คัมภีร์ความปรองดองฉบับพระพุทธศาสนา : โดย รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

ความสามัคคีและหรือความปรองดองนั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง คือ ความสมานฉันท์ ความสามัคคี ความปรองดอง หรือความสมานฉันท์ จะเกิดขึ้นไม่ได้หากความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือคลี่คลายให้หมดไป ทั้งนี้เนื่องเพราะความขัดแย้งเป็นต้นเหตุหรือรากเหง้าแห่งปัญหาทางการเมือง ในสังคมไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา ซึ่ง สาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองจนเป็นเหตุให้บ้านเมืองตกต่ำและล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน คือ เรื่องแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองของพรรคการเมือง และนักการเมือง ทั้งในเรื่องที่เป็นประชาธิปไตยและนโยบายสาธารณะไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะภาพลักษณ์ทางการเมืองของผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายที่กุมกลไกอำนาจรัฐสวนทางกับแนวคิดและทฤษฎีของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมิได้กุมกลไกอำนาจรัฐ แต่มีอิทธิพลหรืออำนาจบารมีทางสังคมการเมือง

แนวคิดและทฤษฎีที่ไม่ลงรอยกันทางการเมืองได้พัฒนาและยกระดับสู่การแบ่งแยกและเป็นฝักฝ่ายกระทั่งเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ฝ่ายหนึ่งใช้มือตบส่วนอีกฝ่ายหนึ่งใช้ตีนตบเป็นสัญลักษณ์ กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 กลุ่มพลังทางการเมืองจึงได้สงบสติอารมณ์เป็นการชั่วคราวและภายหลังเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม 2550 ผลปรากฏว่า พรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสมัครประกาศชัดว่าตัวเองเป็นร่างทรง (นอมินี) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองก็ปะทุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นยึดทำเนียบรัฐบาล และปิดสนามบิน เพื่อบีบให้นายสมัครลาออกจากนายกรัฐมนตรี กระทั่งนายสมัครพ้นจากตำแหน่งเพราะรายการ ชิมไป-บ่นไป นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน และเมื่อนายสมชายแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 กลุ่มพลังที่เรียกตนเองว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ไปปิดล้อมรัฐสภาจนเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้น เป็นต้น

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ไม่มีโอกาสเข้าทำเนียบรัฐบาล จนกระทั่งถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2551 พรรคพลังประชาชนได้สิ้นสุดลง เพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญประกาศยุบพรรค และนายสมชายเป็นผู้บริหารพรรค จึงถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี และพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์ทางการเมืองจึงยุติลงเพราะคู่ต่อสู้ได้พ่ายแพ้ไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง แต่การณ์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ซึ่งนับเป็นความโชคร้ายของประเทศไทยเพราะเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป เดือนกรกฎาคม 2554 ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินอย่างองอาจและกล้าหาญ กระทั่งสะดุดขาตัวเองด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ผ่านวาระสามในยามราตรีกาล จึงเกิดการชุมนุมต่อต้านมากมายมหาศาลของคนเกือบทุกสาขาอาชีพ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

สุดท้ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

Advertisement

สาเหตุของความขัดแย้ง :
การลำดับเหตุการณ์ที่เป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งนั้น เพื่อต้องการทบทวนความทรงจำทางการเมืองเท่านั้น ผู้เขียนไม่ประสงค์จะรื้อฟื้นคืนบาดแผลทางสังคมแต่ประการใดทั้งสิ้น เพราะหากไม่ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็อาจจะเผลอลืมสาเหตุของความขัดแย้งว่าเกิดจากปัจจัยใด เพราะคำว่า ความขัดแย้ง หมายถึงการไม่ลงรอยกัน ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความไม่ประนีประนอมกัน หรือความไม่สามัคคีปรองดองกัน ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง จึงมีความจำเป็นต้องนำเสนอสาเหตุของความขัดแย้ง ซึ่งประกอบด้วย

1.แนวคิดและทฤษฎีไม่ตรงกัน เช่น มองประชาธิปไตยคนละมุม ฝ่ายหนึ่งชื่นชอบแบบลูบคลำและสัมผัสได้ ขณะที่อีกฝ่ายชื่นชอบแบบอุดมการณ์และจารีตนิยม

2.ความขัดกันแห่งผลประโยชน์ เช่น ฝ่ายที่ชนะมักหลงอำนาจและผูกขาดผลประโยชน์ ส่วนฝ่ายที่พ่ายแพ้ขาดทั้งอำนาจและผลประโยชน์ จึงตั้งข้อสงสัยและไม่ไว้วางใจ จนกลายเป็นการผูกกรรมและจองเวรระหว่างกัน

Advertisement

3.ค่านิยมและวัฒนธรรมแตกต่างกัน เช่น ค่านิยมในสังคมเมืองแตกต่างจากสังคมในชนบท วิถีชีวิตของชาวชนบทแตกต่างจากวิถีชีวิตของชาวเมือง เลือกตั้งกี่ครั้งพรรคที่เข้าใจค่านิยมและวัฒนธรรมชาวชนบทก็ชนะ

