สุจิตต์ วงษ์เทศ : กระบี่ บนเส้นทางอารยธรรมโลก 2,000 ปีมาแล้ว

(ซ้าย) ลูกปัดเขียนสี รูปใบหน้าบุคคล แบบอินโด-โรมัน พบกระจายอยู่ทั่วไปในเครือข่ายเส้นทางการค้าโลกสมัยโบราณ อาจมีที่มาจากภูมิภาคตะวันออกกลางหรืออาณาจักรโรมัน
Krabi010
ลูกปัดหินอาเกต เขียนสีรูปนกหรือไก่? และลายดอก ถือเป็นลวดลายที่นิยม มีพบอยู่มากพอสมควร (หินชนิดนี้ไม่พบแหล่งวัตถุดิบอยู่ในอุษาคเนย์)

 

สินค้านานาชนิดที่ควนลูกปัด คลองท่อม เมืองท่ายุคสุวรรณภูมิ กำหนดอายุได้ในช่วง พ.ศ. 600 ร่วมยุคสมัยกับ “ฟูนัน” รัฐเริ่มแรกของอุษาคนย์ เรื่อยมาถึงยุคต้นประวัติศาสตร์แหลมมลายูที่เรียกว่า “ศรีวิชัย” ในช่วงราว พ.ศ. 1200

เครื่องประดับเครื่องรางของขลังเก่าแก่เหล่านี้ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม จ. กระบี่ ตามประวัติเล่าว่าได้มาจากบริเวณโดยรอบของควนลูกปัด หรือแหล่งโบราณคดีคลองท่อม ในเขตจังหวัดเดียวกัน

ภาพถ่าย : ฤทธี รัตนประทีป คำบรรยาย : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

Advertisement

[ภาพและใต้ภาพ จากหนังสือกฐินพระราชทานวัดแก้วโกรวาราม อ. เมือง จ. กระบี่ เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2550 หน้า 48-51]

 

บรรพชนกระบี่หลายพันปีมาแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของบรรพชนคนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ ซึ่งล้วนเป็นบรรพชนคนไทยทุกวันนี้

Advertisement

กระบี่ อยู่บริเวณอ่าวพังงา-กระบี่ ฝั่งทะเลอันดามัน (มหาสมุทรอินเดีย) บนเส้นทางคมนาคมข้ามคาบสมุทรของอารยธรรมโลก ราว 2,000 ปีมาแล้ว

จึงเป็นสถานีการค้าเก่าแก่สุด เพื่อขนถ่ายสินค้าข้ามไปฝั่งอ่าวไทย ทะเลจีน (มหาสมุทรแปซิฟิก)

Krabi02
(ซ้ายบน-ล่าง) จารึก “เชตวฺยํ” อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต แปลความว่า “พึงชนะ” สลักบนแผ่นหินคาร์นีเลียนขนาดเล็ก (ขวาบน) หินจำหลักรูปไก่สองตัว หันหน้าเข้าหากัน นักโบราณคดีบางท่านให้ความเห็นว่ารูปสัญลักษณ์เช่นนี้พบมาก่อนในตราประทับดินเผาของเปอร์เซียที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-11 (ขวาล่าง) จารึก “ภกฺตวฺยํ” อักษรพราหมี ภาษาสันสกฤต แปลความหมายได้ว่า “พึงภักดี”

เส้นทางข้ามคาบสมุทรจากกระบี่ มีในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติ ศาสตร์ฯ จังหวัดกระบี่ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542 หน้า 26) จะสรุปมาดังนี้

  1. ปากลาว-อ่าวบ้านดอน เริ่มจากคลองลาวในเขต อ. อ่าวลึก ผ่านเขาต่อในเขต อ. ปลายพระยา ไปลงคลองชะอุ่นในเขต อ. พนม ออกแม่น้ำพุมดวงต่อกับแม่น้ำหลวง (ตาปี) ไปออกอ่าวบ้านดอน จ. สุราษฎร์ธานี

