผ่านลงมาทางลุ่มน้ำโขง-ชี-มูลแล้วมีการผสมกลมกลืน ดังนี้
ก. ผสมภาษาตระกูลอื่นๆ ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ มอญ, เขมร, มลายู, จีน, อินเดีย (บาลี-สันสกฤต), ลังกา (สิงหล), อิหร่าน (เปอร์เซีย) ฯลฯ
ข. ผสมวัฒนธรรมศาสนาพุทธ เถรวาท แบบลังกา เน้นภาษาบาลี ยกย่องรามเกียรติ์ (ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) เชื่อเรื่องขวัญ (ของศาสนาผี) ที่เข้าถึงอโยธยา เรือน พ.ศ. 1700 แล้วเลือกใช้ภาษาไท-กะไดในการเผยแผ่ ด้วยเหตุจากภาษาไท-กะได ได้รับความเชื่อถือและถูกใช้งานกว้างขวาง เป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน
(4.) ไท-กะได กลุ่มออกเสียงตรง (ไท ออกเสียง ไท) เรียกตนเองว่าไท ถูกทำเป็นภาษาบาลีตามความนิยมว่าเทยฺย ครั้นนานไปก็กลายคำเป็นไทย ใช้เรียกภาษาไทย และคนไทย สืบจนปัจจุบัน
(5.) คำไทยเก่าๆ มีเค้าอยู่ในกลุ่มภาษาโคราช และกลุ่มภาษานครศรีธรรมราช
ไท-ไต บนเส้นทางการค้าดินแดนภายใน
ผู้ไท หรือไทดำ มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญมากในความเคลื่อนไหวโยกย้ายไปมาของภาษาและวัฒนธรรมไท-กะได หรือไท-ไตจากเมืองแถน (ในเวียดนาม) ถึงเมืองไทย (รัฐอยุธยา) ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป (ทางบก) พบหลักฐานเป็นร่องรอยอยู่ในความทรงจำคำบอกเล่ารูปตำนานนิทานเรื่องขุนบรม เป็นที่รู้จักกว้างขวางทั่วไปในกลุ่มคนลุ่มน้ำโขงต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำแดง-ดำ
เส้นทาง (ในความทรงจำเรื่องขุนบรม) เหล่านั้นไม่ระบุตายตัวเรื่องยุคสมัย แท้จริงแล้วคือเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีปตั้งแต่สมัยดั้งเดิมเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้วสืบเนื่องถึงสมัยหลังๆ โดยเฉพาะสมัยการค้าสำเภากับจีนราวหลัง พ.ศ. 1500 พบหลักฐานการเคลื่อนไหวโยกย้ายของภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในลงลุ่มน้ำท่าจีน ทางฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เนื้อหาเรื่องขุนบรมและลูกชายทั้ง 7 คน ล้วนสมมุติขึ้นทั้งหมด แต่ตำแหน่งบ้านเมืองและชื่อบ้านนามเมืองอาจใกล้เคียงความจริงตามภูมิประเทศที่เป็นจริงบริเวณ “โซเมีย” ตั้งแต่มณฑลกวางสี-จ้วง ทางตอนใต้ของจีน ต่อเนื่องพื้นที่เดียวกันกับวัฒนธรรมดงเซิน-ซาหวิ่น ทางตอนเหนือของเวียดนาม แล้วเคลื่อนไหวโยกย้ายไปตามเส้นทางบกถึงลุ่มน้ำโขง ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าดินแดนภายใน เชื่อมโยงทางใต้ของจีนกับดินแดนคาบสมุทรระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือเมื่อเรือน พ.ศ. 1
หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี
หลักฐานสนับสนุนเท่าที่พบมีหลายอย่าง แต่อย่างสำคัญมีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งในไทยและในเวียดนาม (รวมภาคใต้ของจีน) ได้แก่ พูดตระกูลภาษาไท-ไต, นับถือแถน, ความเชื่อเรื่องขวัญ, ทำนาทดน้ำ, ประเพณีทำศพครั้งที่ 2, เทคโนโลยีโลหะสำริด เป็นต้น
เทคโนโลยีโลหะสำริดเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะจากการขุดค้นทางโบราณคดีโนนหนองหอ (บ้านนาอุดม ต. นาอุดม อ. นิคมคำสร้อย จ. มุกดาหาร) ได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ มีรูปแบบคล้ายคลึงใกล้เคียงอย่างเดียวกับที่พบในกลุ่มวัฒนธรรมดงเซิน-ซาหวิ่น จากเวียดนามเหนือ (เอกสาร โนนหนองหอ แหล่งผลิตกลองมโหระทึกในประเทศไทย จัดทำโดยสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ไม่บอกปีที่พิมพ์) ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณหลักแหล่งของผู้ไท หรือไทดำ ลุ่มน้ำแดง-ดำ
[นอกจากนั้นยังมีเส้นทางการค้าเลียบชายฝั่งจากทางใต้ของจีนกับทางเหนือของเวียดนามเข้าถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงพบวัฒนธรรมดงเซิน-ซาหวิ่น เช่น เครื่องรางรูปสัตว์มีสองหัวเรียก “ลิง-ลิง-โอ” ในเขตเมืองอู่ทอง ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง (ดูในหนังสือ ประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองอู่ทอง โดย ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก 2549 หน้า 77)]