4.กลไกอำนาจรัฐ เช่น ระบบราชการ กระบวนการยุติธรรม และคุณภาพชีวิต เป็นปัญหาและอุปสรรคการสร้างความสามัคคีปรองดอง

5.คุณธรรมจริยธรรม เช่น จิตอาสา จิตสำนึกสาธารณะ ตกต่ำ ศีลธรรมอ่อนแอ ทำให้ชนชั้นกลางขาดแรงกระตุ้นในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะมองภาพลักษณ์นักการเมืองในเชิงลบ คนที่ได้รับเลือกตั้งจึงมักถูกกล่าวหาว่าซื้อสิทธิและขายเสียง

การแก้ปัญหาความขัดแย้งเพื่อสถาปนาความปรองดองมีหลายทรรศนะ ขึ้นอยู่กับองค์ความรู้และสำนักที่สังกัด แต่นักการเมืองที่เป็นคู่กรณีความขัดแย้งนั้นไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำเสนอทรรศนะทั้งทางตรงและทางอ้อม เหตุผลเพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แม้แต่รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจก็เช่นกัน

เพราะทันทีที่ล้มเลิกการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็เท่ากับเข้าสู่กระบวนการขัดแย้งแล้วโดยปริยาย แต่เมื่อหาใครเป็นเจ้าภาพไม่ได้ การแสดงตัวเป็นโซ่ข้อกลางสร้างความสามัคคีปรองดองก็มีความจำเป็น

คัมภีร์ความปรองดอง :
ความสามัคคีปรองดองเป็นเรื่องที่ยึดโยงกับหลักพุทธธรรมในทางพระพุทธศาสนา ผู้ที่อาสาเข้ามาเป็นคณะกรรมการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง นอกจากจะมีความเป็นกลางแล้ว ต้องไม่มีอคติธรรม 4 ประการ คือ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ เพราะอคติธรรมทั้ง 4 ข้อ คือรากเหง้าของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและตั้งอยู่ในสังคมไทย ด้วยเหตุนี้การชำระสะสางความขัดแย้งเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองใช้หลักการ สาราณียธรรม (States of Reconciliation) 6 ประการเข้าช่วย คือ

1.เมตตากายกรรม มีน้ำใจไมตรีจิตต่อกัน ไม่มุ่งเอาชนะระหว่างกัน มีน้ำใจนักกีฬา รู้จักแพ้และชนะ เรียกว่ามีความเป็นสุภาพบุรุษทั้งต่อหน้าและลับหลัง

2.เมตตาวจีกรรม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีวาจาสุภาษิต หลีกเลี่ยงโทสวาท และผรุสวาท สุภาพอ่อนโยน

3.เมตตามโนกรรม มีจิตสำนึกในเชิงบวกต่อชาติบ้านเมือง และประโยชน์สุขของประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด

4.สาธารณโภคี จัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรมทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนให้เจริญมั่นคงและยั่งยืน

5.สีลสามัญญตา มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ มีจริยธรรมทางการเมือง ปฏิบัติภารกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเท่าเทียมกัน และไม่สองมาตรฐาน

6.ทิฏฐิสามัญญตา ปรับจูนแนวคิดและทฤษฎีให้สอดคล้องกัน เพื่อเป้าหมายเดียว เรื่องใดที่เป็นปัญหาของบ้านเมืองหรือความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติต้องร่วมมือกันผลักดันและร่วมกันกระทำให้บรรลุเป้าหมาย

หลักธรรมทั้ง 6 ประการเป็น สาราณียะ คือ ผูกมัดไมตรีจิตต่อกัน เป็น ปิยกรณ์ คือทำให้เกิดเสน่ห์ในการอยู่ร่วมกัน เป็น ครุกรณ์ คือทำให้เกิดบรรยากาศแห่งการเคารพนับถือกัน รวมทั้งเป็นไปเพื่อความปรองดองกัน เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทบาดหมางกัน เป็นไปเพื่อความสมัครสมานสามัคคีกัน และเป็นไปเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การสร้างความสามัคคีปรองดองจะสำเร็จสมความมุ่งมาดปรารถนาของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นได้ ผู้มีอำนาจรัฐหรือรัฐบาลต้องจัดเวทีทางสื่อโทรทัศน์ให้หลากหลายเพื่อให้ประชาชนทุกอาชีพได้ช่วยกันแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ ต้องไม่ใช่เปิดเวทีให้นักการเมืองซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งแสดงความคิดเห็นเสียเอง มิฉะนั้น แทนที่จะเป็นข้อยุติการแก้ปัญหาความขัดแย้งเพื่อสถาปนาความปรองดอง จะกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งและเพิ่มความแตกแยกมากยิ่งขึ้น

รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง
คณะสังคมศาสตร์ มจร.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image