เป็นเส้นทางเก่าสายหนึ่งที่ใช้มานาน พบหลักฐานต่างๆ มากมายบนเส้นทางสายนี้แม้แต่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์การเดินทัพข้ามฝั่งหรือการตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายตะวันตกก็ยังใช้เส้นทางนี้อยู่

  1. คลองท่อม-คลองสินปุน-อ่าวบ้านดอน เริ่มจากปากคลองท่อมเข้ามา เดินบกไปลงคลองสินปุนออกแม่น้ำหลวง (ตาปี) ไปออกอ่าวบ้านดอน และสามารถแยกการเดินทางจากบริเวณ อ. ทุ่งใหญ่ปัจจุบันไปเมืองนครศรีธรรมราชได้เช่นเดียวกัน

เส้นทางสายนี้ชาวบ้านยังใช้ไปมาค้าขายทางอ่าวบ้านดอนต่อมา เพิ่งมาหมดความหมายเมื่อมีถนนเพชรเกษมเกิดขึ้นและธรรมชาติถูกทำลายจนลำคลองตื้นเขินเมื่อไม่นานมานี้เอง

(ซ้ายบน) ลูกปัดรูปสิงห์ สลักจากหินคาร์นีเลียน สันนิษฐานว่ามีลักษณะคล้ายเป็นจี้ห้อยคอ มีตัวอย่างคล้ายคลึงกันที่บ้านดอนตาเพชร จ. กาญจนบุรี และพบอีกจำนวนหนึ่งในเขตชุมชนเก่าของประเทศพม่า (ซ้ายล่าง) ลูกปัดหินสีเขียวรูปเต่า เชื่อกันว่าผลิตขึ้นในอินเดีย พบอยู่ทั่วไปรอบฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย พบมากในเขตประเทศพม่า (ขวา) ลูกปัดทรงไข่ประดับลายรูปบุคคล ลักษณะคล้ายเทพเจ้าของพวกโรมัน แต่มีลวดลายที่คร่าวมากกว่า
(ซ้ายบน) ลูกปัดรูปสิงห์ สลักจากหินคาร์นีเลียน สันนิษฐานว่ามีลักษณะคล้ายเป็นจี้ห้อยคอ มีตัวอย่างคล้ายคลึงกันที่บ้านดอนตาเพชร จ. กาญจนบุรี และพบอีกจำนวนหนึ่งในเขตชุมชนเก่าของประเทศพม่า (ซ้ายล่าง) ลูกปัดหินสีเขียวรูปเต่า เชื่อกันว่าผลิตขึ้นในอินเดีย พบอยู่ทั่วไปรอบฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย พบมากในเขตประเทศพม่า (ขวา) ลูกปัดทรงไข่ประดับลายรูปบุคคล ลักษณะคล้ายเทพเจ้าของพวกโรมัน แต่มีลวดลายที่คร่าวมากกว่า

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางย่อยๆ อีกหลายเส้นทาง เช่น ปากคลองกระบี่ใหญ่ คลองกระบี่น้อย คลองปกาไส คลองเพหลา คลองพน ซึ่งสามารถที่จะเชื่อมต่อกับเส้นทางสายหลักที่กล่าวมาแล้วได้เช่นเดียวกัน

สมัยที่ตั้งเมืองกระบี่ใหม่ๆ ชาวบ้านยังเดินเท้าจากบ้านปกาไส ไปตามแนวคลองเพหลา ออกบ้านพรุดินนา ลำทับออกไปเมืองนครศรีธรรมราช จากการเกิดเส้นทางเดินข้ามฝั่งนี่เองที่ทำให้เกิดชุมชนและเกิดเป็นเมืองในสมัยต่อมา

 

คลองท่อม, ควนลูกปัด

คลองท่อม หรือบริเวณที่เราเรียกว่า ควนลูกปัด ตั้งอยู่บนเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากคลองท่อม-อ่าวบ้านดอน