ความทรงจำเรื่องขุนบรม
ขุนบรมเป็นทายาทแถนอยู่เมืองแถน ต่อมามีลูกชาย 7 คน เมื่อโตขึ้นได้แยกย้ายไปก่อบ้านสร้างเมืองเป็นเครือญาติพี่น้อง 7 แห่ง ได้แก่ 1.เมืองหลวงพระบาง ในลาว (โดยขุนลอ) 2. เมืองหอแต สิบสองพันนา ในจีน (โดยยี่ผาลาน) 3.เมืองแกวช่องบัว ในเวียดนาม (โดยสามจูสง) 4. เมืองยวนโยนก ลุ่มน้ำกก-อิง-โขง ในไทย (โดยไสผง) 5.เมืองอโยธยา ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในไทย (โดยงั่วอิน) 6. เมืองคำเกิด ลุ่มน้ำโขง ในลาว (โดยลกกลม) 7.เมืองพวน แขวงเชียงขวาง ในลาว (โดยเจ็ดเจือง)
ในดินแดนประเทศไทยมี 2 เมืองเชื้อสายขุนบรมซึ่งมีความสัมพันธ์ผันแปรทั้งเครือญาติใกล้ชิดและคู่สงครามต่อเนื่องยาวนาน ได้แก่
- เมืองยวนโยนก ต่อไปคือ รัฐล้านนา และ
- เมืองอโยธยา ต่อไปคือ รัฐอยุธยา
ขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์ทั้งเชิงเครือญาติและเชิงศัตรูกับเมืองเชื้อสายขุนบรมที่อยู่ในเขตลาว คือ เมืองหลวงพระบาง ความสัมพันธ์เหล่านี้มีให้เห็นเป็นสัญลักษณ์อยู่ในวรรณกรรมสำคัญเรื่องขุนช้างขุนแผน เกี่ยวข้องหมดทุกเมืองทั้งอยุธยา, ล้านนา, หลวงพระบาง
“ขุนบรม” เป็นคำเรียกอย่างไทย แต่ลาวเรียก ขุนบูลม, ขุนบูฮม ได้รับยกย่องเป็น “วีรบุรุษในตำนาน” ของคนลุ่มน้ำโขง กับลุ่มน้ำแดง-ดำ ขุนบรมเป็นทายาทแถน มีศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์อยู่เมืองแถน (ปัจจุบันมีชื่อภาษาเวียดนามว่า “เดียนเบียนฟู”) ลุ่มน้ำแดง-ดำ อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ติดพรมแดนลาวทางแขวงหลวงพระบาง-แขวงพงสาลี-แขวงซำเหนือ
เมืองแถน เป็นเมืองลาวเก่า มีบอกในตำนานหรือนิทานเรื่องขุนบรม ตอนหนึ่งมีความว่า “—–พระยาผีแถน จักให้ท้าวขุนบรมลงมาเกิดในเมืองลาวเก่า—–” เท่ากับเป็นหลักฐานว่าลาวล้านช้าง (หลวงพระบาง) และลาวล้านนา (ในโยนก) มีบรรพชนอยู่เมืองแถน เดิมเรียกนาน้อยอ้อยหนู [เมืองแถน บางแห่งว่าเมืองแถง ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเสียง ง กับเสียง น เลื่อนสลับกันได้]
จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ในหนังสือสังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา (พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พ.ศ. 2547 หน้า 317) มีความว่า “เมืองแถน คือเมืองที่มักเรียกตามภาษาเวียดนามว่าเดียนเบียนฟู อยู่ในเขตเวียดนามเหนือติดชายแดนลาวแขวงซำเหนือ (หัวพัน) และเป็นที่อยู่ของไทดำ หรือผู้ไทดำบัดนี้ (คำว่า แถน นี้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อเมือง หรือเป็นชื่อปู่แถนย่าแถน หรือพญาแถน พวกฝรั่งรุ่นเก่าเรียกเพี้ยนเป็น Thaeng-แถง หมดทุกแห่ง. ไทยเราเรียนเรื่องของไทยและลาวจากตำราฝรั่ง จึงพลอยเรียกเป็นเมืองแถงไปด้วย ทั้งๆ ที่ในภาษาลาวและไทดำที่แท้จริงนั้นเรียกว่า แถน.)”
แถน คือขุนแผน บริเวณภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรียกแถนด้วยสำเนียงกลายเป็นไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า “ขุนแผน” หมายถึงพระพรหม มีในโองการแช่งน้ำ ตอนพระพรหมตรวจภูมิสถานเมื่อมีแผ่นดินเกิดใหม่หลังไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลกว่า “ขุนแผน แรกเอาดิน ดูที่” จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ในหนังสือโองการแช่งน้ำว่ายุคแรกๆ พวกไทยยังไม่คุ้นชื่อเทวดาที่เรียกด้วยภาษาสันสกฤต จึงเอาคำไท-ไตดั้งเดิมที่คุ้นเคยมาใช้เรียกแทน
แถน (ผู้รู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน อธิบายว่ามีรากจากคำจีนว่า เทียน แปลว่า ฟ้า)หมายถึง อำนาจเหนือธรรมชาติซึ่งถือเป็นบรรพชนของผู้ไท และคนในตระกูลไท-ไตทั้งหลาย บางทีเรียกผีฟ้า, เจ้าฟ้า เพราะเชื่อว่าสิงอยู่บนฟ้า เป็นเจ้าใหญ่ของท้องฟ้า แล้วเชื่ออีกว่าเป็นผู้ควบคุมน้ำที่มีบนฟ้าซึ่งปล่อยให้ตกลงมาเป็นฝน จึงมีนิทานจุดบั้งไฟขอฝนบนฟ้าจากแถน