ผู้เขียน | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ |
---|
ดุลยภาพดุลพินิจ : จากจิตสาธารณะสู่ธุรกิจเพื่อสังคม
จิตสาธารณะหรือการให้เพื่อส่วนรวม อาจกล่าวได้ว่าเกิดมาควบคู่กับวิวัฒนาการของมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน ทุกๆ อารยธรรมล้วนผ่านยุคแห่งความยากแค้นหิวโหย สงคราม โรคระบาด ศาสนาทุกศาสนาจึงล้วนให้ความสำคัญต่อการให้ทาน การบริจาค และการให้เพื่อส่วนรวม เพื่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคของการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ ภายใต้ระบบทุนนิยมและกลไกตลาดซึ่งมาพร้อมกับความหวังที่ว่าความกินดีอยู่ดีจะค่อยๆ แพร่ขยายไปออกอย่างถ้วนหน้า แต่ผลที่เกิดขึ้นคือถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่กลับเกิดปัญหาที่ไม่พึงประสงค์ตามมาเช่นเดียวกัน คือความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งมีที่มาจากความมั่งคั่งที่กระจุกตัวอยู่ในมือคนจำนวนไม่มาก แต่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ตามมากลับมีผลกระทบต่อคนทั่วไป
จิตสาธารณะแบบสังคมสงเคราะห์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจึงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่การบริจาคเพื่อทำให้สังคมส่วนรวมนั้นดีขึ้น เช่น การส่งเสริมกิจกรรมที่ขจัดความเหลื่อมล้ำ บรรเทาหรือชะลอปัญหาโลกร้อน
ดังนั้น จากการทำบุญทำทานจึงแปรเปลี่ยนไปเป็นการบริจาคที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคม หรืออาจมองได้ว่าเป็นการลงทุนเพื่อสังคม จึงได้เกิดการพัฒนาแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นเพียงกำไรสูงสุด แต่ให้ความสำคัญแก่การสร้างประโยชน์แก่สังคมเป็นอันดับแรก โดยมีกำไรเป็นเพียงเครื่องหล่อเลี้ยงให้กิจกรรมเพื่อสังคมสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน
แม้แต่องค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์แบบดั้งเดิม ก็ต้องเริ่มหารายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินงาน จนกลายเป็นองค์กรที่มีธุรกิจเพื่อสังคม เช่น องค์การอ็อกซ์แฟม (Oxfam International) ที่มีเครือข่ายอยู่กว่า 90 ประเทศทั่วโลกก็ยังต้องหารายได้จากการจัดกิจกรรมขายเสื้อผ้ามือสอง เพื่อหาเงินมาทำการกุศลช่วยเหลือคนที่ขาดแคลนอาหารในประเทศกรีซ หรือองค์กรสาธารณกุศลของศาสนาอย่าง The Salvation Army ที่มีการส่งสมาชิกไประดมเงินบริจาคจากที่ต่างๆ เพื่อนำมาก่อตั้งร้านค้าการกุศล จัดอบรมทักษะ สร้างบ้านพักให้ผู้เปราะบาง
ธุรกิจเพื่อสังคมก็เหมือนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วไปที่จะต้องดิ้นรนในระยะเริ่มต้น จึงอาจจำเป็นที่จะต้องมีการบ่มเพาะ (incubation) และระบบค้ำจุน (ecosystem) เพื่อให้สามารถมีอัตราการรอดที่สูงขึ้น ซึ่งจากการทบทวนวรรณกรรมพบว่าธุรกิจเพื่อสังคมต้องการแหล่งทุนที่แตกต่างไปจากธุรกิจธรรมดา
จึงเป็นที่มาของอีโคซิสเต็มของธุรกิจเพื่อสังคม (SB Ecosystem) ในต่างประเทศ โดยทุนสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมอาจจะมาจากผู้ให้ในหลายรูปแบบ ได้แก่ ทุนสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมมาในรูปแบบเงินให้เปล่า (grant) การลงทุนในหุ้น (equity) ซอฟต์โลน หรือเงินให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือรางวัล (prize) ฯลฯ ดังที่แสดงในรูปภาพที่ 1 ซึ่งองค์กรสาธารณประโยชน์ในไทยก็เคยได้รับการสนับสนุนเหล่านี้ เช่น คุณมีชัย วีระไวทยะ และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนที่เคยได้รับรางวัล 1 ล้านเหรียญสหรัฐ จากมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์
กองทุนสาธารณะที่เขย่าโลกจิตสาธารณะเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 คือ Giving Pledge ซึ่งเป็นคำปฏิญาณของอภิมหาเศรษฐีโลก ประกอบด้วย Bill Gates, Warren Buffett, Mark Zuckerberg, Michael Bloomberg และ Paul G. Allen เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของตนให้เป็นสาธารณประโยชน์ในช่วงชีวิตที่มีอยู่ หรือให้เป็นมรดกตกทอด เช่น Warren Buffett ได้ประกาศที่จะยกความมั่งคั่งของตน
ร้อยละ 99 เป็นสาธารณกุศล จนถึงปี 2567 ครอบครัวของบิลล์ เกตส์ ได้บริจาคทรัพย์สินไป 133 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในจำนวนนี้ 50 พันล้านเหรียญสหรัฐ ได้บริจาคผ่านมูลนิธิเกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation: BMGF) ซึ่ง BMGF เป็นแหล่งทุนขนาดใหญ่ที่สนับสนุนกลุ่มกองทุนการกุศลและนักลงทุนอีกทีหนึ่ง โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาสุขภาพ การเกษตร การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ และการพัฒนาผู้ด้อยโอกาส เช่น กองทุนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของโซรอส (The Soros Economic Development Fund: SEDF) ได้ก่อตั้ง Global Access Health (GAH) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสังคมที่มุ่งขยายการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและราคาไม่แพงผ่านการวิจัยและพัฒนาสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ทำให้สามารถแก้ไขช่องว่างในการให้บริการในการวินิจฉัยโรคในชุมชนของภูมิภาคที่มีรายได้น้อยได้
ครั้งหน้า เราลองมาดูองค์กรและบุคคลต้นแบบของไทยที่สร้างสาธารณประโยชน์กันนะคะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดุลยภาพดุลพินิจ : ธุรกิจเพื่อสังคมและผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม
- ดุลยภาพดุลพินิจ : ความเหลื่อมล้ำการคลังท้องถิ่นจากนโยบายรัฐบาลที่ไม่เป็นธรรม
- ดุลยภาพดุลพินิจ : ยูนูส นักธุรกิจเพื่อสังคมสู่ผู้นำคนใหม่ของบังกลาเทศ
- ดุลยภาพดุลพินิจ : ธุรกรรมที่ดินและมาตรการแทรกแซงของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อรายได้การคลังท้องถิ่นอย่างไร