สภาพปัจจุบันเป็นเนินดินอยู่ในบริเวณที่สวนและบ้านเรือนของชาวบ้าน อยู่ริมคลองที่เรียกว่า คลองท่อม ซึ่งต้นน้ำเกิดจากทิวเขาที่เชื่อมต่อระหว่าง จ. กระบี่และ จ. ตรัง ไหลไปออกทะเลอันดามันที่ อ. คลองท่อม ปัจจุบันบริเวณนี้ห่างทะเลเข้ามาประมาณ 20 กิโลเมตร

คลองแต่เดิมคงลึกและกินลึกเข้าไปในแผ่นดินอีกมาก เรือขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงได้ สังเกตจากการขุดพบซากเรือหลายลำที่จมอยู่ หลักฐานต่างๆ ที่พบล้วนมีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมอินเดีย กรีก อาหรับและจีน

หลักฐานต่างๆ ที่ขุดพบบริเวณคลองท่อมมีจำนวนมาก ทางวัดคลองท่อม โดยเฉพาะพระครูอาทรสังวรกิจ ได้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์

(ซ้าย-ขวา) ลูกปัดหินคาร์นีเลียน สลักลวดลายรูปบุคคลอย่างโรมัน ปัจจุบันถูกนำไปเลี่ยมใส่กรอบเหมือนจี้ห้อยคอ แต่หน้าที่ใช้งานเดิมอาจจะเป็นอย่างอื่น เช่น หัวแหวน ก็เป็นได้ (หินชนิดนี้ไม่พบแหล่งวัตถุดิบอยู่ในอุษาคเนย์)
(ซ้าย-ขวา) ลูกปัดหินคาร์นีเลียน สลักลวดลายรูปบุคคลอย่างโรมัน ปัจจุบันถูกนำไปเลี่ยมใส่กรอบเหมือนจี้ห้อยคอ แต่หน้าที่ใช้งานเดิมอาจจะเป็นอย่างอื่น เช่น หัวแหวน ก็เป็นได้ (หินชนิดนี้ไม่พบแหล่งวัตถุดิบอยู่ในอุษาคเนย์)
(ซ้ายบน) จารึก “วิถิตุกฺฤสย” อักษรพราหมี ภาษสันสกฤต นักอ่านจารึกบางท่านสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นชื่อของชาวเอเชียกลาง (ขวาบน) จารึก “อจลเสนสยฺ” แปลความว่า “ทหารที่ไม่สะทกสะท้าน” (ซ้ายล่าง) ชิ้นส่วนประดับหน้ามโหระทึกรูปกบ เครื่องดนตรีสำริดสำหรับประกอบพิธีกรรมชนิดนี้มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ทางแคว้นยูนนาน กวางสี ทางตอนใต้ของจีน เมืองดองซอนและบริเวณโดยรอบ ทางตอนเหนือของเวียดนาม (ขวาล่าง) ตราประทับรูปหอยสังข์ พบทั่วไปในชุมชนเก่าที่ติดต่อค้าขายกับชมพูทวีป พบทั่วไปในอุษาคเนย์
(ซ้ายบน) จารึก “วิถิตุกฺฤสย” อักษรพราหมี ภาษสันสกฤต นักอ่านจารึกบางท่านสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นชื่อของชาวเอเชียกลาง (ขวาบน) จารึก “อจลเสนสยฺ” แปลความว่า “ทหารที่ไม่สะทกสะท้าน” (ซ้ายล่าง) ชิ้นส่วนประดับหน้ามโหระทึกรูปกบ เครื่องดนตรีสำริดสำหรับประกอบพิธีกรรมชนิดนี้มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ทางแคว้นยูนนาน กวางสี ทางตอนใต้ของจีน เมืองดองซอนและบริเวณโดยรอบ ทางตอนเหนือของเวียดนาม (ขวาล่าง) ตราประทับรูปหอยสังข์ พบทั่วไปในชุมชนเก่าที่ติดต่อค้าขายกับชมพูทวีป พบทั่วไปในอุษาคเนย์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image